อาการไอในเด็ก มักเกิดจากสาเหตุใด ไอแบบไหนอันตราย? พร้อมวิธีเลือกซื้อยาแก้ไอเด็ก

อาการไอในเด็ก

วันนี้ GedGoodLife ชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับ “อาการไอในเด็ก” มักเกิดจากสาเหตุใด ไอรุนแรงแค่ไหนถึงควรไปพบแพทย์? พร้อมวิธีเลือกซื้อยาแก้ไอในเด็ก ให้ถูกกับอาการไอของลูกน้อย มาติดตามกันเลย!

ยาละลายเสมหะ

อาการไอในเด็ก มักเกิดจากสาเหตุใด?

ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรคภูมิแพ้และอิมมูโนคลินิก ได้อธิบายถึง อาการไอในเด็ก ไว้ดังนี้

อาการไอในเด็ก ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่มักพบได้บ่อยคือ โรคหวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เด็กมีไข้ น้ำมูกไหล มีอาการคัน และระคายคอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไอ

อาการไอแบ่งได้ 3 ประเภท คือ 1. ไอแห้ง ๆ  2.ไอแบบระคายคอ 3.ไอแบบมีเสมหะ ซึ่งอาจเกิดจากการที่เด็กมีน้ำมูกแล้วสูดลงคอจนเกิดอาการ”

อาการไอในเด็ก แต่ละช่วงวัย มีสาเหตุจากอะไรบ้าง?

เด็กวัยทารก – อาการไอโดยไม่มีไข้ อาจเกิดจากความผิดปกติ หรือความพิการแต่กำเนิด

เด็กเล็ก – ควรคิดถึงสาเหตุจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม รวมทั้งการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อวัณโรค โรคไอกรน แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจเกิดจากการสำลักสิ่งแปลกปลอมลงไปในหลอดลม หรืออาจเกิดจากหลอดลมมีความไวกว่าปกติซึ่งเป็นผลมาจากโรคหืด

เด็กโตหรือวัยรุ่น – อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือ ไซนัสอักเสบ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การแพ้ตัว ไรในฝุ่น ละอองในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบจากโรคหืด หรืออาจเกิดจากการระคายเคือง เช่น จากควันบุหรี่ เป็นต้น


อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ระวังลูกไอจากภูมิแพ้อากาศ 

ในฤดูฝน มักเกิดอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งร้อน ฝนตก หนาว ในวันเดียว ซึ่งอาจทำให้เด็กเล็กมีอาการไอ จาก โรคภูมิแพ้อากาศ ได้ หมายความว่า ร่างกายมีการตองสนองต่อสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งเร้าที่มากกว่าตอนปกติ ทำให้มีสารหลั่งออกมามาก เช่น ถ้าแพ้ที่จมูก ก็จะมีน้ำมูก หรือคัดจมูกเรื้อรัง ถ้าแพ้ที่ทางเดินหายใจในลักษณะของการแพ้ที่หลอดลมก็จะทำให้มีหลอดลมตีบ หลอดลมมีภูมิไวเกิน มีเสมหะเรื้อรัง ก็จะทำให้ ไอเรื้อรัง เกิดขึ้น และเป็นเหตุให้เกิดโรคหอบหืดได้


อาการไออันตรายในเด็ก ที่ต้องพาไปพบแพทย์

ลักษณะอาการไอในเด็ก ไม่ใช่ว่าจะอันตรายทุกครั้งไป ซึ่งพ่อแม่ หรือผู้ปกครองเด็ก ก็ต้องรู้จักสังเกต และแยกให้เป็น

ลักษณะอาการไอทั่วไป ที่ไม่น่ากังวลนัก – ไอแบบแห้ง ๆ ไอแบบคันระคายคอ ไอเสียงเหมือนคนที่มีอะไรติดที่ลำคอ แบบนี้ไม่น่ากลัว หรืออันตรายเท่าไหร่

ลักษณะอาการไออันตราย ควรพบแพทย์อาการไอในเด็กที่อันตราย มีหลายแบบด้วยกัน ดังนี้

  • ไอแล้วมีเสมหะ ไอจนอ้วกออกมา หรืออาเจียนมีเสมหะออกมาด้วย อาจจะเป็นการไอเนื่องจากมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างหรือในทรวงอ
  • เสียงไอแบบก้อง ๆ อาจจะหมายถึงการไออันเนื่องมาจากมีเส้นเสียงอักเสบ
  • ไอแล้วมีเสมหะออกมาเป็นคำ ๆ เป็นก้อน ๆ อาจจะบอกถึงอาการไอที่เนื่องมาจากมีโรคหลอดลมโป่งพอง
  • ไอเป็นชุด ๆ ไม่หยุดเลย อาจจะบอกว่ามีอาการสำลักสิ่งแปลกปลอม ด้วยทางเดินหายใจ

5 วิธีง่าย ๆ ในการเลือก ยาแก้ไอเด็ก อย่างเหมาะสม

อาการไอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ไอมีเสมหะ และ ไอไม่มีเสมหะ ฉะนั้น เมื่อเด็กเกิดอาการไอ จึงควรสังเกตว่าเด็กไอมีเสมหะ หรือไม่ แล้วจึงเลือกยาให้ถูกต้องตามอาการ ดังนี้

1. เมื่อเด็กไอมีเสมหะ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ เช่น ยาละลายเสมหะ ที่มีส่วนผสมของ คาร์โบซีสเทอีน (Carbocisteine) เป็นยาละลายเสมหะที่มีประสิทธิภาพในการละลายเสมหะดี ผลข้างเคียงน้อย ราคาไม่แพง สามารถใช้ได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ได้อย่างปลอดภัย

2. เมื่อเด็กมีอาการไอไม่มีเสมหะ ให้เลือกกินยาแก้ไอที่ไม่มีเสมหะ เป็นยาที่กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง ข้อควรระวัง คือ ยาบางตัวในกลุ่มนี้ เมื่อใช้ติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เสพติดได้ เช่น ตัวยา Dextromethorphan Codeine เป็นต้น

3. เลือกยาแก้ไอแบบน้ำ ยาแก้ไอชนิดน้ำ เป็นยาแก้ไอที่เหมาะกับเด็กมากที่สุด เนื่องจากทานง่าย กลืนง่าย และมีรสผลไม้ให้เลือกอีกด้วย

4. เลือกยาแก้ไอที่ไม่มีน้ำตาล ควรเลือกยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เพื่อป้องกันฟันผุในเด็ก และไม่ให้เด็กได้รับน้ำตาลในปริมาณมากเกินไปในแต่ละวันด้วย

5 ปราศจากแอลกอฮอล์ ยาบางตัวไม่สามารถละลายในน้ำได้ จำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์ช่วยในการละลายเพื่อทำเป็นยาน้ำ แต่จะมีการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมไว้

 

อ้างอิง : 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 1 / 2  2. GedGoodLife


ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close