กรมอนามัยเตือน! แอร์สกปรก เสี่ยง “ปอดอักเสบ” พร้อมแนะนำ วิธีดูแลแอร์อย่างเหมาะสม

แอร์สกปรก

ปีนี้ คุณล้างแอร์แล้วหรือยัง? เพราะ แอร์สกปรก อาจนำมาซึ่งโรคร้ายต่าง ๆ ได้มากมาย และยังเป็นเหตุให้เปลืองค่าไฟฟ้าอีกด้วยนะ และวันนี้ GedGoodLife มีเคล็ดลับการดูแลแอร์อย่างถูกวิธีมาฝาก มาติดตามกันเลย!

decolgen ดีคอลเจน

กรมอนามัยเตือน! แอร์สกปรก เสี่ยงเกิดโรคปอดอักเสบ 

อธิบดีกรมอนามัย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน หลายคนต้องเปิดแอร์เพื่อคลายความร้อนในเวลากลางวัน และกลางคืน ซึ่งอาจแฝงไปด้วยอันตราย เพราะในแอร์มีความชื้น ทั้งตัวแอร์ และท่อของแอร์ ที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา ซึ่งหากหายใจเอาฝอยละอองน้ำที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนเข้าไป จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยลักษณะอาการมี 2 แบบ คือ

  1. แบบปอดอักเสบรุนแรง มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น เรียกว่าโรคลิเจียนแนร์
  2. แบบที่มีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียกไข้ปอน ตีแอก หรือปอนเตียก

แอร์สกปรก เสี่ยงโรคร้ายอะไรบ้าง ? 

หากเราอยู่ในห้องแอร์ที่ไม่สะอาด ไม่เคยล้างแอร์เลย อาจเป็นเหตุให้เราเสี่ยงต่อโรค และอาการดังต่อไปนี้ได้

1. โรคทางเดินหายใจ

นพ.อิทธิชัย วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป แผนกประกันสังคม รพ.กล้วยน้ำไท 1 กล่าวว่า ด้านในโพรงจมูกของคนเรามีเส้นเลือดแดงขนาดเล็ก และผนังบางจำนวนมาก ทำหน้าที่ปรับอากาศที่เย็น หรือแห้ง จากภายนอกให้มีความอบอุ่น และความชื้นเหมาะสมกับอุณหภูมิของร่างกาย

แต่ในสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น โดยเฉพาะหากมีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เซลล์ต่าง ๆ อย่างเซลล์เยื่อบุโพรงจมูก คอ หลอดลม ฯลฯ จะแห้งลงกว่าเดิมทำให้ไม่มีเมือกมาป้องกันเซลล์จากเชื้อโรค เชื้อโรคจึงสัมผัสกับเซลล์ได้โดยตรง โดยเฉพาะอากาศที่เย็นเพราะเครื่องปรับอากาศ รวมถึงไม่มีการถ่ายเทภายในห้อง เชื้อไวรัสจะเจริญเติบโตได้ดีมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ก่อให้เกิดโรคหวัด คัดจมูก แสบจมูก หรือเกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งนำไปสู่โรคทางเดินหายใจได้

2. โรคลีเจียนแนร์

โรคคลีเจียนแนร์ หรือโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน มีสาเหตุคือเชื้อลีเจียนแนร์ทซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ที่มีหอผึ่งเย็น เช่น ในห้างสรรพสินค้า อาคาร ฮอลล์ หรือในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งโรคนี้จะทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ โดยอาการจะรุนแรงขึ้นภายในหนึ่งวัน ผู้ป่วยอาจมีไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส มีอาการไอแห้ง ปวดท้อง หรือบางรายมีอาจอาการท้องร่วงร่วมด้วย

กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้คือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ส่วนในคนกลุ่มอื่นพบโรคนี้ได้น้อยมาก โดยแบคทีเรียลีเจียนแนร์นี้ มักจะแฝงตัวมากับอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ ยิ่งในห้องที่มีความอับชื้นสูงอย่างห้องปรับอากาศ โดยที่เครื่องปรับอากาศก็ไม่ได้ภูกทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เชื้อลีเจียนแนร์ก็จะจู่โจมร่างกายของเราได้ง่ายขึ้น เป็นต้นเหตุของอาการปอดอักเสบ หรือปอดมีจุดขาว ๆ ซึ่งหากแบคทีเรียลีเจียนแนร์ลามไปกินเนื้อปอดทั้งสองข้างแล้ว ก็อาจนำมาซึ่งภาวะหายใจล้มเหลวได้

