6 โรคผิวหนังหน้าร้อน ที่คนไทยต้องระวัง! พร้อม 10 วิธีดูแลผิวหนังโดยกรมการแพทย์

หน้าร้อนต้องระวัง ทำผิวพังไม่รู้ตัว! เพราะโลกเรายิ่งนานไป จะยิ่งร้อนขึ้นทุกวัน ยิ่งในประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่า “ร้อนทะลุปรอท” ไปแล้ว! และยิ่งร้อนเท่าไหร่ ยิ่งต้องระวังโรคผิวหนังกันให้ดี โดยเฉพาะ “6 โรคผิวหนังในหน้าร้อน” ที่หลายคนมักเป็นกันแบบไม่ทันตั้งตัว มาดูกันว่าจะมีโรคอะไรบ้าง พร้อมวิธีดูแลผิวหนังตามคำแนะนำจากกรมการแพทย์

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

แสงแดด ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้อย่างไร?

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้อธิบายเรื่องแสงแดด และ โรคผิวหนังในหน้าร้อน ไว้ดังนี้

“โรคผิวหนังที่อาจมากับแสงแดด ได้แก่ โรคผื่น คัน แดง เกิดจากความร้อนกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อในร่างกายขับเหงื่อออกมาอย่างรวดเร็ว เกิดการอุดตันบริเวณต่อมเหงื่อ ทำให้เกิด ผด ผื่น คัน มีผื่นแดงตามผิวหนัง โรคติดเชื้อ เช่น โรคกลาก มักเกิดในช่วงอากาศร้อน หรือใส่เสื้อผ้าอับชื้นเป็นเวลานานทำให้เกิดการติดเชื้อตามร่างกายบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ขาหนีบ โรคมะเร็งผิวหนัง

สาเหตุสำคัญเกิดจากการถูกแสงแดดมากโดยเฉพาะผู้ที่มีผิวขาวจะไวต่อการไหม้จากแสงแดดได้ง่าย การได้รับแสงเอกซเรย์ในปริมาณสูงเกิดแผลเป็นเรื้อรังจากรอยไหม้ ได้รับสารหนู หรือสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง

ผู้ป่วยที่มีอาการมากจะเกิดผื่นนูน คันทั้งตัว อาจอักเสบมีน้ำเหลืองไหลและคันมาก โดนแสงแดดไม่ได้จึงไม่สามารถประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตตามปกติที่ต้องโดนแสงแดด”

6 โรคผิวหนังในหน้าร้อน ที่ควรระวัง

1. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง  (Eczema / Atopic dermatitis)

โรคนี้พบบ่อยในเด็ก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนทำให้มีเหงื่อออกมาก ทำให้เกิดอาการคัน และเกิดผื่นผิวหนังอักเสบมากขึ้นได้ โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง อาการของโรคมักเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร้อยละ 60 จะปรากฏอาการก่อนอายุ 1 ปี ประมาณร้อยละ 85 จะปรากฏอาการก่อนอายุ 5 ปี อาการมักจะดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

• อาการแสดงของโรค

ผิวหนังโดยทั่วไปของผู้ป่วยจะค่อนข้างแห้ง อาการ และอาการแสดงของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. วัยทารก พบระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยมักจะเริ่มพบผื่นแดงคัน มีตุ่มแดง และตุ่มน้ำเล็ก ๆ อยู่ในผื่นแดงนั้น ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้

2. วัยเด็ก อายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ ผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดงแห้ง ๆ มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก

3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย

อ่านเพิ่มเติม -> 4 โรคภูมิแพ้ผิวหนังที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง แตกต่างกันยังไง?

