ภาวะ MIS-C (มิสซี) อาการหลังหายจากโควิดในเด็ก ที่ไม่ควรมองข้าม

ภาวะ MIS-C

ภาวะ MIS-C (มิสซี) เป็นคำเรียกที่ย่อมาจากชื่อ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หมายถึงกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19  โดยทั่วไปจะเริ่มแสดงอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์ เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพในยุค New Normal ที่พ่อแม่หลาย ๆ ท่านไม่ควรมองข้าม

ยิ่งเมื่อมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดเริ่มผ่อนปรนลง สถานศึกษา และสถานที่ต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการอย่างเป็นปกติ แต่จำนวนการติดเชื้อเพิ่มก็ยังไม่อาจวางใจได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็กที่ ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงและเมื่อหายแล้วก็อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาดังเช่น ภาวะ MIS-C (มิสซี) ที่เราจะได้กล่าวถึงในบทความนี้

decolgen ดีคอลเจน

ภาวะ MIS-C (มิสซี) มีที่มาอย่างไร

จากข้อมูลของกรมการแพทย์ พบว่าเริ่มมีการรายงาน เกี่ยวกับกลุ่มอาการ MIS-C (มิสซี) ครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่ประเทศอังกฤษ โดยส่วนใหญ่มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง  โดยอายุโดยเฉลี่ยที่พบมากที่สุดอยู่ระหว่างอายุ 8-10 ปี

ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดของภาวะMIS-C อย่างแน่ชัด มีเพียงข้อสันนิษฐานว่าภาวะ MIS-C อาจจะเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนของเชื้อโควิด ซึ่งไม่ส่งผลต่อการติดเชื้อ แต่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

ซึ่งโดยส่วนใหญ่ อาการของภาวะ MIS-C มักเกิดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 2 – 6 สัปดาห์  ซึ่งจากการเก็บสถิติพบประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดทั้งหมด และภาวะนี้ อาจอันตรายถึงชีวิตได้ มักพบแถบประเทศยุโรป อเมริกา และอินเดีย

จากรายงานของกรมการแพทย์ ภาวะมิสซี ยังพบได้ไม่มากนักในประเทศไทย แต่แม้กระนั้นคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ที่มีบุตรหลาน ก็ไม่ควรวางใจ และหากพบว่าบุตรหลานของคุณมีอาการผิดปกติใกล้เคียงกับภาวะดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

วิธีสังเกตอาการภาวะ MIS-C

โดยส่วนใหญ่ภาวะมิสซีมักมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) จนทำให้หลายคนสับสน แต่มีข้อสังเกตเพื่อทำการคัดกรองเบื้องต้นได้จากเกณฑ์อายุโดยภาวะมิสซีมักจะเกิดในเด็กที่มีอายุประมาณ 8-11 ขวบ แต่โรคคาวาซากิมักเกิดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

ความแตกต่างอีกประการ คือภาวะ MIS-C จะก่อให้เกิดการอักเสบในระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท เป็นต้น ทั้งนี้การจำแนกแยกแยะภาวะ MIS-C และโรคคาวาซากิให้ได้อย่างชัดเจน จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจ และประเมินอาการ โดยอ่านผลตรวจเลือด และอัลตร้าซาวน์หัวใจ จึงจะสามารถสรุปผลได้อย่างแน่ชัด

โดยอาการที่เกิดขึ้นในเด็กที่มีภาวะ MIS-C มีดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
  • ตาแดง
  • ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
  • ผื่นขึ้นตามตัว
  • ปวดศีรษะ ซึมลง
  • ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
  • หายใจหอบเหนื่อย ระบบการหายใจผิดปกติ ปอดอักเสบในบางราย
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณคอ
  • มีอาการช็อก อันเนื่องมาจากความดันต่ำ

ข้อควรระวัง ผู้ป่วยบางรายมีภาวะช็อกเนื่องจากความดันต่ำ และจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤต ซึ่งอาการช็อกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ 3 ผู้ปกครองจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ

ผลกระทบจากภาวะมิสซี (MIS-C) ต่อระบบการทำงานส่วนต่างๆ ในร่างกาย

อย่างที่เกริ่นในตอนต้น ภาวะ MIS-C โดยมากมักก่อให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิดปกติในหลายระบบ ซึ่งได้แก่

