จุก เสียด แน่นท้อง มีกี่ชนิด และมีวิธีดูแลอย่างไร ให้รู้สึกสบายท้อง?

จุก เสียด แน่นท้อง

ด้วยภาวะที่เร่งรีบของสังคมเมืองในปัจจุบัน ที่ต้องฟันฝ่าตั้งแต่เช้า กับปัญหาด้านการจราจร ตลอดจนความเคร่งเครียดจากการทำงาน การประชุม หรือต้องไปปาร์ตี้ต่อในรอบเย็นและดึกก็ตาม เหล่านี้ หลายครั้ง อาจนำมาซึ่งความผิดปกติของการทำงานของร่างกาย อาการหนึ่งที่เราทุกคนเคยผ่านมาแล้วทั้งสิ้น นั่นก็คือ อาการ จุก เสียด แน่นท้อง

โดยที่อาการเหล่านี้ หลายคนเกิดขึ้นบ่อย บางคนอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ระบุหาสาเหตุที่มาไม่ได้ชัดเจน วันนี้เราจึงจะมาชวนทุกท่านไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการ จุก เสียด แน่นท้องกัน ว่าลักษณะของอาการนั้น มีกี่ชนิด มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะมีวิธีการดูแลอย่างไร ให้บรรเทาอาการ และรู้สึกสบายท้อง

จุก เสียด แน่นท้อง มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง?

อาการจุก เสียด แน่นท้องนั้น ส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากระบบทางเดินอาหาร และระบบย่อยอาหาร ซึ่งสามารถแบ่งได้ตามกลุ่มอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้

1. อาหารไม่ย่อย (Indigestion)

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยประสบกับภาวะจุกเสียดท้องเพราะอาหารไม่ย่อยแน่นอน โดยสาเหตุหลัก มาจากพฤติกรรมการรับประทานเป็นส่วนใหญ่ เช่น รับประทานเร็ว ไม่เป็นเวลา อาหารมีไขมันเยอะ ท้องผูก ความเครียด หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ก็อาจเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยได้ เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้นจะมาดูกันว่า อาการของอาหารไม่ย่อย และวิธีการดูแล ควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อห่างไกลอาการนี้

ลักษณะอาการ

– ปวดท้อง โดยมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ พะอืดพะอม คลื่นไส้ อยากอาเจียน เพราะรู้สึกอึดอัดที่บริเวณท้องมาก พุงจะป่องอย่างเห็นได้ชัด และจะอิ่มเร็ว หลังจากเริ่มรับประทานอาหารไม่นาน หรืออาจรู้สึกไม่อยากอาหารเหมือนปกติ เพราะไม่สบายท้องเนื่องจากอาการที่รับประทานลงไปก่อนหน้ายังไม่ถูกย่อยเลย

– จุกเสียด แน่นท้อง และบางครั้ง รู้สึกถึงแก๊สในกระเพาะที่ดันขึ้นมา บริเวณหลอดอาหาร จึงทำให้เกิดอาการจุกลิ้นปี่ อาการนี้ จะไม่ได้เป็นตลอดเวลา แต่จะเป็นเฉพาะเวลาที่รับประทานอาหารลงไป ซึ่งจะต่างจากกรดไหลย้อน ที่จะกล่าวต่อไป

– แสบร้อนกลางอกจนถึงกระเพาะอาหาร เรอบ่อย เรอเปรี้ยว เนื่องมาจากกรดในกระเพาะมีปริมาณมากเพราะร่างกายหลั่งน้ำดีออกมาปริมาณมากเพื่อย่อยอาหาร ที่ย่อยยาก มีไขมันสูง จึงทำให้รู้สึกแสบกระเพาะอาหาร และกรดอาจไหลย้อนขึ้นมาถึงกลางอก ทำให้รู้สึกแสบบริเวณกลางอกได้ แต่อาการนี้จะพบได้น้อยกว่าอาการท้องอืด พะอืดพะอม

จุก เสียด แน่นท้อง

วิธีการดูแล  

ด้วยสาเหตุหลักของอาหารไม่ย่อย มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การทานอาหารเร็ว การเคี้ยวไม่ละเอียด และภาวะความเครียด ดังนั้น วิธีการดูแลของผู้ที่มีอาการดังกล่าวเนื่องจากอาหารไม่ย่อย จึงควรปฏิบัติดังนี้คือ

