ผดร้อน เกิดจากอะไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

ผดร้อน

แดดร้อน ๆ แบบนี้ อาจต้องระวังผิวเสีย ผิวพัง จาก “โรคผิวหนังหน้าร้อน” กันหน่อย! ยิ่งอากาศร้อนชื้น ทะลุองศาในเดือนเมษายน พฤษภาคมในประเทศไทย ยิ่งต้องดูแลผิวให้ดี ไม่งั้นผิวสวย ๆ ของเราอาจเกิด “ผดร้อน” ขึ้นตามตัวได้ ยิ่งร้อน ก็ยิ่งขึ้นง่ายอีกด้วย! ในบทความนี้ GED good life จะพาไปทำความรู้จักกับ ผดร้อน กันให้มากขึ้น ว่าเกิดขึ้นมาแล้ว จะวิธีรักษาอย่างไรบ้าง…

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

ผดร้อน คืออะไร?

ผดร้อน หรือผื่นคันหน้าร้อน (Heat rash, Prickly heat, Miliaria) – เป็นผื่นที่เกิดจากภาวะที่มีการอุดตันของต่อมเหงื่อ (Sweat glands) และไม่สามารถขับเหงื่อออกมาได้ มักเกิดในฤดูร้อนในพื้นที่ภูมิอากาศแบบเขตร้อน และหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนัก พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กทารก และเด็กเล็ก เนื่องจากการทำงานของต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่ดี ทำให้เกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อได้ง่าย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผดร้อน

  • เดือนที่มีอากาศร้อนจัด ทำให้รุมขุมขนของคนเปิดออก เป็นผลให้ร่างกายรับลมร้อนเข้ามาได้ง่าย
  • ในทารกแรกเกิด เนื่องจากเด็กแรกเกิดมีท่อเหงื่อที่ยังไม่สมบูรณ์
  • นอนอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง

ลักษณะอาการของผดร้อน

ชนิดที่ 1 : Miliaria cystallina ผดชนิดนี้มีการอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับตื้นที่สุด จากนั้นมีการแตกออกของท่อระบายเหงื่อ ทำให้ผื่นเกิดเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร แตกง่ายเมื่อสัมผัสหรืออาบน้ำ ไม่คัน สามารถหายเองได้ ในเด็กเล็กมักขึ้นที่หน้า และลำตัวส่วนบน ผู้ใหญ่มักขึ้นที่ลำตัว

ชนิดที่ 2 : Miliaria rubra พบได้บ่อยที่สุดและเรารู้จักกันดีในนามว่า “ผดร้อน” มีการอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับกลางของหนังกำพร้า ผื่นเป็นตุ่มแดงขนาดเล็กประมาณ 2-4 มิลลิเมตร คัน บางครั้งอาจแสบร้อนได้ มีอาการหลังจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ร้อน อบอ้าว ผื่นมักขึ้นที่ลำตัวส่วนบนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ชนิดที่ 3 : Miliaria pustulosa เป็นผลจากผดร้อนที่เป็นมาก และนานจนเกินไปจนเกิดเป็นตุ่มหนอง และบางครั้งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียที่ได้มาจากการเกา

ชนิดที่ 4 : Miliaria profunda ผดชนิดนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากผดร้อนที่เป็นเรื้อรัง เป็นแล้วเป็นอีกอยู่เรื่อย ๆ จนนำไปสู่การอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับลึกที่สุด ลักษณะผื่นเป็นตุ่มนูนสีขาวขนาด 1-3 มิลลิเมตร พบได้ที่ลำตัวและขาส่วนบน ผื่นชนิดนี้พบได้น้อย

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นผดร้อนได้บ่อย

  • กลุ่มที่มีภาวะทำให้เหงื่อออกมามาก
  • การออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมามาก ยิ่งในภาวะร้อนชื้น ยิ่งทำให้เหงื่อออกมาก
  • ภาวะไข้สูง ทำให้ระบบกลไกของร่างกายพยายามที่จะลดอุณหภูมิกายลง จะมีการทำงานของต่อมเหงื่อมากขึ้น
  • การใส่เสื้อผ้ารัด เสียดสี เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อได้ง่าย
  • ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกิน กลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ เพราะปัญหาการขยับตัวยาก เกิดการอับชื้นของเหงื่อ

การป้องกัน และรักษาผดร้อน

  1. ปรับอากาศให้เย็นลง หรือพยายามหลบในที่ร่มไว้เสมอหากต้องออกแดด เลี่ยงช่วงเวลาแดดจัด
  2. รักษาผิวให้สะอาด โดยการอาบน้ำวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง เสร็จแล้วอาจทาแป้งเย็น เพื่อลดปัญหาอากาศร้อน แต่ถ้าแพ้แป้ง ไม่ควรทา
  3. กินยาแก้แพ้ ถ้ามีอาการคัน เช่น ยาแก้แพ้ลอราทาดีน เป็นยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงนอนระหว่างวัน และปลอดภัยสูง
  4. เมื่อมีอาการให้ทาครีม เช่น คาลามาย โลชั่น เพื่อลดอาการคัน และเพื่อประโลมผิวให้เย็นลง
  5. ควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดจนเกินไป ควรทำจากฝ้ายจะระบายอากาศได้ดีไม่อบอ้าว

อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับบ้านใครที่มีอากาศร้อน คือ การปลูกต้นไม้รอบบ้านเพื่อให้ร่มเงา หรือติดฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา ก็ช่วยระบายความร้อนภายในบ้านได้ดีทีเดียว

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ผดร้อนมักจะหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ควรไปพบแพทย์หากคุณมีอาการต่อไปนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • มีหนองออกจากตุ่ม
  • ปวดมากขึ้น
  • คัน หรือแดง ผิวอักเสบมาก
  • ผดไม่หายไป ถึงแม้จะผ่านไปหลายวันแล้วก็ตาม
  • มีอาการเป็นบ่อย ๆ

 

อ้างอิง : 1. mayoclinic 2. ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง โดย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย 3. คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ 4. โรงพยาบาลขอนแก่นราม 5. bangkokbiznews

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close