3. โรคไข้ปอนเตียก

โรคไข้ปอนเตียกไม่ใช่โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาต่อแอนติเจนที่สูดหายใจเข้าไป ซึ่งแม้จะไม่ก่อให้เกิดอาการปอดบวม แต่หากปล่อยให้อากาศปนเชื้อโรคจากแอร์เข้ามาทำให้ป่วย ก็จะทำให้ตัวเราไม่สบายตัวไปประมาณ 2-5 วัน แต่หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ หายไปเอง

4. โรคภูมิแพ้

ในเครื่องปรับอากาศมีเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสอยู่มาก แอร์เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ต้องมีการดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หากขาดการดูแลที่ดี ก็จะเป็นที่รวบรวมเอาฝุ่นหนึ่งในสารก่อภูมิแพ้มารวมกันไว้ได้ เป็นเหตุให้การอยู่ในห้องแอร์ที่ไม่ได้ทำความสะอาดอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

5. โรคตึกเป็นพิษ

หนึ่งในกลุ่มของออฟฟิศซินโดรมที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ ตาลาย เพียงเพราะบรรยากาศภายในตึกทำงาน โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome (SBS) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการอ่อนล้า ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองดวงตา และมีความผิดปกติของประสาทรับกลิ่น โดยสาเหตุของโรคตึกเป็นพิษมักเกิดจากอากาศเย็น ๆ ที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศในอาคารที่มี เช่น สารระเหยจากสีทาผนัง เครื่องซีร็อกซ์ พรินเตอร์ ไม้อัด สารเคลือบเงาทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งไรฝุ่นในพรมรวมอยู่ด้วย

งานวิจัยจากวารสาร International Journal of Epidemiology ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2004 ยังชี้ชัดว่า คนที่ทำงานในห้องแอร์มีความเสี่ยงต่ออาการป่วยสูงกว่าคนที่ทำงานกลางแจ้งไม่น้อยเลยทีเดียว

6.ผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ

หากเปิดแอร์แล้วรู้สึกได้ถึงกลิ่นอับ ๆ นั่นแปลได้ว่าเครื่องปรับอากาศของคุณมีเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียอยู่มากจนแสดงออกมาด้วยกลิ่น ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงโรคทางเดินหายใจแล้ว อากาศเย็น ๆ ที่ปนเชื้อโรคจากแอร์ออกมานั้นเมื่อโดนเข้ากับผิวของเรา อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคผิวหนังอักเสบ และผื่นคันได้ด้วย

7. ภาวะติดเชื้อ

ร่างกายของคนที่อยู่ในห้องแอร์ ยิ่งกับคนที่อยู่ในห้องแอร์นาน ๆ ก็เสี่ยงจะติดเชื้อโรคที่ไหลเวียนอยู่ทั้งในห้องและเครื่องปรับอากาศได้มาก และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อได้มากกว่าคนที่อยู่กลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือไม่ได้ค่อยได้ออกกำลังกาย

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (The Environmental Protection Agency : EPA) เผยข้อมูลที่น่าตกใจมากว่า จริง ๆ แล้วอากาศภายในห้องแอร์อาจเป็นมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกหลายเท่าตัว เนื่องจากเครื่องปรับอากาศจะหมุนเวียนอากาศภายในห้องมาเป็นลมเย็น ๆ ซึ่งเท่ากับว่าในห้องแอร์นั้น ๆ ไม่ได้มีอากาศถ่ายเทจากที่ไหนเลย

8. ผิวแห้ง

ลมที่ปะทะผิวโดยตรงนั้นจะทำให้ผิวแห้งตึง และขาดน้ำได้ง่าย ส่งผลให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร ได้ การอยู่ในห้องปรับอากาศจะทำให้เราสูญเสียน้ำในร่างกายมากขึ้น เนื่องจากความเย็นจะทำให้อากาศแห้ง ดังนั้นหากอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ โอกาสที่ผิวจะแห้งกร้าน และก่อให้เกิดอาการคันก็จะมากขึ้นไปด้วย ซึ่งหากมีอาการคันจากการที่ผิวแห้งตึง และเกาจนผิวมีรอยถลอก อาจทำให้ติดเชื้อทางผิวหนังได้ง่ายขึ้น

