ติดคู่เสี่ยงตาย! 3 โรคหน้าฝนติดพร้อมโควิด-19 และยาที่ควรเตรียมพร้อม

โรคหน้าฝนติดพร้อมโควิด-19

การระบาดของโควิดยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด! ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ชี้ โควิดคงจะระบาดไปจนถึงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และจะเริ่มลดลงในเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้หน้าฝน ยังมีอีก 3 โรคที่ระบาดเป็นประจำเช่นกัน ยิ่งถ้าติดคู่กับโควิด-19 อาจเสี่ยงถึงตายได้! มาดูกันว่า “3 โรคหน้าฝนติดพร้อมโควิด-19” จะมีอะไรบ้าง และยาอะไรที่ควรเตรียมพร้อมรับมือไว้

ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (Decolgen tablets) บรรเทาหวัด น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้

ติดคู่เสี่ยงตาย! 3 โรคหน้าฝนติดพร้อมโควิด-19

อากาศชื้นในช่วงหน้าฝนทำให้เชื้อโรคเติบโตได้เร็ว และแพร่ระบาดได้ง่าย จึงทำให้มีคนป่วยติดเชื้อโรคได้สูงในฤดูนี้ ซึ่งโรคติดเชื้อที่มักมากับหน้าฝนนั้น เกิดขึ้นได้กับหลายระบบของร่างกาย และถ้าติดพร้อมกับโควิด-19 จะยิ่งอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะ 3 โรคดังต่อไปนี้

1. โรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคที่มักระบาดในหน้าฝน พบได้ในทุกช่วงอายุซึ่งมักพบในเด็ก แต่อัตราการเสียชีวิตเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี พบการระบาดมากที่สุดในโรงเรียน ฉะนั้นเด็กนักเรียนจึงต้องระวังโรคนี้เป็นพิเศษ ทั้งนี้โรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้ระบาดแค่เฉพาะฤดูฝน แต่สามารถระบาดได้ทุกฤดูเลยทีเดียว ส่วนการติดโควิดพร้อมกับไข้หวัดใหญ่ จะเรียกว่า ฟลูโรนา (Flurona)

ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่า “การจะติดเชื้อโควิดครั้งที่ 2-3 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ก็เป็นใหม่ได้อีก โควิด-19 ก็เช่นเดียวกันเมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ก็เป็นได้อีก แต่ภูมิคุ้มกันหลักพอช่วยปกป้องลดความรุนแรงลงแต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ”

7 กลุ่มเสี่ยงที่ควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

  1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
  3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน)
  4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
  7. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หากคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หากติดเชื้อทั้งไวรัสโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่พร้อมกัน มีโอกาสป่วยหนักได้ ขอให้ทุกคนที่ยังไม่เคยฉีด รีบไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิดและไข้หวัดใหญ่

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดพร้อมกันกับวัคซีนโควิด-19 ได้เลย โดยฉีดที่ต้นแขนอย่างละข้าง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

อ่านเพิ่มเติม -> ระบาดหนัก! ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (H1N1) ควรรับมือยังไงดี?

โรคหน้าฝนติดพร้อมโควิด-19

2. โรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคนี้มักระบาดหนักในหน้าฝน และถ้าส่งรักษาตัวไม่ทัน อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยอาการหลัก ๆ ที่พอสังเกตได้ว่าเป็นไข้เลือดออก คือ มีผื่นแดง ๆ จุดเลือดออกตามผิวหนัง มีไข้ขึ้นสูง และผู้ป่วยควรตรวจโควิดด้วย ATK เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นโควิดร่วมด้วยหรือไม่

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความระบุถึงโรคโควิดและไข้เลือดออกไว้ว่า “ผู้ป่วยที่ติดเชื้อร่วมทั้งสองชนิดนั้นส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการเด่นของไข้เลือดออก เช่น ไข้ ปวดท้อง อาเจียน ฯลฯ โดยมีอาการโควิดในระดับน้อยถึงปานกลาง ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ติดเชื้อร่วมทั้งสองชนิดมีอัตราการเสียชีวิต 6.7%”

