เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี ?

เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี

เบื่อใช่ไหม เมื่อมีอาการไอ ค่อก ๆ แค่ก ๆ ตลอดทั้งวัน แล้วยิ่งมาไอช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด ใคร ๆ ก็กลัว ไม่มีคนอยากอยู่ใกล้ เหงาไปอีก! หลายคนที่มีอาการไอช่วงนี้ก็อยากจะหายไอไวไวด้วยการซื้อยามากินเองบ้าง อ่านจากอินเทอร์เน็ตแล้วซื้อตามบ้าง บางคนก็หาย บางคนกลับเป็นหนักกว่าเดิม เพราะ กินยาผิดนั่นเอง… แล้วเราจะรู้ได้ไงว่า เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี ? ตามมาดูคำตอบกันเลย

อาการไอ คืออะไร?

อาการไอ (Cough) เกิดจากการที่มีสิ่งกระตุ้น หรือสารระคายเคืองบริเวณ ทางเดินหายใจส่วนบน และล่าง ทำให้มีการส่งสัญญาณไปที่บริเวณสมองส่วนควบคุมการไอ และส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อกระบังลม เกิดการตีบแคบของหลอดลม จึงเกิดอาการไอขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกาย เพื่อกำจัดเชื้อโรค เสมหะ และสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจ

โดยอาการไอ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอก สารกระตุ้นที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ อากาศแห้ง หรือการหดเกร็งของหลอดลม

อาการไอ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาของการไอ ได้แก่

– อาการไอฉับพลัน จะมีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ การสัมผัสสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม

– อาการไอเรื้อรัง จะมีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น

เมื่อที่มีอาการไอ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น สารเคมี ฝุ่น ควันบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ สารก่อความระคายเคือง อากาศเย็น ที่ทำให้หลอดลมเกิดการหดตัว และทำให้มีอาการไอมากขึ้น ควรดื่มน้ำอุ่น และอาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการไอ

เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี ?

เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี

ยาที่ใช้ในการรักษาอาการไอ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

1. ยาลด หรือ ระงับอาการไอ (Cough suppressants or antitussives) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางของสมองที่ควบคุมอาการไอ ทำให้กลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้นลดลง จึงช่วยบรรเทาอาการไอ

ยาชนิดนี้ควรใช้ในผู้ที่ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ แต่ไม่ควรใช้ในเด็ก เนื่องจากไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย และประสิทธิผลที่แน่ชัด รวมถึงไม่ควรใช้ในผู้ที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ เนื่องจากฤทธิ์ในการระงับอาการไอ จะทำให้เสมหะเหนียวข้น สามารถเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจจนเกิดอันตรายได้

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น

– เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethophan) สามารถลดอาการไอที่รุนแรงได้ แต่มีผลข้างเคียงหากได้รับยาขนาดสูง คือ อาการง่วงซึม ประสาทหลอน และกดการหายใจ

– โคเดอีน (Codeine) และทิงเจอร์ฝิ่น ที่เป็นส่วนผสมในยาแก้ไอน้ำดำ ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากทำให้เกิดการเสพติดได้ รวมถึงมีผลข้างเคียง คือ ง่วงซึม ปวดท้อง ท้องผูก และกดการหายใจ

2. ยาขับเสมหะ (Expectorants) เป็นยาที่กระตุ้นการขับเสมหะโดยกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ และเพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เสมหะมีความเหลวมากขึ้น จึงทำให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ยาชนิดนี้ นิยมใช้ในผู้ที่ไอแบบมีเสมหะข้นเหนียว

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin), เทอร์พินไฮเดรต (Terpin hydrate), แอมโนเนียม คลอไรด์ (Ammonium chloride)

3. ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยตรงต่อโครงสร้างของเสมหะ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เข้าไปย่อยโปรตีน หรือเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำลายการรวมตัวกันของโปรตีนที่จับตัวเป็นก้อนเสมหะเหนียวข้น รวมถึงลดแรงตึงผิวของเสมหะ จึงช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้ร่างกายกำจัด หรือขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ใช้สำหรับบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะ และในบางครั้งมักใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับกลุ่มยาขับเสมหะ