2. โรคลมพิษ (Urticaria)

คือ ผื่นคันที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุ 20-40 ปี แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือลมพิษเฉียบพลัน และลมพิษเรื้อรัง สาเหตุของลมพิษมีมากมาย ทั้งสภาวะอากาศ อาหาร หรือสภาวะทางอารมณ์ กรณีในหน้าร้อน ความร้อนทำให้เกิดผื่นขึ้น ผื่นมีสีแดงจัด เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกร้อน

• อาการแสดงของโรค

มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน เป็นผื่นนูนล้อมรอบด้วยรอยแดง ขอบเขตชัดเจน ขนาดและรูปร่างต่างกันไป ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมาก และหากเกาก็จะเกิดผื่นแดงมากยิ่งขึ้น ผื่นนูนแดงมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากจะไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นนั้นก็จะยุบหายไปโดยไม่มีร่องรอย

อ่านเพิ่มเติม -> โรคลมพิษ คันยิก ๆ รักษายังไงดี?

3. โรคผิวหนังจากเชื้อรา (dermatophytosis)

โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรามักจะเกิดชุกชุมมากในเขตร้อนชื้น เช่น ในประเทศไทยช่วงหน้าร้อน เป็นต้น เพราะอากาศร้อนชื้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้น หรือมีเหงื่อออกมาก

• อาการแสดงของโรค

โรคผิวหนังจากเชื้อราที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่ โรคเกลื้อน กลาก และแคนดิด้า โดยจะมีอาการแสดงของโรคต่างกันออกไป ดังนี้

1. โรคเกลื้อน (Tinea versicolor/Pityriasis versicolor) – เป็นจุดเล็ก ๆ มีขุยบาง ๆ จุดจะกระจัดกระจายไปทั่ว หรือ เป็นที่บริเวณรูขุม ขน ต่อมาจุดจะค่อย ๆ ขยายโตขึ้นเป็นผื่นราบ วงสี จางกว่าผิวหนังปกติ เกิดเป็นรอยด่าง (hypopigmentation) พบได้หลายสี เช่น ขาว น้ำตาล แดง ดำ

2. โรคกลาก (ring worm) – มีอาการคันมาก และอยากเกาตรงบริเวณที่เป็น รอยโรคมักจะเป็นวงนูนแดง มีขอบชัดเจน วง ขอบนี้จะประกอบด้วยจุดแดง หรือ ตุ่มแดงเล็ก เป็นตุ่มนูนแข็ง บางครั้งตุ่มนี้จะมีน้ำอยู่ข้างใน ตรงกลาง ของวงไม่แดงเท่าขอบ อาจแบนราบ และเป็นขุย

3. การติดเชื้อแคนดิด้า (Candidiasis) – มักพบตามซอก มีอาการคันหรือแสบมาก ๆ และอยากเกา มีลักษณะเป็นปื้นหรือตุ่มแดงจัด เยิ้มแฉะ บางครั้งผิวลอกขาวเป็นแผ่นออกมา อาจพบการกระจายของตุ่มน้ำได้ พบได้ในบริเวณที่อับชื่น หรือ อยู่กับน้ำ หรือผู้ที่อ้วน หรือเป็นเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม -> เชื้อราแมว สามารถติดต่อสู่คน ทำป่วยโรคผิวหนังได้

4. โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)

เป็นโรคที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง สามารถพบได้บ่อยทั้งในหน้าร้อน และหน้าหนาว โดยหน้าร้อนต่อมไขมันบริเวณผิวหน้าจะสร้างซีบัม (sebum) หรือไขมันออกมามาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเซ็บเดิร์มเกิดได้มากขึ้น โรคเซ็บเดิร์ม ถือเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ไม่ใช่โรคติดต่อ

• อาการแสดงของโรค

พบได้บ่อยบริเวณผิวหนังที่มีความมัน ลื่น เช่น ใบหน้า รอบ ๆ จมูก หนังศีรษะ ใบหู ผู้ป่วยเซ็บเดิร์ม มักมีอาการผมร่วงบริเวณหนังศีรษะที่เป็นเซ็บเดิร์ม ผิวหนังตกสะเก็ด เป็นรังแคบนหนังศีรษะ เปลือกตาอักเสบ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม -> โรคเซ็บเดิร์ม สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

5. ผดร้อน (Prickly heat)

