อากาศร้อนให้ระวัง! “โรคเซ็บเดิร์ม” ผื่นหนา ผิวแห้ง คัน : สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

โรคเซ็บเดิร์ม

เข้าสู่หน้าร้อน ใครหลาย ๆ คน อาจต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านผิวพรรณ เพราะ มีอากาศร้อนกระตุ้น เช่น มีผื่นขึ้นหน้า ผิวแห้ง คัน ซื้อครีมบำรุงมาทาก็ไม่เห็นจะหายสักที ลองมาเช็กกันว่า ผื่นที่เกิดขึ้นเป็นแค่ผื่นทั่วไป หรือจริง ๆ แล้ว มันเป็น “โรคเซ็บเดิร์ม” กันแน่? โดย Ged Good Life จะพาไปรู้จักถึง สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาเซ็บเดิร์ม ให้ครบ จบ ที่นี่ที่เดียว!

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

โรคเซ็บเดิร์ม คืออะไร?

โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น “โรคต่อมไขมันอักเสบ” “รังแคของใบหน้า” “โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน” เป็นโรคที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง สามารถพบได้บ่อยทั้งในหน้าร้อน และหน้าหนาว โดยหน้าร้อนต่อมไขมันบริเวณผิวหน้าจะสร้างซีบัม (sebum) หรือไขมันออกมามาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเซ็บเดิร์มเกิดได้มากขึ้น ส่วนในหน้าหนาว เมื่ออากาศแห้งเกินไปก็จะกระตุ้นให้เกิดผื่นเซ็บเดิร์มได้เช่นกัน

โรคเซ็บเดิร์ม ถือเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ นั่นหมายความว่าหากมีการสัมผัสผิวหนังคนที่เป็นโรคเซ็บเดิร์ม ก็จะไม่สามารถติดต่อกันได้

โรคเซ็บเดิร์ม มีสาเหตุจากอะไร?

ยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่แน่ชัดถึงสาเหตุของโรคเซ็บเดิร์ม แต่แพทย์สันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดจาก…

  • ฮอร์โมนร่างกาย
  • พันธุกรรม
  • การรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วน
  • ความเครียด
  • เชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง
  • สภาพอากาศที่เย็น และแห้ง
  • ภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด รวมทั้งการใช้ยารักษาโรค

การเกิดผื่นเซ็บเดิร์มเป็นการอักเสบจากภายใน ไม่ใช่การแพ้สัมผัสจากภายนอก (ไม่ได้มาจากการไม่รักษาความสะอาด หรืออาการภูมิแพ้แต่อย่างใด) มักเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย เช่น ภาวะเครียดทางจิตใจ ทำงานหนัก ใกล้สอบ อดนอน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นเซ็บเดิร์ม หรือบางรายที่เป็นผื่นเซ็บเดิร์มในบริเวณที่กว้างมาก อาจเป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ เช่น HIV โรคพากินสัน หรือโรคระบบทางเดินประสาทบางชนิด ซึ่งต้องทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจ

โรคเซ็บเดิร์ม

อาการของโรคเซ็บเดิร์ม

  • ผมร่วงบริเวณหนังศีรษะที่เป็นเซ็บเดิร์ม
  • ผิวหนังตกสะเก็ดเป็นรังแคบนหนังศีรษะ หรือบริเวณที่มีเส้นผม คิ้ว หรือ หนวดเครา
  • ผิวมันเป็นแผ่น ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง
  • มีสะเก็ดแข็งบนหนังศีรษะ ใบหู ใบหน้า หน้าอก รักแร้ ถุงอัณฑะ หรือตามร่างกายส่วนอื่น ๆ
  • มีอาการแดง คัน
  • เปลือกตาอักเสบ มีอาการแดง หรือมีสะเก็ดแข็งติด
  • ผิวลอก ตกสะเก็ด บางครั้งสะเก็ดที่หลุดลอกอาจจะเป็นสีเหลือง หรือขาว ที่เรียกว่ารังแค อาจจะเป็นได้บริเวณผม หรือคิ้ว

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคเซ็บเดิร์ม

  • เด็กแรกเกิด – 2 เดือน มักเกิดผื่นที่บริเวณศีรษะหรือใบหน้า และผู้ปกครองหลายท่านเข้าใจว่านั่นคือผื่นผ้าอ้อมทั่วไป
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 – 60 ปี ทั้งยังพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ โรคพาร์กินสัน หรือ ผู้ติดเชื้อ HIV

นพ. รัฐภรณ์ อึ๊งภากรณ์ อุปนายกวิเทศสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เซ็บเดิร์มในเด็กทารก และผู้ใหญ่ จะมีความแตกต่างกัน ดังนี้

