ทำอย่างไร เมื่อลูก ไอ สำลักสิ่งแปลกปลอม?

เด็กไอ สำลักสิ่งแปลกปลอม ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะหลายครั้งที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราว โดยอาการ สำลักสิ่งแปลกปลอม มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น หยิบคว้าของยัดใส่รูจมูก เอาเข้าปาก หรือกินอาหารแบบไม่ระวัง ไม่เคี้ยวให้ละเอียด วิ่งเล่นไปด้วย ก็ทำให้สำลักอาหารได้

อันตรายจากการ สำลักสิ่งแปลกปลอม

1. ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่งทางเดินหายใจมีขนาดเล็กอยู่แล้ว การอุดกั้นแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้เป็นอันตรายเสียชีวิตได้

2. เกิดการอุดกั้นของหลอดลมส่วนปลาย ทำให้เกิดภาวะปอดแฟบ ปอดพอง หรือหอบหืดได้

3. เกิดการอุดกั้นการระบายของเสมหะในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปัญหาการอักเสบติดเชื้อตามมาเช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ เป็นต้น

4. สิ่งแปลกปลอมบางชนิดทำลายของเนื้อเยื่อ เช่น ถ่านนาฬิกา ถ่านเครื่องคิดเลข เมื่อตกค้างในทางเดินหายใจจะทำปฏิกิริยากับเสมหะ หรือสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ เกิดเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่างเข้มข้น รั่วซึมออกจากตัวถ่าน ทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อข้างเคียงอย่างรุนแรง จนบางครั้งเกิดการทะลุของอวัยวะภายในเข้าสู่ช่องอกเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อาการเมื่อสำลักสิ่งแปลกปลอม

  • เด็กจะมีอาการ ไอรุนแรง สำลัก
  • มีอาการหายใจเสียงดัง หายใจลำบาก
  • พูดไม่ออก ถ้าสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่กล่องเสียง จะเสียงแหบ
  • ถ้าสิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่จนปิดกั้นทางเดินหายใจ จะมีอาการหน้าเขียว เล็บเขียว

สำลักสิ่งแปลกปลอม

ทำอย่างไรเมื่อลูก สำลักสิ่งแปลกปลอม

กรณีเด็กเด็กทารกที่ไม่หมดสติ แต่ไม่สามารถไอได้ ร้องไม่มีเสียง

– วางเด็กบนตักของผู้ช่วยเหลือ หากสามารถทำได้ให้ถอดเสื้อผ้าเด็กเพื่อให้มองเห็นตำแหน่งในการตบหลังและกดหน้าอก ใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะและกรามเด็กให้มั่นคงในท่าคว่ำหน้า

– วางตัวเด็กบนท่อนแขนลักษณะศีรษะต่ำกว่าลำตัว อาจพักแขนบนหน้าขา ระวังอย่ากดบริเวณใต้คางหรือคอของทารก

– ใช้ส้นมืออีกข้างตบกึ่งกลางระหว่างสะบักทั้งสองข้าง ในแนวเฉียงลงด้วยแรงที่มากเพียงพอให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกได้ ทำซ้ำ 5 ครั้ง

– พลิกตัวเด็กทารกกลับมาในท่านอนหงาย ใช้มือและแขนทั้งสองข้างประคองตัวเด็ก วางบนท่อนแขนของมืออีกข้าง ประคองศีรษะให้มั่นคงลักษณะศีรษะต่ำกว่าลำตัว

– กดหน้าอก 5 ครั้ง บริเวณกึ่งกลางหน้าอกบนกระดูกหน้าอกส่วนล่าง ใต้ต่อเส้นราวนมเล็กน้อย (ตำแหน่งที่ทำการกดหน้าอกนวดหัวใจหรือซีพีอาร์)

– ตรวจดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมออกมาในปากเด็กหรือไม่ หากมีและสามารถมองเห็นได้ชัดให้ใช้นิ้วกวาดสิ่งแปลกปลอมออกมา (finger sweep) แต่หากไม่แน่ใจหรือมองไม่เห็นห้ามใช้นิ้วกวาด

กรณีเด็กเด็กทารกต่ำกว่า 1 ปี ที่หมดสติ

– ให้เด็กอยู่ในท่านอนหงาย บนพื้นราบ เริ่มทำการกดหน้าอกนวดหัวใจทันที โดยกดหน้าอกนวดหัวใจต่อเนื่อง 30 ครั้ง

– ทำการช่วยหายใจ โดยการจัดท่าเปิดปากผู้ป่วย มองหาสิ่งแปลกปลอมก่อนทำการช่วยหายใจ หากมองเห็นสิ่งแปลกปลอมในปากเด็ก ให้ใช้นิ้วกวาดสิ่งแปลกปลอมออกมา (finger sweep) แต่หากมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมหรือไม่มั่นใจ ห้ามใช้นิ้วกวาด เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปอุดทางเดินหายใจอีกครั้ง

– ช่วยผายปอด โดยใช้ปากของผู้ช่วยเหลือครอบปาก และจมูกของผู้ป่วย และเป่าลมเข้า 2 ครั้ง