หมอธีระกล่าวเพิ่มเติมว่า ให้พ่อแม่สังเกตอาการเด่นของไข้เลือดออก เช่น ไข้สูง ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ฯลฯ และนำพาเด็ก ๆ ไปตรวจรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เหนืออื่นใด ควรดูแลสภาพแวดล้อมในบ้าน รอบบ้าน และที่โรงเรียน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วย

ส่วนวิธีป้องกันไม่ให้มียุงลายชุกชุมในบ้าน คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น แหล่งที่มีน้ำขังในบ้าน (น้ำในแจกันเล็ก ๆ ก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ได้) และกางมุ้งป้องกันยุงลายเสมอเมื่อเข้านอน

อ่านเพิ่มเติม -> ไข้เลือดออก ภัยร้ายถึงตาย รู้เท่าทันก่อนสาย!

3. ไวรัส RSV

RSV เป็นโรคที่ระบาดในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในหน้าฝน ไวรัสตัวนี้ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากที่เราได้รับเชื้อ อาการจะคล้ายกับไข้หวัดมาก และยังมีอาการใกล้เคียงกับอาการโควิดด้วย เช่น ไอ จาม มีเสมหะมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) เป็นต้น

ลำพังไวรัสตัวนี้ก็อันตรายต่อเด็ก ๆ มากอยู่แล้ว หากติดมีโอกาสเสียชีวิตได้ และถ้าติดร่วมกับโควิด-19 จะยิ่งมีความอันตรายมากขึ้น และที่น่ากังวลคือ เด็กเล็กที่ติดไวรัส RSV ยังสามารถติดไข้หวัดใหญ่ในเวลาเดียวกันได้เช่นกัน เช่น อยู่ในห้องเรียนที่มีเด็กอื่น ๆ ติดเชื้อไวรัส RSV และ ไข้หวัดใหญ่ รวมอยู่ในห้องเดียวกัน

เด็กเล็กที่ป่วยด้วยโรคนี้ สามารถแพร่เชื้อได้นาน 3-8 วัน แต่อาจนานถึง 3-4 สัปดาห์ในเด็กเล็ก หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉะนั้น หากมีอาการป่วยควรให้เด็ก ๆ หยุดเรียน จนกว่าอาการจะหาย และควรฝึกลูกให้หัดใส่หน้ากากอนามัยจนเป็นนิสัย เพื่อจะได้ป้องกันตัวเองจากโรคนี้ ขณะอยู่ในห้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม -> วิธีป้องกันไวรัส RSV มัจจุราชคร่าลูกน้อย!

ยาสำคัญที่ควรเตรียมพร้อม สู้ภัยโรคร้ายในหน้าฝนนี้

  1. ยาลดไข้ บรรเทาหวัด / ยาพาราเซตามอล
  2. ยาแก้ไอละลายเสมหะ / สเปรย์พ่นคอ
  3. ยาแก้แพ้
  4. ยารักษาโรคประจำตัว
  5. ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
  6. ผงเกลือแร่ ORS (เกลือแร่แก้ท้องเสีย)

กลุ่มของใช้จำเป็น

  1. ชุดตรวจโควิด
  2. ปรอทวัดไข้
  3. เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด
  4. หน้ากากอนามัย สเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ

อ่านเพิ่มเติม -> ยาและของใช้จำเป็น ที่ควรมีติดบ้านในช่วงโควิด-19

วิธีหลีกเลี่ยง และป้องกันตนเองจากโรคไวรัสหน้าฝน

  1. ไม่เดินตากฝน และควรพกร่ม หรือเสื้อกันฝนเสมอในหน้าฝน
  2. ถ้าเปียกฝนมา เมื่อถึงบ้านควรรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า
  3. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบบ้าน และระวังไม่ให้ยุงกัด
  4. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือที่เสี่ยงติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า
  5. เสริมภูมิให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย นอนพักผ่อนเยอะ ๆ
  6. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ

 

อ้างอิง : 1. CH7HD News 2. Yong Poovorawan 3. verywellhealth 4. rpchospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close