9. โรคอ้วน

อากาศเย็น ๆ ที่มาจากแอร์ทำให้ตัวเรารู้สึกขี้เกียจ ขาดการทำกิจกรรมที่ช่วยเผาผลาญพลังงานอย่าง การทำงานบ้าน หรือการออกกำลังกาย ซึ่งนำไปสู้โรคอ้วนได้ และจากงานวิจัยจาก University of Alabama รัฐเบอร์มิงแฮม ระบุชัดเจนถึงประเด็นการอยู่ห้องแอร์สามารถทำให้อ้วนขึ้นได้ โดยเผยว่า

การอยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศคอยควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในองศาพอเหมาะ ร่างกายก็ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้เรา ลดโอกาสในการเบิร์น หรือได้ดื่มน้ำเยอะขึ้นแทนที่จะกินจุบจิบ อีกทั้งส่วนมากอากาศสบาย ๆ ยังจะคอยยุยงให้เราเพลิดเพลินกับการกินได้มากขึ้น ในขณะที่ร่างกายก็จะรู้สึกขี้เกียจมากขึ้นไปด้วย และปัจจัยเหล่านี้นี่อาจทำให้เราน้ำหนักขึ้นแบบไม่รู้ตัวได้

แอร์สกปรก


การป้องกันตนเองจากเชื้อโรคต่าง ๆ ด้วยการดูแล และทำความสะอาดแอร์เป็นประจำ

แอร์ที่ใช้ตามบ้านเรือน

  • เมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศ  ควรสังเกตุอากาศที่ออกมา หากมีกลิ่นควรล้างทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศที่อยู่ในแอร์ด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือควรเรียกช่างเพื่อทำความสะอาดแอร์แบบเต็มระบบ
  • ควรล้างแผ่นกรองอากาศอย่างน้อยเดือนละครั้ง ด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แล้วใช้น้ำฉีดแรง ๆ ที่ด้านหลังให้ฝุ่น และสิ่งสกปรกหลุดออก
  • ควรล้างแอร์โดยช่างที่มีความชำนาญทุก 6 เดือน หากใช้เป็นประจำ หรือปีละครั้ง

แอร์ระบบรวม เช่น แอร์ในสำนักงานห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม

  • ควรเปิดน้ำทิ้งจากหอหล่อเย็น  (CoolingTower) ให้แห้งเมื่อไม่ได้ใช้ ทำความสะอาด ขัดถูคราบไคลตะกอน เติมสารชีวฆาต (Biocides)ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อฆ่าเชื้อรา
  • ทำความสะอาดหอหล่อเย็นอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน เพื่อป้องกันตะไคร่เกาะ
  • ทำลายเชื้อโรคโดยใส่คลอรีนให้มีความเข้มข้น 10 ppm เข้าท่อที่ไปหอผึ่งเย็นให้ทั่วถึงทั้งระบบไม่น้อยกว่า 3-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นรักษาระดับคลอรีนให้ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 0.2 ppm
  • สำหรับแอร์ในห้องพัก  ต้องทำความสะอาดถาดรองน้ำที่หยดจากท่อคอยล์เย็นทุก 1-2 สัปดาห์  เพื่อป้องกันตะไคร่เกาะ หรือใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาตรฐานของกรมอนามัย  เรื่องข้อปฏิบัติการควบคุมเชื้อลิจิโอเนลลาในหอผึ่งของอาคารในประเทศไทย

วิธีดูแลทำความสะอาดแอร์ ช่วงหน้าฝน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

แอร์สกปรกเสี่ยงโรค

1. ปรับอุณหภูมิให้ถูกต้อง
2. อย่าวางคอมเพรสเซอร์แอร์ต่ำจนเกินไป
3. ไฟตกต้องรีบสับปิดเบรกเกอร์
4. ติดตั้งสายดินทุกครั้ง
5. ตรวจสอบกลิ่นอับ
6. ตรวจสอบไฟฟ้ารั่ว


อ้างอิง

1. nationtv  2.  multimedia.anamai.moph.go.th

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close