– ทำการกดหน้าอกนวดหัวใจและช่วยหายใจต่อเนื่อง เป็นรอบในอัตรา กดหน้าอก 30 ครั้ง ช่วยหายใจ 2 ครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5 รอบ หรือ 2 นาที หากมีผู้ช่วยเหลือมากกว่า 1 คน ให้ทำการกดหน้าอกนวดหัวใจในอัตรา 15 ครั้ง ต่อการช่วยหายใจ 2 ครั้ง ทำซ้ำ 10 รอบ หรือ 2 นาที จนกว่าความช่วยเหลือทางการแพทย์จะมาถึง หรือจนกว่าจะขจัดสิ่งแปลกปลอมออกมาได้สำเร็จ

สำลักสิ่งแปลกปลอม

กรณีเด็กอายุมากกว่า 1 ขวบที่ยังไม่หมดสติ

– ยืนหรือคุกเข่าอยู่ด้านหลังของเด็ก ใช้แขนสองข้างโอบรอบเอว โดยมือข้างหนึ่งกำเป็นกำปั้นด้านนิ้วโป้งวางอยู่ใต้กระดูกลิ้นปี่แต่เหนือ สะดือเล็กน้อย วางมืออีกข้างทับบนกำปั้น แล้วออกแรงกดมือทั้งสองเข้าไปในท้องโดยพยายามดันมือขึ้นมาทางด้านบนในขณะ เดียวกัน เพื่อเป็นแรงกระแทกให้สิ่งแปลกปลอมกระเด็นหลุดขึ้นมา หรือทำซ้ำจนกว่าเด็กจะไอ หรือหายใจได้เอง (Heimlich maneuver)

กรณีเด็กอายุมากกว่า 1 ขวบที่หมดสติ

– หากเด็กหมดสติให้ทำการช่วยเหลือดังนี้ ตรวจดูในปากว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันหรือไม่ แล้วใช้วิธีเดียวกับเด็กทารกในการนำออกมา

– หากไม่พบสิ่งแปลกปลอมในปาก ให้วางเด็กนอนราบกับพื้น นั่งคร่อมลำตัวเด็กโดยผู้ช่วยเหลือหันหน้าไปด้านศีรษะของเด็ก วางส้นมือทับซ้อนกันที่ตำแหน่งต่ำกว่ากระดูกลิ้นปี่แต่เหนือระดับสะดือ ดันมือเข้าไปในท้องพร้อมกับยันไปที่ทิศทางด้านศีรษะ ของเด็ก ทำซ้ำ 6-10 ครั้งจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา

– หากไม่หลุดหรือเด็กยังไม่หายใจ ให้ทำการช่วยหายใจ โดยการใช้นิ้วบีบจมูกแล้วเป่าลมเข้าปาก 2 ครั้ง โดยแรงพอที่จะทำให้ทรวงอกขยาย สลับกับการทำซ้ำข้อ 2 จนกว่าทีมฉุกเฉินจะมาช่วยเหลือ และถึงแม้สิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมาแล้ว และเด็กหายใจได้เอง คุณก็ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจโดยละเอียดจากแพทย์อีกครั้ง หนึ่ง

ภาพจาก http://www.naiklong.go.th/

ป้องกันการสำลักสิ่งแปลกปลอม

– เลือกชนิด และขนาดของอาหารที่เหมาะกับเด็ก อาหารบางชนิด มีโอกาสที่จะติดคอ สำลักได้ง่าย เช่น องุ่น เยลลี่ ไส้กรอก เป็นต้น

– ไม่กินอาหารขณะวิ่งเล่น สอนลูก และระวังไม่ให้ลูกกินอาหารขณะวิ่งเล่น เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร

– ระวังของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เลือกชนิด รูปร่างและขนาดของของเล่นให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ระวังของเล่น หรือ ของใช้ที่มีขนาดเล็ก ที่เด็กจะแกะ หยิบ ยัดเข้าปาก ใส่จมูก จนสำลักสิ่งแปลกปลอม

– หมั่นสังเกตความผิดปกติของลูก สิ่งแปลกปลอมขนาดเล็ก ที่ลูกเอาเข้าปาก เข้าจมูกอาจติดอยู่เป็นวัน หรือไม่ได้แสดงอาการทันที ปล่อยไว้อาจเกิดผลแทรกซ้อนเช่นปอดอักเสบ หอบหืด หลังการสำลักนานเป็นวันถึงสัปดาห์ได้ ถ้าลูกมีอาการผิดปกติ เช่น ร้องเจ็บจมูก แคะจมูก หรือ ไอมากผิดปกติ ควรรีบพาไปหาหมอ

คำแนะนำในกรณีที่เกิดการสำลักสิ่งแปลกปลอม

– โทรตามรถฉุกเฉินทันที หรือโทรเบอร์ 1669 เมื่อเด็กสำลักสิ่งแปลกปลอม ขณะที่ทำการช่วยเหลือเบื้องต้นไปด้วย
– ห้ามเอานิ้วกวาดไปในลำคอ ถ้ามองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม ห้ามใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เพราะอาจจะยิ่งทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดลึกเข้าไปมากกว่าเดิมหากเด็กหมดสติ
– งดน้ำ งดอาหาร ทันทีที่เกิดการสำลักสิ่งแปลกปลอม
– สอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ เด็กเกิดการสำลักในขณะทำอะไรอยู่ เช่น กินอาหาร ขนม เล่นของเล่น เป็นต้น พร้อมทั้งนำตัวอย่างของอาหาร ขนม สิ่งแปลกปลอมที่สงสัยมาด้วยเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาของแพทย์

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close