ปวดหัวหลังตื่นนอน มีสาเหตุจากอะไร และวิธีป้องกันอย่างได้ผล!

ปวดหัวหลังตื่นนอน

ปวดหัวหลังตื่นนอน อาการยอดฮิตที่หลายคนเป็นกันเยอะ และมีการโพสต์ถามกันในโซเชียลจำนวนมาก บางคนเป็นแบบเรื้อรัง บางคนก็เป็นทุกเช้า ใครที่กำลังมีอาการแบบนี้อยู่ มาดูสาเหตุและวิธีป้องกันอาการปวดหัวตอนเช้ากันเลย

ปวดหัวหลังตื่นนอน มีสาเหตุจากอะไร?

1. นอนน้อย และ นอนมากเกินไป

ไม่ว่าจะนอนน้อย หรือนอนมากไป ก็เป็นสาเหตุทำให้ ตื่นนอนแล้วปวดหัว ถือเป็นอาการปกติที่ทุกคนสามารถเจอได้ แค่ปรับพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสม ก็จะช่วยให้หายปวดหัวได้แล้ว ส่วนสาเหตุที่นอนน้อยไปตื่นมาแล้วปวดหัว เกิดจากสมองไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ส่วนนอนมากไปตื่นมาแล้วปวดหัว เกิดจากเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยกว่าปกตินั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่นอนมากเกินไปเป็นประจำ อาจถือเป็น “โรคนอนเกิน” เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย และจิตใจ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรักษาต่อไป

2. พักผ่อนไม่เพียงพอ

การพักผ่อนไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวตุบ ๆ ได้ในตอนเช้า ตื่นเช้ามาไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า อาจนำมาซึ่งความเครียด หงุดหงิดง่ายอีกด้วย ควรปรับพฤติกรรมนอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง อาการปวดหัวตุบ ๆ ในตอนเช้า ก็จะหายไป ตื่นนอนมาก็จะสดชื่น ไม่หงุดหงิดง่าย

3. มีไข้

ถ้าหากคุณมีอาการปวดหัวตอนตื่นนอน ร่วมกับมีไข้ ตัวร้อน อ่อนเพลีย และมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อไอ จาม จำเป็นต้องหาสาเหตุให้เจอ เพราะอาจเกิดจากการติดเชื้อ และเป็นโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคทางสมอง การอักเสบ และรวมถึงระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม -> เป็นหวัดมีไข้ ควรกินยาอะไรดี? และข้อควรรู้เรื่อง ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสม

4. เป็นไมเกรน

เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวซ้ำ ๆ โดยอาการปวดหัวมักกำเริบในตอนเช้า (รุนแรงกว่าอาการปวดหัวทั่วไปมาก) ทำให้หลายคนตื่นนอนแล้วปวดหัวข้างเดียว หรือปวดทั้งสองข้างอย่างรุนแรงเลยทีเดียว ทั้งนี้คนที่เป็นไมเกรนมักจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน

5. ปวดหัวจากความเครียดเกินไป

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของสังคมสมัยนี้ และยังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย  โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า อาการของคนที่มีความเครียดเรื้อรัง จะทำให้ปวดหัวเรื้อรังตามมาด้วย เช่น ปวดหัวมากกว่า 15 วันต่อเดือน เป็นต้น ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเครียดอะไรมา ก่อนนอนให้ลองทำสมาธิสัก 5-10 นาที เพื่อช่วยผ่อนคลายจากความเครียดก่อนนอน ตื่นมาก็จะหายปวดหัวอีกด้วย

6. เมื่อคืนดื่มหนักไปหน่อย (รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนด้วยนะ)

ใครสายแฮงค์ สายดื่ม(แอลกอฮอล์) คงรู้ดีว่าวันไหนดื่มหนัก ดื่มจนเมาไม่รู้ตัว พอตื่นนอนมาก็จะรู้สึกปวดหัว มึน ๆ งง ๆ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ ที่แก้ไขได้ไม่ยาก แค่อย่าดื่มเยอะเกินไป มีลิมิตให้ตัวเองบ้าง อาการปวดหัวก็จะหมดไปเอง ส่วนการดื่มคาเฟอีนก่อนนอน ทำให้เกิดการปวดหัว หรือเวียนหัวหลังตื่นนอนได้เช่นกัน

7. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

ปวดหัวหลังตื่นนอน อาจเกิดจาก “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA)” แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายนัก เป็นกับเฉพาะบางคนเท่านั้น โรคนี้เกิดจากความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจ ที่เกิดจากมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ส่งผลให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ

อาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ได้แก่ นอนกรนบ่อยมากกว่า 3 คืน/สัปดาห์ หายใจแรงกว่าปกติในขณะนอนหลับ ปัสสาวะรดที่นอน นอนในท่าหลับหรือแหงนคอขึ้น ปวดหัวหลังตื่นนอน เป็นต้น

8. นอนกรน

การนอนกรนธรรมดาก็อาจทำให้เราตื่นนอนขึ้นมาพร้อมกับอาการปวดหัวได้ ในการศึกษาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้นอนกรนบ่อยครั้ง 268 คน พบว่า 23.5% ตื่นขึ้นมาด้วยอาการปวดหัวเป็นประจำ (อ้างอิง)

นอกจากทั้ง 8 ข้อที่กล่าวไป ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคประจำตัว การตั้งครรภ์ บรรยากาศในห้องนอน หมอนที่หมุน เป็นต้น ฉะนั้น สิ่งสำคัญเลยคือ เราต้องหาสาเหตุของอาการปวดหัวให้เจอ และแก้ไขที่สาเหตุนั้น ๆ ก็จะสามารถนอนหลับได้สบาย ไม่ตื่นมาแล้วปวดหัวอีกต่อไป…

ปวดหัวหลังตื่นนอน

เคล็ดลับสำหรับการบรรเทาอาการ ปวดหัวหลังตื่นนอน

  1. จัดตารางการนอนหลับให้สม่ำเสมอ เข้านอน และตื่นนอนเวลาเดิมในแต่ละวัน
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
  3. จำกัดคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ไม่ดื่มกาแฟ หรือแอลกอฮอล์ ก่อนเข้านอน
  4. อย่ากินอาหารตอนดึก โดยเฉพาะหลัง 00 เป็นต้นไป หรือก่อนนอน 4 ชั่วโมง
  5. ปรับห้องนอนให้เหมาะสม ไม่ให้มีเสียง และแสงรบกวนขณะนอน ห้องนอนควรสะอาด ปราศจากฝุ่น
  6. ลองปรับเปลี่ยนหมอน บางทีหมอนก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรานอนหลับไม่สบาย พร้อมอาการปวดหัว
  7. ทำกิจวัตรที่ผ่อนคลายก่อนนอน เช่น การทำสมาธิ การฟังเพลงกล่อมเบา ๆ เป็นต้น
  8. บีบนวดคลายกล้ามเนื้อ บริเวณขมับ หน้าผาก เบ้าตา เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

หากตื่นนอนแล้วปวดหัวจนเป็นอาการเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์

การพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ แพทย์จะค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว ซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมทั้งวิเคราะห์ความผิดปกติระหว่างนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกรนเป็นประจำ หรือมีอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากการวินิจฉัยของแพทย์แล้ว แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เป็นต้น

 

อ้างอิง : 1. sleepfoundation 2. รพ.ศิครินทร์ 3. pantip

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close