เขี้ยวสั่งตาย! “พิษสุนัขบ้า” อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน

พิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคร้ายแรงที่สังคมกำลังจับจ้องอยู่ในเวลานี้ เนื่องจากสาเหตุของโรคนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว คือ การติดเชื้อไวรัสจากสุนัข และแมวที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป แต่กลับมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต นำความหวาดผวา และวิตกกังวลมาสู่คนจำนวนมาก วันนี้ทาง Ged Good Life จะอธิบายถึงอาการ และวิธีป้องกัน พิษสุนัขบ้า เพื่อให้คุณสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม และทันท่วงที

โรค พิษสุนัขบ้า มาจากไหน?

โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข ทั้งสุนัขบ้าน และสุนัขป่า แมว หนูบ้าน หนูนา หนูป่า รวมถึงค้างคาว วัว ควาย แพะ แกะ ม้า ลิง กระรอก พังพอน ซึ่งต่างก็สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั้งสิ้น ส่วนคนเรานั้น สามารถติดเชื้อจากสัตว์เหล่านี้ได้ผ่านการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง และทางเยื่อบุต่าง ๆ อย่าง ปาก หรือเยื่อบุตา เป็นต้น

อาการของโรค พิษสุนัขบ้า

• ระยะฟักเชื้อ
ในระยะการฟักตัวของเชื้อช่วงแรกเริ่ม ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย โดยจะเกิดขึ้นในช่วง 20-90 วัน เป็นระยะที่สำคัญมาก เพราะหากเลยช่วงนี้ไปจนเข้าช่วงแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาได้ และทำให้เสียชีวิตในที่สุด โดยบริเวณที่ถูกกัดส่งผลต่อการฟักตัวของเชื้อ ยิ่งบริเวณที่ติดเชื้ออยู่ใกล้สมองมากเท่าไร เชื้อก็จะยิ่งเพิ่มจำนวน และฟักตัวได้เร็วขึ้นเท่านั้น เช่น หากถูกกัดบริเวณใบหน้า การแพร่กระจายของเชื้อจะเร็วกว่าถูกกัดที่บริเวณขา

• ระยะอาการนำของโรค
บริเวณบาดแผลที่ถูกกัดอาจมีอาการปวด คัน ชา เย็น ปวดแสบปวดร้อน แม้ว่าแผลอาจจะหายสนิทไปแล้ว อาการอื่นๆที่พบได้ คือ เป็นหวัด เป็นหวัดปวดหัว หนาวสั่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย

• ระยะปรากฏอาการทางระบบประสาท
มักเกิดขึ้นภายหลังระยะอาการนำของโรคประมาณ 2-10 วัน ซึ่งสามารถแบ่งอาการออกได้เป็น

– แบบคลุ้มคลั่ง (Furious rabies) พบได้บ่อยที่สุดของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมด อาการผู้ป่วยในระยะแรกอาจมีเพียง เป็นหวัดปวดหัว สับสน เห็นภาพหลอน กระวนกระวาย คลุ้มคลั่งอาละวาด ต่อมา ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวน้ำ ไม่กล้าดื่มน้ำ กลัวลม แค่เป่าลมที่หน้า หรือคอก็จะมีอาการผวา ไม่อยากหายใจเข้า นอกจากนี้ ยังพบอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น น้ำลายไหล น้ำตาไหล เหงื่อออกมาก สุดท้ายผู้ป่วยจะเกิดอาการซึม หมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิตภายใน 5-7 วัน หลังเริ่มแสดงอาการ

– แบบอัมพาต (Paralytic rabies) ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบรองลงมา มักมีอาการ เป็นไข้ ร่วมกับกล้ามเนื้อและร่างกายอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พบอาการกลัวน้ำกลัวลมประมาณ 50% มักจะเสียชีวิตช้ากว่าแบบคลุ้มคลั่ง

– แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ (Non-classic) พบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ถูกค้างคาวกัด มีอาการปวดประสาท หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาต ชา ชัก มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ แต่ไม่พบอาการกลัวน้ำ กลัวลม และอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ

• ระยะไม่รู้สึกตัวหรือระยะสุดท้าย (Coma)
ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการแสดงแบบใด เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะมีอาการหมดสติ และเสียชีวิตจากระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกสัตว์กัด

– ผู้ที่ถูกสุนัข แมว ค้างคาว สัตว์ป่า สัตว์แทะ หรือปศุสัตว์กัด ข่วน หรือเลีย ให้รีบฟอกล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ หรือล้างแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล Normal saline โดยเร็วที่สุด โดยควรล้างแผลซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก แต่อย่าบีบเค้นแผล
– อย่าใส่สิ่งอื่น เช่น ครีม เกลือ ยาหม่อง หรือยาฉุนลงในแผล เพราะอาจทำให้เชื้อกระจายไปรอบบริเวณที่เกิดแผลได้ง่าย และอาจมีเชื้อโรคอื่นเข้าไปด้วยทำให้เกิดแผลอักเสบ

– ไปพบแพทย์/สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุดทันที ห้ามนิ่งนอนใจ เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป รวมถึงฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และอิมมูนโกลบูลินเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย

– หากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว หลังจากนั้นมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปวดแผลมากขึ้น แผลบวม หรือมีไข้ตัวร้อน ควรรีบกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อน

– ควรกักขัง และเฝ้าดูอาการสัตว์ที่ก่อเหตุเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน อย่ากำจัดสัตว์โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้สัตว์ตายเอง เพราะจะทำให้ตรวจพบเชื้อได้ง่าย และแน่นอนกว่า

– หากสัตว์ตาย ให้นำซากส่งตรวจหาเชื้อที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ขณะเก็บซากสัตว์ต้องสวมถุงมือยาง และล้างมือหลังจากเก็บซากให้สะอาด โดยส่งตรวจเฉพาะส่วนหัวสัตว์ ผู้ที่ตัดหัวสัตว์ต้องไม่มีแผลที่มือและใส่ถุงมือยางหนา ซากสัตว์ที่เหลือให้ฝังลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ให้ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ และบริเวณที่ใช้ตัดหัวสัตว์ด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทันที

– ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะเป็นหมา แมว กระรอก กระต่าย หนู ลิง ควรพาสัตว์ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ตามที่สัตวแพทย์กำหนด สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ควาย แพะ แกะ ม้า ไม่จำเป็นต้องพาสัตว์ไปฉีดวัคซีน แต่หากถูกสัตว์เหล่านี้กัด ก็ต้องไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

– ผู้ที่ในอดีตเคยได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าครบ 5 เข็มหรืออย่างน้อย 3 เข็มแรกตรงตามนัด เมื่อถูกกัดซ้ำอีกไม่จำเป็นต้องได้รับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน แม้จะมีแผลเลือดออก ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม 

โรคพิษสุนัขบ้านั้นร้ายแรงอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโรคที่มีโอกาสเสียชีวิต 100% รักษาไม่หาย สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะช่วงหน้าร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ ทุกคนจึงควรระมัดระวังตนเอง รวมถึงบุตรหลาน ผู้ใกล้ชิด และดูแลสัตว์เลี้ยงให้ได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด ก่อนที่จะสายเกินไป

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close