เคลียร์ให้ชัด! โรคฝีดาษลิง ติดง่ายมั้ย รุนแรงแค่ไหน ป้องกันยังไง และข้อสงสัยอื่น ๆ ที่ควรรู้!

โรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง แค่ได้ยินก็รู้สึกกลัว! โดยล่าสุดประเทศไทยพบคนไทยติดโรคฝีดาษลิงแล้วด้วย จึงทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นตระหนกกับโรคนี้เป็นอย่างมาก วันนี้ Ged Good Life จึงขอพาทุกคนไปเคลียร์ให้ชัด ในทุกประเด็นที่เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง มาติดตามกันเลย!

decolgen ดีคอลเจน

ทำความรู้จักกับ “โรคฝีดาษลิง”

โรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus (ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1958) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (small pox) โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก เช่น แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ไลบีเรีย ไนจีเรีย

อันที่จริงโรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่ครั้งนี้ที่ต้องมีการเตือนประชาชนให้ดูแลป้องกันตนเอง เนื่องจากพบผู้ป่วยแล้วในหลายประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศอเมริกาได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขแล้วด้วย

พาะหะของโรค การติดเชื้อ และการแพร่ระบาด

พาหะของโรคฝีดาษลิง – สัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ซึ่งไปรับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง”

การติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผล หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก โดยปัจจุบันพบเฉพาะในสัตว์ที่มาจากทวีปแอฟริกา ยังไม่พบในประเทศไทย สำหรับกลุ่มคนที่ล่าสัตว์ และนำเนื้อมาชำแหละ ก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน ทั้งนี้การแพร่กระจายเชื้อผ่านอากาศ (Airborne) สามารถเกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก

การติดต่อจากคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับ ผื่น แผล หรือสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือหลังสัมผัสกับวัตถุปนเปื้อนติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้า หรือเครื่องนอนของคนป่วย ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม ก็ทำให้ผู้สัมผัสติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยงโรคฝีดาษลิง

  • กลุ่มชายรักชายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด โดยมีจุดสัมผัสเสี่ยงสูงของโรคนี้ จะอยู่ที่ตุ่มฝี ตุ่มหนอง และที่ผิวหนัง
  • เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

โรคฝีดาษลิง


โรคฝีดาษลิง ติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่?

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผย งานวิจัยทางการแพทย์ล่าสุดจากทีมนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเบลเยียม บ่งชี้ว่า ไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ติดต่อจากการร่วมเพศทางทวารหนักได้โดยบางรายไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงจากผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย อาจจะไม่มีตุ่มแผลปรากฏตามตัว และใบหน้าให้เห็น

โดยได้ศึกษาจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ที่มารับการตรวจกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 จำนวน 225 ราย ตรวจพบเชื้อฝีดาษลิง 4 ราย หนึ่งรายแสดงอาการ ส่วนอีกสามรายไม่แสดงอาการ คิดเป็นร้อยละ 1.3

นพ. เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผอ. WHO กล่าวว่า ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายควรพิจารณา จำกัด หรือลดคู่นอนของตน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง และลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

โรคฝีดาษลิง ติดต่อกันง่ายไหม?

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรง หรือติดต่อกันได้ง่าย จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วย 2 รายแรก เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อยู่ด้วยกันเป็นสัปดาห์ ยังไม่มีใครติดเชื้อ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบคัดกรองที่ท่าอากาศยาน แต่โรคนี้มีระยะฟักตัวได้นานถึง 3 สัปดาห์ ทำให้ช่วงเข้ามาในประเทศไทยยังไม่มีอาการแสดง

ในฝั่ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์ไว้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของท่านเช่นกันว่า โรคฝีดาษลิงนั้นมีทั้งการแพร่คล้ายแบบโควิด แต่ “ยากกว่ามาก ๆ” ซึ่งต้องสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดมากแบบผิวแนบผิว หน้าแนบชิดตัว ถึงจะติดโรคฝีดาษลิงได้

หมอธีระวัฒน์ย้ำว่า อย่าตกใจ ตื่นตระหนก เพราะไม่ติดจากการพูดจาปกติ ต้องสัมผัสที่ต้องใกล้ชิด


อาการ และความรุนแรงของ โรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และเด็กเล็ก โดยมีอัตราการตายต่ำกว่าร้อยละ 5 เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน อาการป่วยจะเกิดขึ้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

อาการที่เด่นชัด

  • ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้ และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดง ประมาณ 5-7 วัน หลังรับเชื้อ (ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ และรอบทวารหนัก แขนหรือขา)
  • ตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด ตุ่มมีจำนวนมากน้อยตามความรุนแรงของโรค

อาการอื่น ๆ

  • ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
  • เจ็บคอ

โรคฝีดาษลิง


วิธีรักษาโรคฝีดาษลิง : ข้อมูลจากกรมการแพทย์

การรักษา

  1. การรักษาตามอาการ แบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย เช่น ลดไข้ ลดอาการไม่สบายจากตุ่มหนอง และดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
  2. การรักษาจำเพาะ ยาต้านไวรัสจำเพาะเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยใน ต่างประเทศ ทั้งนี้ ยาที่มีรายงานให้รายผู้ป่วยที่อาการรุนแรง คือ tecovirimat (TPOXX)

ข้อมูลเกี่ยวกับยา Tecovirimat: TPOXX C19H15F3N2O3

  • เป็นยาที่มีทั้งในรูปแบบรับประทาน และให้ทางหลอดเลือดดำ (oral and I.V.) ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไวรัสในกลุ่ม orthopoxviruses: variola (smallpox), monkeypox, cowpox, vaccinia complications
  • Tecovirimat ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการแทรกของไวรัสเข้าไปในเซลล์
  • มีรายงานใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศกลุ่มยุโรป

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  3. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
  4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
  5. ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่มั่วสุมทางเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย*
  6. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรอง และเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

*WHO ระบุ แม้ว่าโรคฝีดาษลิงจะแพร่กระจายในหมู่ชายรักชาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคติดต่อเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ทุกคนไม่ว่าเพศใด อายุใด มีโอกาสติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้เช่นกัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

อ้างอิง : 1. กรมควบคุมโรค 2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3. ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ 4. กรมการแพทย์ 5. gov.uk

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close