5 กลุ่มอาการ Long COVID ที่พบมาก แก้ได้ไม่ยากด้วยยา และการรับประทานอาหาร

Long COVID

สภาวะหลังโควิด-19 หรือ อาการลองโควิด คือ ปัญหาสุขภาพใหม่ ที่โลกเพิ่งได้รู้จักหลังจากมีการค้นพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการดีขึ้นภายในสองถึงสามสัปดาห์หลังการติดเชื้อ แต่จากรายงานที่มีการเก็บสถิติอย่างต่อเนื่องพบว่า คนจำนวนมากพบว่ามีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย และดำรงอยู่ในร่างกายได้ยาวนานถึงหลาย ๆ สัปดาห์จนถึงหลายเดือน (ประมาณ 4 ถึงมากกว่า12 สัปดาห์ขึ้นไป) หลังจากที่หายจากโรคโควิด-19 ซึ่งในทางการแพทย์เรียกอาการหลังติดเชื้อนี้ว่า กลุ่มอาการ Long COVID ลองโควิด นั่นเอง

decolgen ดีคอลเจน

โดยจากข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ชี้ให้เห็นถึง 5 กลุ่มอาการ Long COVID ลองโควิด ที่มักพบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งได้แก่

1. กลุ่มอาการทั่วไป General symptoms

  • อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อันอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ความไม่สบาย หรืออ่อนแอของร่างกาย อาการกระเสาะกระแสะ ความคล่องตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันลดลง

มีไข้ อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เป็นหนึ่งในอาการลองโควิดที่พบบ่อยมากถึงกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เคยมีประวัติติดเชื้อโควิดครั้งแรก โดยส่วนมากพบว่าอาการจะเริ่มปรากฏตั้งแต่หายป่วยจนถึงประมาณ 6 เดือน พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยหญิงวัยทำงาน ซึ่งการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าการให้วิตามินซีทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยล้าหลังติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยได้รับสารต้านอนุมูลอิสระได้อย่างเพียงพอ และเต็มที่ ช่วยต้านทานการอักเสบ ฟื้นฟูเนื้อเยื่อบุผนังหลอดเลือด จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมในการรักษาอาการเหนื่อยล้า ซึ่งเป็นผลจากอาการลองโควิด

 

2. กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ และหัวใจ Respiratory and heart symptoms

  • หายใจลำบาก หรือหายใจถี่
  • อาการไอ
  • เจ็บหน้าอก
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นแรง

คงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย หากจะกล่าวว่ากลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจและหัวใจ เช่น อาการหายใจลำบาก หรือหายใจถี่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น รวมถึงหัวใจเต้นรัวอย่างไม่ทราบสาเหตุ เป็นอาการที่พบได้บ่อย เป็นอันดับต้น ๆ ในกลุ่มผู้ที่มีอาการลองโควิด และแม้ว่าผู้ป่วยจะหายจากโรคโควิด-19 แล้ว แต่อาการระบบทางเดินหายใจและหัวใจ ดังกล่าวสามารถปรากฏ และหลงเหลืออยู่กับผู้ที่เคยติดเชื้อไปได้อีกหลายสัปดาห์ จนทำให้หลายคน เกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจ รวมถึงบ่อยครั้งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

ซึ่งวิธีการดูแลที่แนะนำ ผู้ที่ปรากฎอาการดังกล่าวควรเข้ารับการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินผล และติดตามอาการในระยะยาวโดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินหายใจและหัวใจ เพราะเป็นกลุ่มอาการที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะที่สำคัญของร่างกายเช่น ปอด และ หัวใจ ดังนั้นการได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันอาการของโรคไม่ได้มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นรวมถึงส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายในระยะยาว

 

3. กลุ่มอาการทางระบบประสาท Neurological symptoms

  • ปัญหาสมาธิสั้น และ ความจำลดลง  หรือ “Brain fog”
  • ปวดศรีษะ
  • นอนไม่หลับ และภาวะเกี่ยวกับการนอนอื่น ๆ
  • มึนหัว วิงเวียนศีรษะเมื่อมีการเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืน
  • การปวดเสียว หรือแปลบ ความรู้สึก “เหมือนเข็มทิ่ม” อาการชาที่แขน มือ ขา หรือเท้า
  • การรับกลิ่น หรือรสผิดปกติ
  • อาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวล

ผู้ป่วยที่พบอาการลองโควิดในกลุ่มนี้ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะดูแลรักษาตามอาการที่ปรากฎ โดยเน้นการให้คำเเนะนำเรื่องการฟื้นฟู และการปรับพฤติกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และไม่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ด้วยการเลือกออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโอ ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงของระบบหัวใจไหลเวียนเลือด และปอด ให้สามารถนำออกซิเจนมาใช้ได้มากขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญของการทำงานในระบบสมอง ทำให้สมองผ่อนคลาย เช่น การทำท่าแอโรบิคแบบเบา ๆ รวมถึงการฝึกการหายใจแบบช้าและลึก เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรง เสริมสร้างสมาธิ ลดความวิตกกังวล ทำให้ร่างกายสามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ ที่สำคัญควรให้ความใส่ใจในคุณภาพอาหารที่รับประทานเพิ่มมากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารที่มีวัตถุเจือปน เช่นอาหารที่มีโซเดียมสูง รวมถึงควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบการทำงานของประสาท และสมองได้รับการฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่

4. กลุ่มอาการในระบบทางเดินอาหาร Digestive symptoms

  • ท้องเสีย ขับถ่ายผิดปกติ
  • ปวดท้อง

ผู้ป่วยลองโควิด-19 ที่พบว่ามีอาการเกี่ยวกับระบบบทางเดินอาหาร และระบบขับถ่ายควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด และที่สำคัญควรเน้นอาหารย่อยง่าย ที่สำคัญควรเคี้ยวให้ละเอียด เพื่อให้ระบบย่อยอาหารไม่ต้องทำงานหนักในภาวะที่ยังมีความผิดปกติเกิดขึ้น

หากพบว่ามีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย ควรแบ่งอาหารที่รับประทานออกเป็นมื้อย่อย ๆ หลาย ๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย ควรเน้นสารอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา ไข่ นม เนยแข็ง ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ รวมทั้งบริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ เช่น นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต รวมถึงการเพิ่มอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช กล้วยสุก กระเทียม หอมใหญ่ เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพ และยังช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

5. กลุ่มอาการนอกเหนือจากที่กล่าวมา Other symptoms

  • อาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผื่น เช่น ผื่นลมพิษ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ

กลุ่มอาการสุดท้าย ที่แม้ไม่พบบ่อย หรือในหลายครั้งไม่สามารถระบุชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นอาการของลองโควิด แต่ก็มีรายงานว่าผู้ที่เคยรับเชื้อไวรัสโควิด 19 และรักษาหายแล้ว กลับปรากฏอาการกลุ่มที่ว่านี้มากขึ้น ที่ก่อนหน้านี้ไม่พบว่ามีความผิดปกติ เช่น ผื่นลมพิษ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ รวมถึงประจำเดือนมาไม่ปกติ

ซึ่งแนวทางในการดูแลกลุ่มอาการดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการที่ปรากฏ โดยหลีกเลี่ยงการเกา และสัมผัสบริเวณที่มีผื่นคัน เพื่อป้องกันการเกิดแผล การรับประทานยาแก้แพ้ ผื่นคัน เช่น ลมพิษ ที่มีสารต้านฮีสตามีน ที่ช่วยบรรเทา และลดอาการแพ้ได้ รวมถึงหากอาการแพ้ค่อนข้างรุนแรง อาจจะต้องได้รับการฉีดอะดรีนาลีนเพื่อบรรเทาอาการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับอาการปวดกล้ามเนื้อ หากรู้สึกไม่สบายตัว และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันสามารถเลือกใช้ยาทาลดบรรเทาอาการปวด รวมถึงการประคบร้อนในบริเวณที่ปวด

รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายโดยรวมให้ดีอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูปที่มีวัตถุกันเสีย และแต่งกลิ่นรส อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด ย่อยยาก และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงซึ่งก่อให้เกิดอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว รวมถึงการที่ประจำเดือนมาไม่ปกติได้

Long COVID

ภาวะ long COVID ทำให้เกิดอาการแสดงออกต่อร่างกายและจิตใจได้หลากหลายรูปแบบ ตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น ฉะนั้นแนวทางการดูแลรักษาจึงควรประเมินและวางแผนให้เหมาะสมเป็นรายบุคคล

สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้ คือการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 อย่างเหมาะสมและเพียงพอตามที่แพทย์แนะนำ เพราะจากรายงานหลายฉบับพบว่าผู้ป่วยที่พบอาการ long COVID ที่รุนแรงและยาวนาน ส่วนมากมักเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือ ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์มาตรฐานที่ได้กำหนด

นอกจากนี้แล้วสำหรับผู้ป่วยโควิด ที่มีประวัติโรคประจำตัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง หรือ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ก็ควรเพิ่มความดูแลเอาใจใส่ หมั่นตรวจสุขภาพและสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากหายจากการติดเชื้อแล้ว เช่น การใช้เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดความดันโลหิต และเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด ควรติดตามและตรวจสอบค่าระดับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อยู่สม่ำเสมอ เพื่อเป็นเฝ้าระวังอาการ long COVID ที่อาจมีความรุนแรง และหากพบความผิดปกติที่รุนแรงก็สามารถที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสอบทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close