ลูกไอแล้วอ้วก อาเจียน เกิดจากอะไร อันตรายไหม ?

เมื่อเห็น ลูกไอแล้วอ้วก ไอตอนกลางคืน หรือ ไอหนัก จนอาเจียนออกมา คุณพ่อคุณแม่ต้องกังวลกับอาการของลูกกันแน่นอน เกิดจากสาเหตุอะไร อันตรายไหม แล้วจะต้องทำอย่างไรถึงจะหายไอได้บ้าง

อาการไอ (Cough) เป็นกลไกทางร่างกายอันหนึ่งในการป้องกันตนเองหรือกำจัดสิ่งแปลกปลอมของตนเองที่เกิดขึ้น และพยายามรักษาตนเองให้แข็งแรง ให้หายใจได้สะดวก และ กำจัดเสมหะ

ลักษณะของอาการไอ มีหลายแบบ

อาการไอ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาของการไอ ได้แก่

– อาการไอฉับพลัน จะมีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น

  • หวัด
  • คอหรือกล่องเสียงอักเสบ
  • หลอดลมอักเสบ
  • การสัมผัสสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม

– อาการไอเรื้อรัง จะมีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก

  • หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • โรคหืด
  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ลูกไอแล้วอ้วก

ลูกไอแล้วอ้วก ไอจนอาเจียน เกิดจากอะไร?

เกิดจากการไออย่างหนักอาจไปกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณโคนลิ้น และคอหอย ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการอาเจียนได้ และสาเหตุที่อาจเป็นไป มีดังนี้

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เกิดจากโรคภูมิแพ้ จะมีอาการไอเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ตอนกลางคืน เช้ามืด หรือ หลังออกกำลังกาย วิ่งเล่นเหนื่อย ๆ ก็จะไอมีเสมหะ หรือไอมากจนอาเจียน เสมหะใส และไม่มีไข้ เด็กในกลุ่มนี้จะมีอาการไอ เนื่องจากมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลม ทำให้ต่อมเมือกของหลอดลมโตขึ้น และหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามากกว่าปกติ เกิดอาการไอมีเสมหะ ในเด็กเล็กอาจไอจนอาเจียน เด็กบางคนอาจมีอาการแน่นหน้าอกด้วย

โรคไข้หวัด การไอจากไข้หวัด ก็อาจทำให้อาเจียนได้ หากน้ำมูก และเสมหะไหลลงสู่ช่องท้องในปริมาณมากจนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้

เด็กไอแล้วอาเจียน อันตรายไหม ?

ลูกไอจนอาเจียนนั้นไม่ได้เป็นสัญญาณที่อันตราย หากสังเกตแล้วว่าไม่มีอาการแทรกซ้อน อาการป่วยอื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวล แต่หากลูกน้อยอาเจียนไม่หยุด ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา และหาสาเหตุของอาการไอต่อไป

ลูกไอแล้วอ้วก

ลูกมีอาการไอ ใช้ยาแก้ไออะไรดี?

การใช้ยาบรรเทาอาการไอ ควรปรึกษาหมอ หรือ เภสัชกรก่อนใช้ยา เพื่อเลือกใช้ยาแก้ไอ ให้ตรงตามอาการ และรักษาอาการไอให้ได้ผล

ยาละลายเสมหะ ยาชนิดนี้จะช่วยลดความเหนียวของเสมหะลงทำให้ร่างกายกำจัด หรือขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น เช่น คาร์โบซิสเทอีน (carbocysteine) ยาชนิดนี้ควรเลือกใช้ในเด็กที่ไอแบบมีเสมหะ บางครั้งนิยมใช้ร่วมกับยาขับเสมหะ

ยาขับเสมหะ ยาชนิดนี้จะกระตุ้นการขับเสมหะโดยกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ และเพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปริมาณเสมหะมากขึ้น ทำให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น

ยาลดน้ำมูก อาการไอเนื่องจากมีน้ำมูกไหลลงไปในคอ ทำให้คัน และระคายคอ การรับประทานยาลดน้ำมูก ก็อาจจะทำให้อาการไอดีขึ้น

ยาขยายหลอดลม หากมีอาการหืด การใช้ยาที่ขยายหลอดลม ทำให้หายใจได้โล่ง สะดวก ก็จะบรรเทาอาการไอได้

วิธีรักษาอาการไอแล้วอ้วกในเด็ก

ให้ลูกดื่มน้ำเยอะ ๆ แนะนำเป็นน้ำอุ่น เพราะน้ำอุ่นจะช่วยละลายเสมหะ และทำให้ร่างกายขับเสมหะออกมาได้ง่าย

ระวังไม่ให้ลูกเล่นมากเกินไป ลองสังเกตว่าหากลูกมีอาการไอหนัก หลังวิ่งเล่น  หรือออกกำลังกาย เพราะอาจเกิดจากอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืดได้

ทำร่างกายให้อบอุ่น เพราะช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ยิ่งช่วงอากาศเย็น อากาศชื้น อาจจะทำให้เป็นหลอดลมอักเสบ ภูมิแพ้ และเกิดอาการไอได้ แนะนำห่มผ้าให้ลูกตอนกลางคืน ไม่เปิดแอร์เป่าโดนตัว

ปรึกษาแพทย์ ถ้าหากไอมาก อาจใช้ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอเพื่อบรรเทาอาการไอ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมหาสาเหตุของการไอ และรักษาอย่างถูกวิธี

อาการไอของลูก อย่าปล่อยให้เรื้อรัง เพราะอาจมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนได้ ผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่ ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ลูกใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในสถานที่แออัด หรือ มีฝุ่นควันเยอะ และควรให้ลูกออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรค


ที่มา: (1) (2) (3) (4) (5) (6)

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close