– ปรับประเภทอาหาร ควรเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น อาหารที่เน้น ปลา ผัก ผลไม้ เพราะจะถูกดูดซึมสู่ร่างกายได้ง่าย และควรรับประทานอาหารที่มีองค์ประกอบของไฟเบอร์ เพื่อช่วยในการย่อยและขับถ่ายด้วย เช่น ธัญพืช หรืออาหารไม่ฟอกสี เพราะอุดมด้วยวิตามิน และแร่ธาตุมากมาย และควรเสริมด้วย นม หรือโยเกิร์ต เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ดี หรือที่เรียกกันว่า Probiotics ให้แก่กระเพาะอาหาร และลำไส้ เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร

– ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานให้ตรงเวลา ให้มีสมาธิในการรับประทาน เคี้ยวให้ละเอียด ไม่รับประทานเร็ว หรือช้าจนเกินไป เพราะสมองจะใช้เวลาในการรับรู้ถึงความอิ่ม ดังนั้นหากรับประทานเร็วไป สมองยังไม่ทันได้รับรู้ถึงอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย ก็จะทำให้รับประทานไปเรื่อย ๆ เพราะยังไม่รู้สึกอิ่ม จึงทำให้เกิดอาการของอาหารไม่ย่อยได้ง่าย และที่สำคัญคือ ควรรับประทานอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพราะหากเข้านอนทันทีหลังรับประทานเสร็จ การเดินทางของอาหารสู่กระเพาะอาหาร และระบบการย่อยจะทำงานช้า ทำให้อาหารไม่ย่อยนั่นเอง

– บริหารความเครียด เพราะความเครียดเป็นศัตรูตัวร้ายของทุกระบบในร่างกาย ดังนั้น หากมีความเครียดเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะเกิดจากเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว ควรหาทางกำจัดให้เร็วที่สุด วิธีง่ายที่สุดคือ ออกกำลังกายให้เหงื่อออก ก็จะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมา กระปรี้กระเปร่า เจริญอาหาร  หรือจะใช้สมาธิบำบัดก่อนเข้านอน หรือจะเล่นโยคะตอนตื่นเช้าก็ย่อมได้เช่นกัน

จุก เสียด แน่นท้อง

2. กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease, GERD)

เป็นโรคที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่บริเวณหลอดอาหาร ลำคอ และช่องปาก เกิดเนื่องจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร หรือการบีบตัวของหลอดอาหาร หรือ การบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก และจุกแน่นลิ้นปี่ โรคฮิตของคนยุคใหม่ มีผลสำรวจว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นโรคนี้ ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยด้วยอาการกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยพบในวัยทำงาน และวัยเด็ก สูงขึ้นเรื่อย ๆ มาดูกันว่าอาการ และแนวทางดูแล ควรทำอย่างไร

ลักษณะอาการ

– แสบร้อนกลางอก จุก เสียด แน่นท้อง ขณะและหลังรับประทานอาหาร หรือขณะที่นอนหงาย หรือยกของหนัก และจะเกิดบ่อยกลางดึก

– เรอเปรี้ยว ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาผ่านหลอดอาหาร ลำคอ จนมาถึงช่องปาก ในบางรายอาจพบอาการ ฟันกร่อน ปากมีรสขม มีกลิ่นปาก และฟันกร่อน ร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล้านี้เป็นอีกลักษณะเฉพาะของผู้ที่เป็นกรดไหลย้อน

– รู้สึกคล้ายมีก้อนในคอ หรือแน่นคอ หรือกลืนติด ๆ ขัด ๆ หรือกลืนลำบาก คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในคอ เนื่องจากกรดไหลย้อนไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และจะมีอาการ หอบหืด ไอแห้ง ๆ และเจ็บคอประกอบ เพราะกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดอาการกล่องเสียอักเสบ

– ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ อาจปวดเป็นพัก ๆ หรือปวดตลอดทั้งวัน หายใจไม่สะดวก ซึ่งหากเป็นอาการแบบนี้ของผู้ป่วยกรดไหลย้อน เป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งว่า อาจเป็นขั้นรุนแรงแล้ว

วิธีการดูแล  

– เลือกประเภทอาหารที่รับประทาน ควรเน้นอาหารที่ย่อยง่าย มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด หรือไขมันสูง และอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เพราะจะกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น

– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นในปริมาณมาก และควรรับประทานก่อนเข้านอน อย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่า อาหารจะถูกย่อยก่อนเข้านอน โดยควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อให้อาหารถูกย่อยง่าย

– ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 8 แก้ว (ขนาด 200 มิลลิลิตร) โดยปริมาณน้ำอาจยืดหยุ่นได้ตามน้ำหนักตัว

