จะรู้ได้อย่างไรว่าเรา แค่เศร้า หรือ เป็นโรคซึมเศร้า และเมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

แค่เศร้า หรือ เป็นโรคซึมเศร้า

ในชีวิตคนเราย่อมต้องพบเจอกับความผิดหวัง ความล้มเหลว ความเศร้าโศกเสียใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นธรรมดากันทุกคน แต่เราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าเรา “แค่เศร้า หรือ เป็นโรคซึมเศร้า” กันแน่? และอาการมากน้อยแค่ไหนควรพบแพทย์? GED good life มีคำตอบรออยู่แล้ว พร้อมแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม (PHQ-9)

จะรู้ได้อย่างไรว่าเรา แค่เศร้า หรือ เป็นโรคซึมเศร้า ?

ความรู้สึกเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้า แต่ก็ไม่เหมือนกันสะทีเดียว จึงควรทำความเข้าใจถึงความแตกต่างเพื่อช่วยให้รู้ว่าเมื่อใดควรเข้ารับการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาความเป็นอยู่ และการใช้ชีวิตในสังคมให้ดีขึ้นได้ โดยอารมณ์เศร้านั้น เราแยกแยะมาให้ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. ความเศร้าปกติ 2. ภาวะซึมเศร้า และ 3. โรคซึมเศร้า ดังต่อไปนี้

1. ความเศร้าปกติ (normal sadness) ศัพท์อื่น ๆ feeling low, feeling down, หรือ feeling blue

ความเศร้า เป็นเพียงปฏิกิริยาปกติต่อการสูญเสีย ความผิดหวัง ปัญหา หรือสถานการณ์ที่ยากลำบากอื่น ๆ เป็นครั้งคราวเท่านั้น มนุษย์ทุกคนย่อมมีความรู้สึกเศร้าในชีวิตซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร (ทางจิตวิทยาถือเป็นสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวกับบุคคลทั่วไป)

บางคนอาจพูดว่าพวกเขารู้สึก ‘หดหู่’ กับปัญหาชีวิตที่ผ่านเข้ามา หรือสงสัยว่าเป็นอาการของซึมเศร้า แต่ถ้ามันหายไปเอง และไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตในวงกว้าง ก็ไม่ใช่อาการป่วยจากโรคซึมเศร้าแต่อย่างใด หากคุณรู้สึกเศร้า หดหู่ เป็นครั้งคราว เพียงแค่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ได้ทำงานอดิเรก หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่ทำให้รู้สึกเศร้าได้แล้ว อาการเศร้าก็จะหายไปเอง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติอย่างเดิม

• ลักษณะอาการของความเศร้าปกติ

  • รู้สึกเศร้า ผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
  • ความเศร้าจะไม่อยู่ตลอดไป และจะหายได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งยา หรือปรึกษาแพทย์
  • เมื่อได้ทำกิจกรรม นอนพักผ่อนเพียงพอ หรือแก้ไขปัญหาได้แล้ว อาการเศร้าก็จะดีขึ้น และหายไป

2. ภาวะซึมเศร้า (depression)

ต่างจากความเศร้าปกติตรงที่อาจไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์จริง แต่อาจเกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้า หรือคิดไปเอง (และถ้าเกิดจากเหตุการณ์สูญเสียจริงก็มักจะมีอาการเศร้ามากเกินควร และนานเกินไป)

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจรู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง มักรู้สึกด้อยค่าตนเอง รู้สึกผิด อยากตาย (บางคนอาจโกรธ หรือหงุดหงิด) และพบบ่อยว่ามีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน กิจวัตรประจำวัน และการเข้าสังคม ในรายที่รุนแรงก็จะมีอาการทางกายด้วย เช่น มีความผิดปกติของการนอน (นอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับ) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออยากอาหารมากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น

• ลักษณะอาการของภาวะซึมเศร้า

  • รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง รู้สึกผิดอย่างไม่มีเหตุผล อยากตาย
  • อาการซึมเศร้าจะกินเวลานานกว่าสองสัปดาห์ และมักจะไม่หายไปเอง
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ความอยากอาหาร และความเจ็บปวดไม่สามารถอธิบายได้

3. โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder – MDD)

เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาที่อุบัติมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมปัจจุบัน ทางการแพทย์จะถือว่าเป็นโรคซึมเศร้า ก็ต่อเมื่อมีอาการครบตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความผิดปกติที่มีอารมณ์ซึมเศร้านานต่อเนื่อง ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยซึมเศร้าสังเกตตัวเองว่า เริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้า และเข้าปรึกษาจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมกับได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง และจะกลับมาเป็นผู้ที่มีจิตใจแจ่มใส พร้อมทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ดังเดิม

• ลักษณะอาการของโรคซึมเศร้า

  • มีความคิดช้า คิดเรื่องที่เป็นด้านลบ รู้สึกท้อแม้ หมดหวัง ความสนใจในกิจกรรมรอบตัวลดน้อยลงมาก
  • นอน น้อยลง นอนไม่หลับ การกินเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่มักพบเป็นการเบื่ออาหาร กินน้อยลง
  • พูดน้อยลง ซึมลง เก็บตัว นั่งครุ่นคิด หรือร้องไห้บ่อยๆ
  • อาการมักเกิดต่อเนื่องทุกวัน เป็นช่วง แต่ละช่วงมีอาการนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป และอาการอาจยาวนานได้ถึง 6 เดือน

โรคซึมเศร้ารักษาหายได้ ด้วยยาต้านเศร้า อย่างน้อย 6-9 เดือน หรือรักษาด้วยจิตบำบัด

สงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าอยู่รึเปล่า?

หากคุณกำลังสงสัยว่า ตัวเองกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า มีอาการทางจิตเปลี่ยนแปลงไป สามารถทำแบบประเมินโรคซึมเศร้า9 คำถาม (PHQ-9) เพื่อประเมินอาการตนเองเบื้องต้น ก่อนเข้าพบจิตแพทย์ ได้ที่นี่

ทำแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม —> คลิกที่นี่

3 ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคซึมเศร้า

แพทย์จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นโรคทางจิตเวชนี้ ได้แก่

1. กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มี อาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง

2. สารเคมีในสมอง พบว่า ระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน และนอร์เอพิเนฟริน ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้เศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์ โดยการไปปรับสมดุลของระบบสารเคมีเหล่านี้

3. แนวคิด บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือมองโลกในแง่ร้าย บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย หากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม

วิธีป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

ศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย แนะนำวิธีป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไว้ทั้งหมด 10 วิธี ดังต่อไปนี้

– คุยกับคนที่ไว้ใจ เกี่ยวกับอารมณ์เศร้า และเรื่องที่ทำให้เศร้า หลายคนรู้สึกดีขึ้นหลังจากการพูดคุย

– ทำกิจกรรมที่เคยทำแล้วมีความสุข

– ไปมาหาสู่พบปะพูดคุยกับเพื่อน และครอบครัวบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ

– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้เป็นการเดินระยะสั้นก็ได้ จนเหงื่อซึมไหล นาน 30 นาที

– รับประทานอาหาร และนอนให้เป็นเวลาทุก ๆ วัน

– ทำใจกับอาการซึมเศร้า ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นได้ ความคาดหวังในสิ่งต่าง ๆ อาจจะไม่เป็นไปตามที่เคยเป็น

– งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามใช้ยาเสพติด เพราะทำให้อาการซึมเศร้าเป็นมากขึ้น

– ไปพบแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรือบุคลากรสาธารณสุข ท่านจะได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ทันท่วงที และเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการ รักษา

– ให้รีบขอความช่วยเหลือจากบุคลากรสาธารณสุขโดยด่วน หากท่านคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง

– ให้ระลึกอยู่เสมอว่าการได้รับดูแลรักษาที่ถูกวิธี จะทำให้ท่านอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และหายขาด

โปรดจำไว้เสมอว่า… ภาวะซึมเศร้ารักษาหายได้ หากท่าน หรือคนใกล้ตัวรู้สึกซึมเศร้า อย่าลังเล…ไปหาความช่วยเหลือทันที

 

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

อ้างอิง : 1. HeretoHelp 1. รพ.ธนบุรี 2. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 3. ศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close