  • ระบบทางเดินหายใจ : ปอดอักเสบ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด : ทำให้มีอาการช็อก ความดันต่ำ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการกลุ่มนี้ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดการช็อกซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
  • ระบบทางเดินอาหาร : ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกทางเดินอาหาร หรือตับอักเสบ
  • ระบบประสาท : มีอาการชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ระบบเลือด : เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ไต : ภาวะไตวายฉับพลัน
  • ผิวหนัง : ผิวหนังแดงเป็นผื่น เยื่อบุอักเสบ

วิธีการป้องกัน และดูแลรักษาเมื่อเกิดภาวะมิสซี (MIS-C) หลังหายจากโควิด

เนื่องจากภาวะ MIS-C เป็นโรคที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แนวทางที่ใช้ในการดูแลรักษายังอยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้า ซึ่งโดยทั่วไปจึงมักใช้แนวทางเช่นเดียวกับ การรักษาโรค Kawasaki disease ซึ่งประกอบด้วย

  • การให้การรักษาตามอาการ แบบประคับประคอง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด
  • การให้ยากลุ่มต้านการอักเสบ เช่น การใช้ยาอิมมูโนกลอบูลิน (Human normal immunoglobulin, intravenous: IVIG) ที่มักใช้รักษาในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง และสเตียรอยด์ ซึ่งมีข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยภาวะ MIS-C ส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อการรักษาได้ดี

โดยหากพบว่าบุตรหลานของท่านที่มีการติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ (มากกว่า 2 อาการขึ้นไป) ในระยะ 2 – 6 สัปดาห์ ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และควรนำบุตรหลานไปเข้ารับการตรวจโดยละเอียด โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการตรวจประเมินอาการด้วยการ

  • เจาะเลือดเพื่อตรวจดูค่าการอักเสบของร่างกาย
  • ประเมินการทำงานของหัวใจ ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสี่ยงความถี่สูง หรือที่เรียกว่าการทำเอคโคหัวใจ
  • การประเมิน Volume Status ว่ามีภาวะการโป่งพองของหลอดเลือดร่วมด้วยหรือไม่
  • ตรวจตามอวัยวะต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดการอักเสบ

เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ไม่อยากเสี่ยงกับภาวะมิสซี (MIS-C) ต้องเคร่งครัดกับวิถีชีวิต New Normal

คงไม่มีวิธีป้องกันภาวะ MIS-C ใดที่ดีที่สุด ไปกว่าการหยุดที่ต้นเหตุ นั่นก็คือป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพ่อแม่ที่มีบุตรหลานในวัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนั่นก็คือระหว่าง 8-10 ปี ควรให้ความใส่ใจมากขึ้นเป็นพิเศษ

เริ่มตั้งแต่การเคร่งครัดกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19  อาทิ การเว้นระยะห่างจากสังคม 1.5 – 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า คุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรหลานที่เกิดภาวะมิสซี (MIS-C) ควรทราบว่า ภาวะนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อ เนื่องจากไม่ได้ติดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง ดังนั้นการสัมผัสใกล้ชิดกับน้อง ๆ ที่เกิดภาวะนี้ จะไม่ทำให้เกิดการติดต่อไปสู่คนอื่น ๆ ต่อ

สิ่งที่อยากเน้นย้ำในแนวทางการป้องกัน คือการเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามคำแนะนำของแพทย์อย่าง ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการรับรองให้มีการจัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไฟเซอร์ ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ขวบ ซึ่งก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ใกล้เคียงกับวัคซีนที่ใช้ในผู้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุดในเวลานี้ เพราะเป็นการหยุดที่ต้นทาง

สุดท้ายนี้ แม้ว่าภาวะ MIS-C จะยังพบได้น้อยในประเทศไทย และมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 0.3% แต่ความเสี่ยงแม้เพียงน้อยนิด ก็คงคุ้มกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ดังนั้นหากบุตรหลานของท่านมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อโควิด 19 และ เกิดการติดเชื้อ ไม่ควรนิ่งนอนใจ หากมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเข้าข่ายภาวะ MIS-C ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินร่างกาย และรับการรักษาโดยทันที เพราะสุขภาพของบุตรหลานเป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญที่สุดที่พ่อแม่จะมอบให้ได้


อ้างอิง : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

decolgen ดีคอลเจน

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close