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่พบในท้องตลาด เช่น

คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) ออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเสมหะ ทำให้เสมหะมีลักษณะใสขึ้น พร้อมที่จะถูกกำจัดออกไปได้ และมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ จึงมักนิยมใช้ในผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบ

– อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือเอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-acetylcysteine) ออกฤทธิ์โดยในโครงสร้างของอะเซทิลซิสเทอีน มีหมู่ซัลไฮดริลอิสระที่สามารถสลายพันธะไดซัลไฟด์ของมิวโคโปรตีน ของเสมหะได้ ส่งให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง ส่วนใหญ่พบในรูปแบบแกรนูล หรือเม็ดฟู่ละลายน้ำ

ยาในกลุ่มนี้ได้รับความนิยมมากเนื่องจากมีประสิทธิภาพในการละลายเสมหะดี มีราคาไม่แพง และผลข้างเคียงน้อย มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 เนื่องจากยาจะมีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์

– บรอมเฮกซีน (Bromhexine) คุณสมบัติช่วยให้เสมหะเหลวลง ทำให้เสมหะที่เหนียวข้น และคั่งค้างอยู่ในหลอดลมถูกขับออกได้ง่าย และเนื่องจากมีความเป็นพิษต่ำ ยาตัวนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์

– แอมบร็อกซอล (Ambroxol) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับบรอมเฮกซีน ช่วยให้เสมหะเหลวลง ทำให้เสมหะที่เหนียวข้น และคั่งค้างอยู่ในหลอดลมถูกขับออกได้ง่าย ทำให้การหายใจสะดวกขึ้น นิยมใช้ละลายเสมหะในโรคของระบบทางเดินหายใจทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรังที่มีเสมหะเหนียวข้น

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยาแอมบรอกซอลจัดอยู่ในประเภท B แม้ว่าจะมีความปลอดภัยกับหญิงตังครรภ์ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

วิธีดูแลตนเองเมื่อมีอาการไอ

วิธีเลือกยาแก้ไอสำหรับเด็ก

  • สำหรับการเลือกใช้ยาบรรเทาอาการไอในเด็ก มักจะเลือกใช้กลุ่มยาละลายเสมหะ เพราะมีความปลอดภัยมากกว่ากลุ่มอื่น และเนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กมีขนาดเล็ก และสั้น แตกต่างจากของผู้ใหญ่
  • การคั่งค้างของเสมหะอาจทำให้ส่งผลต่อภาวะสุขภาพของเด็กได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าวัยผู้ใหญ่ โดยอาจมีการใช้ร่วมกับกลุ่มยาขยายหลอดลม กรณีไอจากภาวะหลอดลมหดเกร็ง หรือมีหายใจมีเสียงครืดคราด และกลุ่มยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอน
  • กรณีการไอที่เกิดจากภูมิแพ้ โดยควรเลือกยาน้ำที่ปราศจากน้ำตาล และแอลกอฮอล์ มีรสชาติที่เด็กชอบ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงขนาด วิธีการใช้ยาที่เหมาะสมกับวัย และน้ำหนักตัวของเด็กแต่ละคน

เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี

อาการไอไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของโรค จึงควรมีการหาสาเหตุ เพื่อที่จะได้รับการรักษา และดูแลตามสาเหตุอย่างเหมาะสม

บทความโดย : ดร. ภก. นิติ สันแสนดี อาจารย์พิเศษ ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สุขภาพ

 

เอกสารอ้างอิง :

1. Expectorants, in Drug Fact and Comparisons 2017, Wolters, Kluwer Health.:Nevada. p. 1331-1332
2. Antitussives, in Goodman & Gilman’s the Pharmacological Basis of Therapeutics, 12th edition. New York: McGraw-Hill, 2011. p.1057-1058
3. Carbocisteine, in Drug information Handbook, C.F. Lacy, et al., Editor. 24th ed., 2015-2016, Lexi-Comp Inc.: Hudson. p. 357.
4. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก พ.ศ. 2562, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close