สู้! สู้! สู้! ๙ วิธีงดเหล้า ดูแลตับครบพรรษา เราทำได้!

เหล้า เบียร์ แอลกอฮอล์ ดื่มครั้งแรก ใคร ๆ ก็ว่าขม แต่พอดื่มไปดื่มมากลายเป็นติด เป็นของที่ขาดไม่ได้ไปสะงั้น! และผลของการดื่มหนักไม่ยอมเลิกมักจบไม่สวยสักราย เพราะเหล้าทำลายทั้งสติ และสุขภาพโดยเฉพาะกับตับของเรา! โอกาสดี เข้าพรรษานี้ GedGoodLife จึงขอแนะนำ “๙ วิธีงดเหล้า” ดูแลตับครบพรรษา เพื่อชีวิต และสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างทันตาเห็น!

วิธีงดเหล้า

มาทำความรู้จักกับ สุรา หรือเหล้ากันก่อนว่ามันคืออะไร?

สุรา (liquor หรือ alcohol) คือ น้ำเมาที่ได้จากการกลั่นสารบางประเภท อาทิ เอทิลแอลกอฮอล์ และเมรัย คือ น้ำเมาที่เกิดจากการหมัก หรือแช่ให้เกิดสารบางประเภท เมื่อดื่มแล้วสารนั้นจะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง

หากดื่มไม่มากอาจรู้สึกผ่อนคลายเนื่องจากสารกดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมตนเองทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่เมื่อดื่มมากขึ้นก็จะกดสมองบริเวณอื่น ๆ ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด จนแม้กระทั่งหมดสติในที่สุด ทั้งสุรา และเมรัยเรียกโดยภาษาปากว่า “เหล้า เบียร์”

สุรา ศัตรูตัวฉกาจของตับ ที่แท้จริง!

สุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ ถือเป็นน้ำเมาที่มีพิษภัยต่อตับเป็นอย่างมาก ในทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ ๘๐ กรัม หรือ ๕ หน่วย เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี สามารถที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อตับได้

โดยโรคตับที่เกิดจากการดื่มสุราหนักนั้น สามารถแบ่งออกเป็น ๓ แบบด้วยกัน ได้แก่

๑. ไขมันสะสมในตับ (Alcoholic fatty liver) เป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยในระยะนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีอาการใด ๆ การตรวจร่างกายอาจพบว่าตับมีขนาดใหญ่ ผิวเรียบ นุ่ม และกด ไม่เจ็บ การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติเล็กน้อย ผู้ป่วยในระยะนี้ถ้าหยุดดื่มสุรา ตับจะสามารถกลับเป็นปกติได้ แต่ถ้ายังดื่มอยู่ ก็จะมีการลุกลามของโรคไปในระยะ ที่ ๒ ได้

๒. ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Hepatitis) เป็นระยะที่ผู้ป่วยเริ่มเข้าพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน ไข้สูง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางสติสัมปชัญญะตลอดจนตับวายได้ และในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมอง ได้แก่ รู้สึกสับสน วุ่นวาย หรือ อาจหมดสติได้ ในเคสที่เป็นหนัก ตับจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนตับวาย และเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

๓. ตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Cirrhosis) เป็นระยะสุดท้ายที่พบว่ามีผังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ทำให้ตับมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ เช่น ผิวไม่เรียบ ขรุขระ และอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ จนเสียชีวิตในที่สุด!

นอกจากเหล้าจะทำลายตับโดยตรงแล้ว ก็ยังทำลายอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายจนเกิดเป็นโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ระบบประสาท และสมอง, ภาวะน้ำตาลสูงง่าย, ภาวะมือสั่น, สับสนตกใจง่าย, ท้องเสีย, ความดันโลหิตสูง, กระเพาะอักเสบ, ภาวะตับอ่อนอักเสบ, ถ่ายเป็นไขมัน เป็นต้น

วิธีงดเหล้า

การรักษาภาวะตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีที่สุด คือ การหยุดดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด! ฉะนั้น ถ้ายังหวังดีต่อตับของเราให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่กับเราไปนาน ๆ ต้องลองนำ ๙ วิธีงดเหล้า ดูแลตับ ครบพรรษา ไปปฎิบัติกัน รับรองว่า พรรษานี้ได้สุขภาพดีดีเพราะเลิกเหล้าอย่างแน่นอน

๙ วิธีงดเหล้า ดูแลตับ ครบพรรษา!

๑. หาเหตุว่าอะไรทำให้เราดื่ม – พระท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าไม่มีเหตุย่อมไม่มีผล ฉะนั้นจงหาเหตุให้พบว่าอะไรทำให้เราต้องดื่มเหล้าอยู่เป็นประจำ เช่น เพื่อนชวนสังสรรค์เป็นประจำ, ความเครียด, หรือที่เก็บเหล้าง่ายต่อการหยิบมาดื่ม เป็นต้น

๒. ประกาศเลิกเหล้าให้ทั้งโลกรู้! – เคยไหมเวลาที่เราประกาศอะไรออกไปให้ทุกคนรู้ว่าเราจะเลิกทำแบบนั้น ทำแบบนี้ เรามักจะไม่กล้ากลับไปทำอีก เพราะ กลัวจะโดนด่าว่าเป็นคนไร้ซึ่งสัจจะ ฉะนั้น การจะเลิกดื่มเหล้าได้ ก็ต้องใจเด็ด ประกาศออกไปเลยทางโลกโซเชี่ยล หรือ กับเพื่อน ๆ ที่ทำงานว่า จะเลิกดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด ต่อจากนี้ไปไม่ต้องมาชวนอีก! แล้วก็รักษาสัจจะที่วางไว้ให้ได้ด้วยล่ะ