– หากรู้สึกขมปาก อาจเคี้ยวหมากฝรั่ง ที่มีส่วนผสมของไซลิทอล (xylitol) ช่วยเพื่อให้ลมหายใจสดชื่นมากขึ้น และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำลายในช่องปาก เพื่อเคลือบลิ้น และฟัน ช่วยลดความขมจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาในช่องปากได้ หรือจะรับประทานอาหารผลไม้ที่ออกรสหวาน และมีน้ำมาก เช่น จำพวกแตง แตงโม แคนตาลูป แตงไทย แก้วมังกร ก็ช่วยได้เช่นกัน

– นอนโดยปรับศีรษะให้สูงกว่าลำตัว บางคนอาจใช้หมอนเป็นตัวช่วยในการหนุนคอ และหลังให้สูงกว่าช่วงท้อง หรือใช้เตียงที่สามารถปรับหัวเตียงให้สูงได้ โดยไม่ควรสูงจนทำให้ปวดคอ และหลัง การนอนศีรษะสูงจะช่วยป้องกัน ไม่ให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร และไหลสู่ลำคอได้ ซึ่งจะช่วยลดอาการของกรดไหลย้อนเวลานอนได้มากทีเดียว

บริหารจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน อาจใช้สมาธิบำบัด การทำโยคะช่วย เพราะลดความเครียด ที่จะกระตุ้นให้น้ำย่อยออกมาในกระเพาะอาหารมากเกินไป จนทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลมทุกประเภท

จุก เสียด แน่นท้อง

3. โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia)

เป็นโรคที่รู้จักกันมานาน โดยโรคกระเพาะอาหาร ก็คือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรืออาจเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ มักพบบ่อยในผู้ที่รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือ ผู้ที่ทานยาบางประเภท เช่น ยารักษากระดูก ซึ่งทำให้ระคายเคืองกระเพาะจนเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ หรืออาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบางประเภท

ลักษณะอาการ

– จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ ปวด และแสบท้อง หรือแบบบิดมวน บางครั้งอาจปวดบริเวณชายโครงซ้าย หรือปวดร้าวไปด้านหลัง โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นทั้งก่อน และหลังรับประทานอาหาร อาจมีความรู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียนร่วมด้วย เพราะน้ำย่อยในกระเพาะที่มีมาก ทำให้รู้สึกพะอืดพะอม

– อุจจาระสีดำ ซึ่งบ่งบอกได้ว่า มีเลือดออกที่กระเพาะอาหาร ซึ่งจะแตกต่างจากหากอุจจาระเป็นสีแดงสด แสดงว่า อาจมีแผลที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือทวารหนัก อันเนื่องมาจากริดสีดวงทวารหนัก

– หากเป็นขั้นกระเพาะทะลุแล้ว อาจทำให้มีอาเจียนเป็นเลือดได้ ปวดท้องมาก กดลงไปบริเวณท้องจะรู้สึกเจ็บมาก

การดูแล

– รับประทานอาหารให้ตรงเวลา โดยรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ปลา ธัญพืช ผัก ผลไม้ น้ำต้มข้าว น้ำซุป และควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย แต่บ่อย ๆ เพื่อลดการทำงานหนักของกระเพาะอาหาร

– หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ โซดา และการสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งกัดกระเพาะ ทำให้เกิดแผลและการอักเสบมากยิ่งขึ้น

– บริหารความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ ด้วยสมาธิบำบัดหรือโยคะ เพื่อลดน้ำย่อยที่จะหลั่ง และทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองได้

– หากจำเป็นต้องรับประทานยาเกี่ยวกับกระดูก ซึ่งส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ควรรับประทานอาหารก่อนยาเสมอ หรือรับประทานยาเคลือบกระเพาะก่อนยากระดูกทุกครั้ง

จะเห็นได้ว่า โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และการย่อยอาหาร ซึ่งมีอาการร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ จุก เสียด แน่นท้องนั้น ล้วนมีปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยทั้งสิ้น ไม่ว่า การเลือกประเภทอาหาร การเคี้ยวอาหาร ช่วงเวลาในการรับประทาน หรือปริมาณอาหารที่รับประทาน

ดังนั้น เราสามารถป้องกันอาการจุก เสียด แน่นท้องได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมให้ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันโรคร้ายได้แล้ว ยังช่วยให้รู้สึกสบายท้อง สดชื่น และมีพลังในการทำงาน การเรียน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันอีกด้วย อีกทั้ง คุณจะดูดีในสายตาของผู้อื่น ดังคำที่ว่า You are What you eat! นั่นเอง

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close