แม่ท้องเตรียมพร้อมรับมือ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด”

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) นั้นเป็นภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับแม่ ๆ หลายคนในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ ซึ่งสาเหตุยังไม่แน่ชัด ฉะนั้นอย่าวางใจว่าตัวเองเป็นแม่ที่แฮปปี้ ไม่มีเรื่องให้วิตกกังวลใด ๆ เพราะภาวะซึมเศร้าอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับสภาพจิตใจเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจะจู่โจม ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว

 สาเหตุภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

  • เจ็บปวดจากการคลอด เสียเลือด อ่อนเพลีย
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์จนคลอดอย่างกะทันหัน เช่น
    การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในระยะหลังคลอดทันที มีผลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้
  • ป่วย มีประวัติภาวะซึมเศร้าตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • มีเรื่องเครียดวิตกกังวล เช่น ทะเลาะกับสามี ปัญหาครอบครัว เรื่องเงินทอง ท้องไม่พร้อม
  • ความคาดหวังจากสังคม กลัวเลี้ยงลูกไม่ได้ กลัวทำหน้าที่แม่ได้ไม่ดี

 ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แบ่งได้เป็น 3 ระดับ

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุด ภาวะนี้อาการไม่รุนแรง หายเองได้ ช่วงนี้แม่จะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย ร้องไห้บ่อย วิตกกังวล เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อาการจะเกิดแค่ช่วง 4-5 วันหลังคลอด จะมีอาการอยู่ประมาณ 10 วัน

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) เกิดขึ้นในช่วงเดือนแรกหลังคลอด อาการจะเหมือนโรคซึมเศร้าทั่วไป คือ มีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่ายไปหมด หมดเรี่ยวแรง รู้สึกผิด วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ บางคนอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งถือว่าอาการค่อนข้างรุนแรง

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis) พบได้ไม่บ่อย อาการจะค่อนข้างรุนแรง ช่วงแรกอาจจะมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ แต่หลังจากนั้นก็จะมีอารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว มีอาการประสาทหลอน ไม่สามารถดูแลลูกได้

ขอบคุณภาพอินโฟกราฟิก จาก “กรมสุขภาพจิต”

 สัญญาณเตือนภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

● รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง เคว้งคว้าง
● อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด
● ร้องไห้บ่อยกว่าปกติ อยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้แบบไม่มีเหตุผล
● มีความวิตกกังวลมากเกินไป กลัวจะเลี้ยงลูกไม่ได้
● ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย
● นอนไม่หลับ แม้ในช่วงเวลาที่ลูกหลับแล้ว

 เตรียมรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด

● กินอาหาร ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรดูแลให้แม่หลังคลอดดื่มน้ำให้ได้วันละ 8-10 แก้ว และกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งอาหารจะช่วยบำรุงร่างกาย เซลล์ต่าง ๆ ให้ทำงานได้เป็นปกติ แต่หากมีอาการซึมเศร้า เบื่ออาหาร กินอะไรไม่ลง อาจจะแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่เน้นให้กินหลายมื้อมากขึ้น

● กินวิตามินบำรุงครรภ์ต่อหลังคลอด นอกจากการกินอาหารให้เพียงพอแล้ว แนวคิดของเบ็คและดริสคอลล์ (Beck & Driscoll, 2006) ได้เสนอแนวทางว่า สำหรับแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด สามารถรับประทานยาบำรุงที่เคยใช้ในระยะตั้งครรภ์ต่อได้

● ลดความเครียด ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่ก่อนคลอด ช่วงที่กำลังตั้งท้อง พยายามทำใจให้สบาย คิดแต่เรื่องที่ทำให้มีความสุข ออกไปเที่ยว เดินเล่น พักผ่อนบ้าง

● มีเวลาให้กับตัวเองบ้าง หลังคลอดถึงแม้ลูกจะต้องมาเป็นอันดับแรก แต่ก็ต้องหาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองบ้าง อาจจะวันละ 1 ชั่วโมง ที่มีพี่เลี้ยงหรือมีคนช่วยดูแลลูก ลองนอนแช่น้ำอุ่น เปิดเพลงฟัง หรือนอนดูซีรี่ย์สักเรื่อง ระหว่างที่ลูกกำลังหลับโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก

● ความเข้าใจจากคนรอบข้าง การมีคนได้พูดคุยระบายความเครียดต่าง ๆ จะช่วยลดความวิตกกังวลลงได้ ลองโทรหา แชตไปคุยกับเพื่อน ชวนเพื่อนมาเยี่ยมบ้าง

● ให้สามีช่วยแบ่งเบา ลองคุยว่าสามีจะช่วยดูแลลูกอย่างไรได้บ้าง อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ชงนม เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือดูแลเรื่องอาหารการกิน นอกจากช่วยลดความเครียดของแม่แล้ว ยังช่วยให้แม่รู้สึกถึงความรักและเอาใจใส่จากสามี ลดอาการน้อยใจว่าต้องดูแลลูกเพียงลำพัง

● ทำตัวเป็นคุณแม่ไฮเทค หากกลัวว่าจะต้องวุ่นวายกับหน้าที่ของการเป็นแม่ เลี้ยงดูลูก และการต้องทำงานบ้านไปพร้อมกัน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องกังวลไป เพราะอุปกรณ์ไฮเทคช่วยให้แม่สบายขึ้น ทั้งหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า หรือไม่มีเวลาทำกับข้าวก็โทรสั่ง Line Man เรียก Grab Food ได้ไม่มีปัญหา เป็นคุณแม่เลี้ยงลูกสวย ๆ อย่างสบายใจได้เลย

● ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สารเอนโดรฟินที่หลั่งจากการออกกำลังกายมีผลทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า หลังคลอดหากยังออกกำลังกายไม่ได้มาก อาจจะออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินเล่น หรือทำโยคะท่าง่าย ๆ

● ลดการรับข่าวสาร เล่นโซเชียลให้น้อยลง เรื่องราววุ่นวาย ข่าวสารมากมายที่ไหลผ่านไทม์ไลน์ในโซเชียลแต่ละวันอาจทำให้รู้สึกเดี๋ยวสุข เดี๋ยวเศร้าได้ หลายเรื่องก็ทำให้เราวุ่นวายใจกับเรื่องคนโน้นคนนี้ ดังนั้นพยายามลดการเล่นโซเชียลให้น้อยลง อาจจะลดเวลาลงเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในแต่ละวัน แล้วลองเปลี่ยนเป็นฟังเพลง อ่านหนังสือแทน

● นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ แม่หลังคลอดมักจะวิตกกังวลตลอดเวลาทำให้นอนไม่หลับ หรืออาจจะต้องดูแลลูกจนทำให้ไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ แม่อาจจะงีบหลับเป็นช่วงสั้น ๆ ในระหว่างที่ลูกหลับในตอนกลางวันเพื่อให้ร่างกายได้พักบ้าง

● ปรึกษาแพทย์ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด แต่หากมีอาการติดต่อกันต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษา หรืออาจจะต้องใช้ยาเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น

การรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอดต้องอาศัยทั้งตัวแม่เอง และที่สำคัญคือคนรอบข้าง สามี เพื่อนญาติพี่น้องก็ต้องหมั่นคอยสังเกตด้วยนะคะ แล้วคุณแม่จะผ่านเรื่องร้าย ๆ ไปได้อย่างแน่นอน

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close