๓. พิจารณาข้อเสียของเหล้า – ลองพิจารณาดูให้ดีดีว่า แท้ที่จริงแล้วเหล้าให้อะไรดีดีกับเราบ้างไหม? ทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นไหม? ก็ไม่! ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นไหม? ก็ไม่! ทำให้หน้าที่การงานของเราดีขึ้นไหม? ก็ไม่! ทำให้เราร่ำรวย มีเงินมีทองมากขึ้นไหม? ก็ไม่อีกนั่นแหละ! เมื่อพิจารณาได้แบบนี้แล้วว่า เหล้าไม่มีอะไรดีต่อชีวิตเลย มีแต่โทษทำให้ชีวิตแย่ลงไปเรื่อย ๆ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ก็จงเลิกสะ กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีสติให้ครบพรรษานี้ และตลอดไปจะดีที่สุด!

๔. รักษาศีลข้อ 5 ตลอดพรรษานี้ หรือตลอดไป! – เข้าพรรษาทั้งที ควรตั้งใจทำดีเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ด้วยการตั้งจิตอธิษฐานต่อพระรัตนตรัย ว่าเราจะรักษาศีลข้อ 5 คือ งดการดื่มสุราเมรัย ไปตลอดพรรษานี้ให้ได้ จะไม่แตะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดใด จะไม่ยอมให้แอลกอฮอล์เข้าปากแม้แต่หยดเดียวอย่างเด็ดขาด!

๕. ตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกเพื่อใคร – เคยไหมที่เราอยากจะทำอะไรเพื่อใครสักคน หรืออยากเลิกทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดี เพื่อคนที่เรารัก ให้ใช้กำลังใจแบบนี้แหละ มาใช้กับการเลิกเหล้า เช่น เลิกเหล้าเพื่อลูก เลิกเหล้าเพื่อพ่อแม่ เลิกเหล้าเพื่อคนที่เรารัก เลิกเหล้าเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เป็นต้น

๖. ค่อย ๆ ลด ค่อย ๆ งด – เข้าใจแหละ ว่าการจะหักดิบเลิกเหล้าไปเลยมันเป็นเรื่องยาก และต้องใช้กำลังใจที่เด็ดขาด ฉะนั้น ลองค่อย ๆ ลดดูก่อนก็ได้ เช่น จากที่เคยดื่มทุกวัน ก็เปลี่ยนเป็น 5 วันดื่มทีนึง หรือ จากที่ดื่มวันละหลายแก้ว ก็ลดเหลือ 1 – 2 แก้ว ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับพิจารณาถึงโทษของสุราเมรัยไปด้วย เชื่อว่าไม่นานก็จะทำให้เราเลิกได้โดยปริยายไปเอง เพราะ เราได้ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง ไม่เป็นทาสต่อแอลกฮอล์ มีสติปัญญาเห็นโทษเห็นภัยของการดื่มเหล้ามาดีแล้วนั่นเอง

๗. ฝึกปฎิเสธให้เป็น ห้ามเกรงใจเพื่อน! – คืนวันศุกร์ สุดเฮฮา ได้เวลาปาร์ตี้ เพื่อนสายเมาชวนไปดื่มเหล้าตามผับบาร์ หรือที่ไหนก็ตามแต่ ให้เราบอกปัดเพื่อนไปว่า ช่วงนี้เข้าพรรษา อยากขอทำดีด้วยการเลิกเหล้าตลอด 3 เดือนนี้ ได้โปรด อย่ามาช่วนอีกเลย ไม่งั้นจะโกรธไม่คุยด้วยอีก! เรียกว่าปฎิเสธให้เด็ดขาด ให้เพื่อนเป็นฝ่ายเกรงใจที่จะชวนเราดื่มเหล้าอีกตลอดพรรษานี้ไปเลย

๘. หาแรงบันดาลใจให้เลิกเหล้า – ลองเสิร์ชหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ว่า คนที่เขาเลิกเหล้าได้นั้น เขาผ่านอะไรมาบ้าง แล้วทำยังไงถึงเลิกเหล้าได้ ถ้าอ่านเจอของใครถูกใจ คิดว่าเราจะทำตามเขาได้ ก็ให้ลองปฎิบัติตามคำแนะนำของผู้นั้นดู รับรองว่าถ้าวางกำลังใจได้เหมือนผู้ที่เคยติดเหล้าได้ เราก็จะเลิกเหล้าได้เช่นกัน!

๙. ปรึกษาสายด่วน 1413 – สายด่วน 1413 คือ ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และเสริมความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้เราเลิกเหล้าได้นั่นเอง
เว็บไซต์ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา – http://www.1413.in.th

ตับสามารถฟื้นฟูใหม่ได้ แค่คุณเลิกเหล้า จงใช้โอกาสดีดีให้ช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือนนี้ เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีกว่าด้วยการเลิกเหล้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด… สู้! สู้! สู้!

อ้างอิง :

1. th.wikipedia.org
2. www.praram9.com
3. ภาพอินโฟกราฟิกและสื่อวีดีโอจาก สสส.

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close