ภาวะ “ซึมเศร้าหลังคลอด” ร้องไห้ หดหู่ อยากตาย ทำยังไงดี!?

ซึมเศร้าหลังคลอด

เมื่อเด็กน้อยได้ถือกำเนิดขึ้นมา ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่มีสิ่งหนึ่ง ที่มักถูกมองข้ามไปในช่วงเวลานี้ นั่นก็คือ ภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด ของผู้เป็นแม่! คนรอบ ๆ ตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัว จึงควรเห็นใจคุณแม่ในระยะนี้เสียหน่อย ส่วนอารมณ์ซึมเศร้าหลังคลอดมีอาการอย่างไร ควรดูแลอย่างไร ติดตามกันต่อได้เลย

ภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด / อาการซึมเศร้าหลังคลอด / อารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum blues, Maternity blues) เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่พบได้บ่อยหลังคลอด เกิดได้ตั้งแต่ช่วงแรกคลอด จนถึง 12 เดือนหลังคลอด มีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น Baby blues, Postpartum blues หรือ Maternity blues

มีสาเหตุหลักจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ในร่างกายของแม่ลดต่ำลงหลังคลอดลูก บวกกับความรู้สึกกดดัน และความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากการมีลูก เช่น กังวลว่าจะเลี้ยงลูกได้ดีพอหรือไม่ รวมถึงอาจไม่ได้รับความเอาใจใส่จากคนรอบข้างอย่างเพียงพอ

คุณแม่ที่เครียดง่าย และจิตใจอ่อนไหวเป็นทุนเดิม อาจโดนภาวะนี้จู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัวได้ โดยภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. ภาวะเศร้าหลังคลอด (Postpartum blue)

– เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก พบได้สูงถึง 40- 80% ของผู้หญิงหลังคลอด

– ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ยังไม่นับว่าเป็นโรค มักมีสาเหตุมาจากการปรับตัวหลังคลอด โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ที่อาจยังไม่รู้ว่า จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดอย่างไร

– อาการไม่รุนแรง ไม่กระทบต่อการดูแลเด็ก

– เซื่องซึมง่าย รู้สึกเศร้าง่าย ร้องไห้ง่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย

– หงุดหงิดง่าย วิตกกังวลกับเรื่องทุกอย่าง

– ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

– มักมีอาการในสัปดาห์แรก โดยพบมากช่วงวันที่ 5 หลังคลอด และจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์

– หากมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้

2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)

– ถือเป็นการเจ็บป่วย ที่ต้องได้รับการรักษา และต้องมีอาการดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 5 ใน 9 ข้อ โดยต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และต้องมีอาการข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ร่วมด้วยเสมอ

1) มีอารมณ์ซึมเศร้า หม่นหมอง หดหู่ รู้สึกภายในจิตใจว่างเปล่า อาจบอกออกมาเอง หรือจากการสังเกตของคนรอบข้าง

2) ความสนใจ ความรู้สึกสนุก และความพึงพอใจในการทำกิจวัตรต่าง ๆ ที่เคยชอบทำ ลดลงอย่างมาก

3) น้ำหนักลดลง หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยยะสำคัญ (มากกว่า 5% จากน้ำหนักตัวเดิมใน 1 เดือน) หรือ ความอยากอาหารลดลง หรือ อยากกินตลอดเวลา ตลอดทั้งวัน ไม่ใช่เฉพาะบางมื้อ และเป็นทุกวัน
4) นอนไม่หลับ หรือนอนมากตลอดวัน

5) เชื่องช้า เคลื่อนไหวช้าลง หรืออยู่ไม่สุข

6) เหนื่อยง่าย ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร

7) รู้สึกไร้ค่า ไม่ชอบใจตัวตนของตัวเอง

8) ความคิดความอ่าน สมาธิ ความสามารถในการจดจ่อสนใจสิ่งที่ทำลดลง

9) มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ไม่รู้สึกกลัวความตาย, อาจมีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายแต่ยังไม่สำเร็จ หรือเริ่มตระเตรียมแผนการหรืออุปกรณ์ที่จะใช้ฆ่าตัวตายมาเก็บไว้
– เป็นอาการเกือบทั้งวัน และเกือบทุกวัน อาการจะไม่หายไปเอง และไม่เป็น ๆ หาย ๆ
– สูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันที่เคยทำตามปกติ เช่น ไม่สามารถไปทำงานได้
– อาการทั้งหมดต้องเป็นขึ้นมาเอง โดยไม่มีประวัติการใช้ยาที่มีผลข้างเคียง ที่ทำให้เกิดอาการแสดงดังกล่าว

3. โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis)

ถือเป็นภาวะอันตราย และเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด มักมีอาการทางระบบประสาทที่แปลกไป เช่น ประสาทหลอน มีพฤติกรรมผิดแปลกผิดปกติ อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง อาจมีการทำร้ายตนเอง คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งลูกน้อยที่เพิ่งคลอด

– พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 0.1-0.2% แต่อาการมักรุนแรง

– มักมีอาการภายใน 2-3 วันแรกหลังคลอด น้อยรายมากที่มีอาการหลัง 2 สัปดาห์แรกไปแล้ว

– อาการเริ่มแรกคือ ผุดลุกผุดนั่ง หงุดหงิด นอนไม่หลับ

– หลังจากนั้น ผู้ป่วยอาจซึมเศร้า หรืออารมณ์ดีแบบไม่สมเหตุสมผลก็ได้ อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

– มีพฤติกรรมวุ่นวายแปลกประหลาด หวาดระแวง

– มีความคิดหลงผิด เช่น คิดว่าลูกไม่ใช่ลูกของตนเอง มีความคิดหลงผิดเกี่ยวกับไสยศาสตร์

– มีอาการประสาทหลอน เช่น หูแว่ว หรือเห็นคนมาสั่งให้ทำร้ายลูกตนเอง เป็นต้นซึมเศร้าหลังคลอด

การรักษาโรค ซึมเศร้าหลังคลอด

• ต้องได้รับความร่วมมือจากคนใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ สามี คอยให้กำลังใจว่านี่เป็นโรค ไม่ใช่ความอ่อนแอ

• หาความรู้เกี่ยวกับเด็กทารก เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเลี้ยงดู

• หาคนช่วยผลัดเปลี่ยนดูแลเด็ก โดยเฉพาะตอนกลางคืน เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน ลดปัญหาการนอนไม่หลับ

• อย่าตำหนิหรือโมโห เวลาคุณแม่แสดงอารมณ์แปลกๆ หรือมีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

• อย่าปล่อยให้คุณแม่เลี้ยงลูกคนเดียว

• ต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจของคนในครอบครัว ว่าภาวะนี้สามารถพบได้ และจะหายไป

• คอยสังเกตอาการของคุณแม่ หากมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ โดยอาการเป็นมากขึ้น หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย หรือมีพฤติกรรมผิดจากคนทั่วไป เท่ากับว่าได้พัฒนาไปเป็นโรคแล้ว ให้รีบพาไปพบแพทย์

• กระตุ้นให้คุณแม่ได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ไม่ใช่แค่เลี้ยงลูกอย่างเดียว และอาจจะให้รางวัล หรือคำชม เช่น พาไปเที่ยวพักผ่อน พาเดินออกกำลังกายเบาๆ พาไปร้านอาหาร หรือซื้อของขวัญมาให้

• เข้ากลุ่ม Group therapy หรือไปเจอกับครอบครัวอื่นที่เผชิญปัญหานี้ และผ่านไปได้ แบ่งปันวิธีที่ใช้ให้ผ่านภาวะเจ็บป่วยนี้ไปได้ วิธีผ่อนคลายความเครียด และวิธีขจัดปัญหาต่างๆ ในการเลี้ยงลูก

• คุณหมออยากมีการจ่ายยา และแม้ว่าจะช่วยให้อาการดีขึ้นก็จริง แต่ยาบางตัวก็อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น ง่วงซึม ปากแห้ง และมึนงงซึมเศร้าหลังคลอด