เกิดจากการอุดตันของการหลั่งเหงื่อ ยิ่งร้อนมาก ยิ่งทำให้เหงื่อออกมาก และเป็นที่มาของการเกิดผดตามผิวหนัง พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ๆ ผู้สูงอายุ คนที่เจ้าเนื้อ หรือคนที่ต้องใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมาก ๆ

• อาการแสดงของโรค

มีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็กกระจายสม่ำเสมอ หรือบางครั้งจะเป็นเม็ดใส ๆ

  • ผดในเด็ก มักขึ้นรอบ ๆ คอ หน้าผาก หน้าขา และรักแร้
  • ผดในผู้ใหญ่ มักพบผดในบริเวณร่มผ้าที่มีการเสียดสี เช่น คอ หนังศีรษะ หน้าอก ลำตัว และข้อพับ

6. เกิดรอยด่างดำบนในหน้า (dark spots)

แสงยูวีจะกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทํางานมากขึ้น เกิดฝ้า (Melasma) และกระแดด (Freckles) รวมไปถึงรอยดําจากการอักเสบ เช่น สิว รอยสิว ปัญหารอยด่างดําต่าง ๆ นอกจากนี้การโดนแดดสะสมเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่มีการป้องกัน จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิด มะเร็งผิวหนัง ซึงจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป

• อาการแสดงของโรค

ขึ้นอยู่กับว่ารอยด่างดำนั้นเป็นกระแดด หรือฝ้า โดยสามารถแยกอาการได้ดังนี้

  • ฝ้า มีลักษณะเป็นปื้น ๆ แผ่น ๆ เม็ดสีติดกันเป็นรอยคล้ำ สีน้ำตาลอ่อน มักเกิดบริเวณโหนกแก้ม คาง หน้าผาก
  • กระแดด ลักษณะจะเป็นแผ่นสีน้ำตาลอ่อน ขอบเขตชัด ขนาด 0.3 – 2 เซนติเมตร

สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของฝ้า และกระแดด คือ ฝ้า จะมีลักษณะเป็นปื้นและมีขนาดใหญ่กว่าขอบเขตไม่ชัดเจน ขณะที่ กระ จะเป็นจุดกลม ๆ เล็ก ๆ มีขอบชัดเจน

วิธีดูแลผิวหนังในหน้าร้อนตามคำแนะนำของแพทย์

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนประชาชนต้องพบเจอกับโรคผิวหนังที่อาจมากับแสงแดด ดังนั้นควรดูแลสุขภาพผิวพรรณ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และสถานที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว
  2. ป้องกันแดดด้วยการกางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว
  3. อยู่ในที่มีอากาศเย็น ถ่ายเทได้สะดวก เช่น ห้องแอร์ หรือสวนสาธารณะที่ร่มรื่น
  4. อาบน้ำชำระร่างกายบ่อย ๆ หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำถูตัวทุกครั้งที่รู้สึกร้อน
  5. ดูแลร่างกายโดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  6. ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
  7. ทาครีมกันแดดให้เหมาะกับสภาพผิวอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการใช้ครีมบำรุงผิว
  8. หากต้องสัมผัสสารเคมีที่ระคายเคืองควรป้องกัน เช่น ใส่ถุงมือ รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงสถานที่มีมลพิษ
  9. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่
  10. หมั่นสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง เช่น สีผิวคล้ำ หนา ขรุขระมากขึ้นกดผิวแล้วเจ็บผิดปกติ หรือมีอาการชาที่ผิวให้รีบปรึกษาแพทย์

บรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนังด้วย ยาแก้แพ้ “ลอราทาดีน”

ลอราทาดีน คือ ยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน (non-sedating antihistamines) ใช้สำหรับบรรเทาอาการของลมพิษเรื้อรัง และอาการแพ้ทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น
ยานี้ยังใช้สำหรับบรรเทาอาการแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม น้ำมูกไหล คันจมูก คันตา แสบตา เนื่องจากโรคภูมิแพ้

 

อ้างอิง : 1. สสส. 2. สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย 3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 4. huachiewtcm 5. อย.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close