แพทย์แนะ! วิธีช่วยให้เด็กไอเพื่อระบายเสมหะออก ป้องกันเสมหะลงปอด

วิธีช่วยให้เด็กไอเพื่อระบายเสมหะออก

เสมหะลงปอดในเด็กอาจสร้างอันตรายมากกว่าที่คุณคิด! โดยเสมหะเกิดจากร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าไประคายเคืองหลอดลม ถ้าร่างกายสร้างเสมหะเยอะจนเกินไป ก็จะทำให้มีเสมหะจับตัวเป็นก้อน เหนียวข้น มีเสมหะเยอะ อาจทำให้เกิดภาวะเสมหะลงปอด ทำให้เด็กมีไข้ ไอมีเสมหะ ปอดติดเชื้อ และเป็นโรคร้ายต่าง ๆ ตามมาได้ ฉะนั้นผู้ปกครองควรสังเกตอาการไอของเด็ก และควรศึกษา “วิธีช่วยให้เด็กไอเพื่อระบายเสมหะออก” ตามที่แพทย์แนะนำ

ยาละลายเสมหะ

เด็กไอแบบไหน ที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องช่วย?

หากพบว่าเด็กไอมาก ไอจนเหนื่อย ไอจนปวดท้องก็ยังไม่หยุดไอ ไอไม่ค่อยออกเหมือนมีอะไรติดอยู่ที่หลอดลม ผู้ปกครองควรพิจารณาเข้ามาช่วยให้เด็กไอออกมาได้ง่ายขึ้น เพราะอาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ได้ว่า มีเสมหะที่เหนียวข้น คั่งค้างในหลอดลมมาก และเสมหะที่คั่งค้างในหลอดลมมากนี่เอง คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ เด็กไอเรื้อรัง

ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองควรเรียนรู้ในการช่วยให้เด็กไอเอาเสมหะออกมาได้โดยง่าย คือ การเคาะระบายเสมหะ การฝึกให้เด็กไออย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสั่นสะเทือนเพื่อช่วยการไอ มาดูกันว่า วิธีช่วยเด็กเพื่อไอเอาเสมหะออก จะมีขั้นตอนอย่างไร แนะนำโดย ผศ.พญ.อาภัสสร วัฒนาศรมศิริ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ รพ.วิภาวดี

วิธีช่วยให้เด็กไอเพื่อระบายเสมหะออก

1. สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อลดความเหนียวข้นของเสมหะ

2. สั่งน้ำมูก บ้วน หรือดูดเสมหะในจมูกและปากที่มีออกมาก่อน ควรทำก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร 1 ชม.ครึ่ง – 2 ชม. เพื่อไม่ให้อาเจียน หรือสำลัก

3. การจัดท่าให้เด็กอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เสมหะจากปอดถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น ให้ทำการเคาะแล้วจึงทำการสั่นสะเทือนในแต่ละท่า ท่าละ 3-6 นาที รวมทุกท่าไม่ควรนานเกิน 15-30 นาที แล้วจึงลุกนั่ง หรือยืนเพื่อให้ไออย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเด็กเหนื่อย หรือเบื่อทำเพียงบางท่า

4. การเคาะระบายเสมหะ ให้ใช้ผ้าขนหนูบาง ๆ วางบนตำแหน่งที่จะเคาะ ขณะเคาะให้ทำมือเป็นกระเปาะปลายนิ้วชิดกัน และมีการเคลื่อนไหวสบาย ๆ ตรงข้อมือ ข้อศอกและไหล่ ด้วยความถี่ 3 ครั้งต่อวินาที ให้ทั่ว ๆ บริเวณทรวงอกส่วนที่เคาะอยู่ โดยวนเป็นวงกลม หรือเลื่อนไปทางซ้ายและขวา ส่วนมากเด็กจะรู้สึกสบายเหมือนมีคนนวดให้ บางรายนอนหลับสบายขณะเคาะ

อ่านเรื่องเคาะปอดสำหรับเด็กเพิ่มเติมที่นี่ -> เทคนิคเคาะปอด ช่วยลดอาการไอ ขับเสมหะให้ลูกน้อย

5. การสั่นสะเทือนเพื่อช่วยการไอ เป็นวิธีที่ยากกว่าการเคาะ ถ้าผู้ปกครองไม่สามารถทำได้ก็ไม่ต้องเป็นกังวลกับขั้นตอนนี้ การสั่นสะเทือนทำโดยวางฝ่ามือลงบนทรวงอก ในเด็กเล็กวางมือประกบบริเวณด้านหน้า และหลังที่ตรงกัน หรือใช้มือเดียววางบริเวณด้านหน้าทั้ง 2 ด้าน เด็กโตอาจวางมือซ้อนทับกัน เกร็งทุกส่วนจากไหล่ ข้อศอกมือ แล้วทำให้เกิดการสั่นสะเทือน โดยเริ่มขณะที่หายใจเข้าจนสุดไปจนตลอดการหายใจออก จะช่วยให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ดีขึ้น

6. การไอให้มีประสิทธิภาพ ต้องหายใจเข้าเต็มที่ แล้วกลั้นหายใจ 1-2 วินาที เพื่อให้ลมกระจายไปทั่วทุกส่วนของปอด และมีแรงขับดันเอาเสมหะออกมาได้เต็มที่ จากนั้นไอติดต่อกัน 2-3 ครั้ง การให้เด็กเล็กสูดหายใจเข้าเต็มที่ อาจใช้ของเล่นที่ต้องสูดหายใจแรง ๆ มาช่วย เช่น เป่าลูกโป่ง, เป่าฟองสบู่ หรือเป่ากังหัน เป็นต้น

ในเด็กเล็กถ้ามีเสมหะมาก ๆ อาจต้องใช้ลูกยางเบอร์ 1 ช่วยดูดเสมหะในปาก หากมีบางส่วนกลืนลงไปบ้างร่างกายก็จะขับออกมาเองได้

ยาแก้ไอประเภทไหนที่ควรให้เด็กกินระหว่างไอมีเสมหะ?

ยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลม หรือละลายเสมหะจะช่วยให้อาการไอมีเสมหะในเด็กดีขึ้นได้ ควรเลือก ยาแก้ไอละลายเสมหะชนิดน้ำ เช่น คาร์โบซิสเทอีน (Carbocisteine) สำหรับเด็ก 2-12 ปี เนื่องจากมีรสชาติที่ดี และยังรับประทานได้ง่ายเหมือนกับน้ำหวานทั่วไป

ส่วนยาแก้ไอชนิดกดการไอ ไม่ควรให้เด็กกิน เพราะจะยิ่งมีผลเสียจากเสมหะที่คั่งค้างอยู่ อย่างไรก็ตามผู้ปกครองอาจเข้าพบแพทย์ หรือเภสัชกร ถ้าไม่แน่ใจเรื่องการใช้ยาในเด็ก

เสมหะลงปอดอันตรายแค่ไหน?

เมื่อเสมหะลงปอดจะส่งผลให้ปอดติดเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาได้ โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD) หรือทำให้เกิดโรคปอดติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และยังสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย เช่น การเกิดฝี เกิดหนองที่ปอด หรือเชื้ออาจเกิดการกระจายลุกลามออกจากปอดไปสู่กระแสเลือด และวิ่งเข้าสู่ร่างกายทำลายอวัยวะอื่น ๆ ถือได้ว่าเป็นอันตรายมาก

 

อ้างอิง : 1. vibhavadi 2. rakmor 3. lung

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close