คุณภาพชีวิตที่สูญไป… “หูตึง” สาเหตุ อาการ ทางแก้ไข

หูตึง

เคยทะเลาะกับคนรอบข้างเพราะเรื่อง “ไม่ได้ยิน” บ้างมั้ยคะ? เรียกแล้วทำเป็นไม่สนใจ หรือดูเหมือนไม่ตั้งใจฟังในสิ่งที่กำลังพูดอยู่… บางทีคน ๆ นั้นอาจจะไม่ได้ยิน เพราะมีอาการ หูตึง อยู่ก็ได้นะ

ระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยิน

หูตึง (Hearing loss) นั้นมีอยู่หลายระดับ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ตามความสามารถในการรับฟัง คือ

  • หูตึงน้อย ไม่ได้ยินเสียงพูดเบาๆ แต่ได้ยินเสียงพูดปกติ อาจต้องใช้เครื่องช่วยฟังในบางครั้ง
  • หูตึงปานกลาง ต้องพูดดังกว่าปกติจึงจะได้ยิน จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังขณะพูดคุยกับผผู้อื่น
  • หูตึงมาก ไม่ได้ยินเสียงพูดที่ดังมาก ต้องใช้เครื่องช่วยฟังตลอดเวลา
  • หูตึงรุนแรง ต้องตะโกน หรือใช้เครื่องขยายเสียงจึงจะได้ยิน แต่ก็ยังได้ยินไม่ชัดเจน
  • หูหนวก ไม่ได้ยินที่ผู้อื่นพูดเลย แม้จะตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงแล้วก็ตาม

แบบไหนถึงเรียกว่า หูตึง

ผู้ที่มีอาการ หูตึง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบชั่วคราว และถาวร โดยอาจมีอาการต่อไปนี้

  • มักขอให้ผู้อื่นพูดซ้ำ ๆ ช้า ๆ และดัง ๆ คิดว่าคนอื่นพูดเบาเกินไป หรือพูดไม่ชัดเจน
  • มีปัญหาด้านการได้ยิน โดยเฉพาะเวลาที่มีเสียงแทรกรบกวน หรือเมื่ออยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก
  • ได้ยินเสียงพยัญชนะต่าง ๆ ไม่ชัดเจน
  • มักเอามือป้องหูขณะฟังคนอื่นพูด ต้องหันหน้าไปหาผู้พูด หรือโน้มตัวไปใกล้ ๆ จึงจะได้ยิน
  • เร่งเสียงโทรทัศน์ วิทยุ หรือฟังเพลงด้วยเสียงที่ดังกว่าปกติ
  • รู้สึกวิงเวียน ได้ยินเสียงกริ่ง หรือเสียงหึ่ง ๆ อยู่ในหู
  • อยากหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับผู้อื่น ๆ เพราะมีปัญหาด้านการได้ยิน
  • ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการฟังคนอื่นพูด จนอาจทำให้รู้สึกเครียดหรือเหนื่อยได้

สาเหตุของหูตึง

อาการหูตึง ทั้งแบบชั่วคราว และแบบถาวร สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

– หูตึง จากการฟังเสียงดัง มักเกิดจากการฟังเสียงดังนาน ๆ จนเซลล์ขนในชั้นหูชั้นใน ถูกทำลาย (ความดัง มากกว่า 85 เดซิเบลขึ้นไป) โดยอาจเป็นอาการหูตึงชั่วคราว หรือหูตึงแบบถาวรก็ได้ และไม่มีวิธีรักษา

– น้ำในหูไม่เท่ากัน (มินิแอร์) โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความดันของของเหลวในหูชั้นในสูงกว่าปกติ ทำให้เซลล์ขนของหูชั้นในถูกทำลาย โดยมีอาจอาการเหมือนประสาทหูเสื่อม มีเสียงดังรบกวนในหู และมีอาการเวียนศีรษะอาการแรกเริ่มคือ จะไม่ค่อยได้ยินเสียง โดยมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ หลัง ๆ อาจมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงขึ้น คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย

– หูตึงจากยา เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ สารประกอบจำพวกสารหนู ตะกั่ว ปรอท และยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแก้อักเสบต่าง ๆ หากหยุดยา อาการอาจดีขึ้นได้เอง

– อายุที่เพิ่มขึ้น หรืออาการหูตึงจากวัยชรา เมื่ออายุเกิน 50 ปี เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายก็เริ่มเสื่อมถอยลง เซลล์ขนในหูชั้นในเอง ก็อาจค่อย ๆ เสื่อมสภาพตามกาลเวลาได้เช่นกัน

– เนื้องอกที่เส้นประสาทหู จะมีอาการหูตึงเพียงข้างเดียว โดยอาการจะเริ่มจากมีเสียงดังรบกวนในหู ฟังไม่ค่อยชัด จับใจความหรือจับคำพูดไม่ค่อยได้ และค่อย ๆ มีความรุนแรงมากขึ้น หากเนื้องอกโตมาก อาจกดทับประสาทจนทำให้มีปัญหาด้านการมองเห็น หน้าเบี้ยว และเริ่มทรงตัวไม่ค่อยดี

– หูตึงเฉียบพลัน หรือ หูดับ เกิดจากการติดเชื้อของหูชั้นใน ทำให้มีเลือดมาหล่อเลี้ยงหูชั้นในไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากเนื้องอกกดทับเส้นประสาทหู มากดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน อันตรายมาก

– เกิดอุบัติเหตุในหูชั้นใน เกิดจากหูถูกกระทบกระแทก ถูกตีที่กกหู หรือถูกกระแทกอย่างแรงจากด้านหลังศีรษะ จนทำให้กระดูกหูชั้นในแตกหรือร้าว โดยอาจมีอาการหูตึงเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงหูหนวก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ ชาบริเวณใบหน้าส่วนที่ใกล้เคียงกับหูข้างที่มีปัญหา

หูตึง

การรักษา

การรักษาอาการหูตึง จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ดังนี้

– กำจัดขี้หูที่อุดตัน หากอาการหูตึงเกิดขึ้นจากมีขี้หูอุดตัน ก็สามารถรักษาได้โดยการล้างหู ใช้ยาหยอดหู หรือใช้อุปกรณ์สุญญากาศดูดขี้หูออกมา

– ใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นการใส่อุปกรณ์สำหรับช่วยฟังขนาดพอดีกับหู เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงชัดเจนมากขึ้น มักนำไปใช้กับผู้ป่วยที่หูตึง เนื่องจากหูชั้นในได้รับความเสียหาย

– ฝังประสาทหูเทียม เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปที่หูชั้นใน ประสาทหูเทียมจะทำหน้าที่แทนหูชั้นในที่ได้รับความเสียหาย วิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วยหูตึง ที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณประสาทรับเสียงเท่านั้น

– ผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด หากอาการหูตึงเกิดจากบางสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในหูซ้ำๆ บาดเจ็บที่หูอย่างรุนแรง หรือโรคหินปูนเกาะกระดูกหู

วิธีป้องกันหูตึงหูหนวก

– หลีกเลี่ยงการได้ยินเสียงดังมาก ๆ เป็นเวลานาน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมเครื่องป้องกันขณะอยู่ในที่ทำงาน และไปพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบการได้ยินเป็นระยะ ๆ

– หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู ไม่ซื้อยามาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถ้าได้รับยาจากแพทย์แล้วมีอาการหูตึง ให้รีบกลับไปพบแพทย์ทันที


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close