เซ็บเดิร์มในเด็ก

เซ็บเดิร์มในบางรายเป็นได้ตั้งแต่เด็ก ๆ เช่น อายุประมาณ 2 – 3 เดือนถึง 6 เดือน เด็กบางคนที่เกิดมามีขุยสะเก็ดแดง ๆ ที่ศีรษะ ที่ใบหน้า แต่กลุ่มนี้มักจะเป็นแล้วก็หายไปเองภายใน 1 ปี บางคนอาจเรียกว่าผื่นผ้าอ้อม บางทีเป็นที่ศีรษะ หรือในร่มผ้าก็ได้

เซ็บเดิร์มในผู้ใหญ่

เซ็บเดิร์มในผู้ใหญ่ มักจะเป็นโรคที่เรื้อรังที่พบบ่อยในบริเวณศีรษะ อีกบริเวณที่พบคือ หว่างคิ้ว ง่ามจมูกและหลังหู ในบางคนถ้าเป็นแล้ว จะเริ่มลามลงมาที่ตรงกลางอกและแผ่นหลังลักษณะจะแห้ง ๆ ยิ่งเกา ยิ่งแกะ จะทำให้โรคนี้เป็นมากขึ้น

ข้อห้ามของโรครังแคคือห้ามทำอะไรแรง ๆ การสระผมก็ต้องเบา ๆ ห้ามเกา ซับเช็ดหน้าเบา ๆ การทายาก็ไม่ต้องถู ใช้แตะ ๆ เบา ๆ แทน การระคายเคืองไม่ได้เป็นสาเหตุ แต่จะกระตุ้นโรคให้เป็นมากขึ้น อย่างไรก็ตามท่านที่มีผื่นบนหน้าอย่าเหมาว่าตัวเองว่าเป็นเซ็บเดิร์ม คือมันมีอีกหลายโรคผิวหนังที่จะต้องคิดถึง

อาการที่คล้ายคลึงกับโรคเซ็บเดิร์ม มีอะไรบ้าง แยกแยะอย่างไร?

อาการของเซ็บเดิร์มอาจมีลักษณะคล้ายกับโรคผิวหนังบางชนิด ดังนี้

1. สิว (Acne) วิธีการสังเกตคือหากเป็นสิวอุดตัน จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ หัวปิดหัวเปิด ตุ่มดำ ตุ่มหนอง ตุ่มอักเสบ

2. โรค SLE หรือโรคพุ่มพวง ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่สามารถแยกออกจากกันได้เนื่องจากโรค SLE จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงที่ข้างแก้มเหมือนปีกผีเสื้อ และไม่ได้อยู่ชิดบริเวณข้างจมูกเหมือนกับผื่นเซ็บเดิร์ม

3. โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) ซึ่งลักษณะของผื่นคล้ายกับเซ็บเดิร์มมาก แต่เมื่อมีการซักประวัติคนไข้จะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสองโรคได้ เพราะส่วนมากผู้ที่เป็นผื่นแพ้สัมผัสมักมีการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ดูแลผิวใหม่ภายใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ครีมยี่ห้อใหม่ โฟมล้างหน้ายี่ห้อใหม่ เป็นต้น

4. โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นปื้นหนาสีแดง ขอบเขตชัดเจน ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ส่วนเซ็บเดิร์มผิวหนังจะมีความบางแผ่นผิวอาจจะเป็นสีขาว หรือสีเหลือง และมีน้ำมันของผิวหนัง

การรักษาโรคเซ็บเดิร์ม

สำหรับผู้ที่เป็นเซ็บเดิร์มบริเวณหนังศีรษะ แนะนำให้ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ Coal tar หรือ Ketoconazole นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงความเครียด และควรพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

เซ็บเดิร์มคือโรคที่ไม่อาจหายขาดได้ การรักษาจึงเป็นการควบคุมด้วยตัวยา เพื่อไม่ให้อาการเกิดความรุนแรง ดังนั้น ผู้ที่มีอาการต้องสงสัย หรือคล้ายคลึงโรคดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเพื่อรับคำปรึกษา และการรักษาที่ตรงจุด

การป้องกัน โรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มไม่อาจป้องกันการเกิดของโรคได้ แต่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้ด้วยการทำตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้ หลังจากอาการของโรคหายดีแล้ว

– เซ็บเดิร์มบนหนังศีรษะ สามารถใช้แชมพูต้านเชื้อรา เช่น แชมพูคีโตนาโซล (Ketoconazole) ทุก 1-2 สัปดาห์ หมักทิ้งไว้บนศีรษะ 5 นาทีก่อนจะล้างออก

– เซ็บเดิร์มตามร่างกาย ควรหมั่นทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่ และน้ำเปล่าเป็นประจำทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดคราบมันบนผิวหนังที่เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดเซ็บเดิร์ม และช่วยลดจำนวนของเชื้อราบนผิวหนัง

– หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แสงแดด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

– ใช้เครื่องสำอางชนิดที่เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย เพียงแค่นี้โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันอักเสบก็จะไม่มากวนใจอีก

 

อ้างอิง : 1. รพ. ราชวิถี 2. pobpad 3. รพ. เวิลด์เมดิคอล 4. matichon

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close