ป้องกันซึมเศร้าหลังคลอด ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

• สามี คือส่วนสำคัญ ควรมีการวางแผนปรึกษาการดำเนินชีวิต หลังลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว โดยตกลงกันไว้ก่อนว่า ใครต้องทำอะไรบ้าง เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของภรรยา คอยถามว่าภรรยาต้องการ หรือไม่ต้องการอะไร ระวังคำพูด อย่าเพิ่งเรียกร้อง หรือคาดหวังว่า ทุกอย่างจะเหมือนเดิมตอนที่ยังไม่มีลูก เพราะจะยิ่งทำให้วิตกกังวล และว้าวุ่นกับงานบ้านจนเกินไป

• ดูแลและเอาใจใส่ตัวเอง คุณแม่อย่าเป็นกังวลในสิ่งที่ไม่ควรกังวล เช่น ถ้าบ้านจะสกปรก หรือรกไปบ้าง ก็ให้ใจเย็น ๆ และค่อย ๆ ทำไปทีละน้อย ต้องปล่อยวางบ้าง อย่าทำให้ตัวเองต้องเครียดไปเสียทุกเรื่อง

• หาคนช่วยเหลือ และหากำลังใจ อาจให้คนในครอบครัว คุณพ่อ เพื่อน หรือผู้ให้บริการดูแลเด็ก เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลูก หรือช่วยทำงานบ้าน เตรียมอาหาร หรือหาที่พึ่งทางใจ เช่น โทรหาเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวเพื่อขอกำลังใจ

• ระบายความรู้สึกบ้าง ถ้าคุณแม่รู้สึกหงุดหงิด หรือรู้สึกอึดอัดใจเรื่องอะไร อย่าเก็บไว้คนเดียว ควรพูดเพื่อระบายความรู้สึกที่อัดอั้นนั้นออกมา กับใครสักคนที่วางใจได้ ถ้าไม่มีที่ระบาย คุณแม่อาจเขียนระบายความรู้สึกลงในกระดาษ แล้วฉีกทิ้งก็ได้ จะทำให้รู้สึกสบายใจ และมีอารมณ์ที่ดีขึ้น

• เลิกวิตกกังวล อาการเจ็บปวด สับสน อ่อนเพลียในช่วงหลังคลอดเป็นเรื่องธรรมดา คุณแม่ไม่ควรเป็นกังวลมากจนเกินไป เมื่อรู้ตัวว่ามีอาการซึมเศร้า พยายามดูแลรักษาตนเอง อดทน รู้จักผ่อนคลาย และมีความเชื่อมั่นว่าจะต้องหายเป็นปกติได้ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเพียงใดซึมเศร้าหลังคลอด
• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผักผลไม้สด รวมถึงน้ำผลไม้คั้นสด เป็นแหล่งวิตามินที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นได้ อีกทั้งยังช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรลดอาหารพวกขนมหวาน หรือของกินจุบจิบ เน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ และอย่าคิดอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก

• ออกกำลังกายเบา ๆ คุณแม่อย่ามัวแต่อุดอู้อยู่แต่ในบ้าน และหมกมุ่นอยู่กับการเลี้ยงลูก ดูแลลูกมากจนเกินไป ควรปลีกเวลาออกไปเดินเล่นกับลูก หรือออกกำลังกายเบา ๆ นอกบ้านบ้าง การออกกำลังกาย จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และมีอารมณ์แจ่มใสยิ่งขึ้น

• พักผ่อนให้เพียงพอ ในช่วงกลางวัน คุณแม่ควรพยายามงีบหลับบ้าง และหาคนมาช่วยดูแลลูกในตอนกลางคืนด้วย เพื่อที่จะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ทำให้รู้สึกสดชื่น เพราะร่างกายที่อ่อนเพลีย จะทำให้อาการซึมเศร้าที่เป็นอยู่เลวร้ายลง ระวังอย่าทำอะไรเกินกำลัง อย่าฝืนทำในสิ่งที่ทำไม่ไหว

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนี้ เมื่อเป็นแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นได้อีก เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ต่อไป ควรปรึกษาแพทย์ และให้ประวัติแพทย์ไว้ล่วงหน้า เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาให้ยาป้องกันหลังคลอด ก่อนที่จะมีอาการได้

ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต 1323 (โทรฟรี 24 ชั่วโมง) https://dmh.go.th/main.asp

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close