ท้องเสีย หรือ โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษาอย่างไร?

ท้องเสีย

ท้องเสีย คืออาการที่ทำให้ผู้ป่วยทรมาน ถ่ายเหลวได้ตลอดทั้งวัน และอาจเกิดภาวะช็อกจากการขาดน้ำได้! ใครที่มีอาการท้องเสียบ่อย ควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของโรค รวมถึงรู้จักวิธีดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ด้วย มาเช็กกันเลยว่า ท้องเสีย หรือ โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษาอย่างไรบ้าง…

ท้องเสีย คืออะไร ใครเสี่ยงท้องเสียได้บ่อย?

ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน หรือ โรคอุจจาระร่วง (diarrhea) หมายถึง ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง (หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากอย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง) เป็นโรคที่พบได้บ่อยตลอดทั้งปี ผู้ป่วยมักมีอาการที่รุนแรงแตกต่างกันไป และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในผู้ป่วยบางรายได้

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการท้องเสียได้บ่อย ได้แก่

  • เด็กเล็ก
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ถูกสุขอนามัยเป็นประจำ
  • สตรีตั้งครรภ์ (ปกติก่อนตั้งครรภ์ขับถ่ายปกติ แต่พอตั้งครรภ์อาจเกิดอาการท้องเสียได้บ่อย)
  • ผู้ที่มีการทำงานของภูมิคุ้มกันบกพร่อง

สาเหตุ และประเภทของโรคอุจจาระร่วง มีอะไรบ้าง?

โรคอุจจาระร่วง มีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น จากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัส (norovirus) และ โรตาไวรัส (rotavirus), การติดเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อโปรโตซัว, และอาจเกิดจากการไม่ติดเชื้อ เช่น จากโรคประจำตัว, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, จากการกินยา, สมุนไพรบางชนิด, การกินสารพิษ, อาหารรสจัด เป็นต้น

โรคอุจจาระร่วง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามระยะเวลาที่เกิดโรค ดังนี้

1. โรคอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน (Acute diarrhea) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด

  • ระยะเวลา :  1-3 วัน และไม่มากกว่า 14 วัน
  • สาเหตุ : การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ

2. โรคอุจจาระร่วงต่อเนื่อง (Persistent diarrhea)

  • ระยะเวลา : 14-30 วัน
  • สาเหตุ : การติดเชื้อเชื้อโปรโตซัว เชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

3. โรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง (Chronic diarrhea)

  • ระยะเวลา :  มากกว่า 30 วันขึ้นไป
  • สาเหตุ : การติดเชื้อ หรือเกิดจากภาวะลำไส้แปรปรวน และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ท้องเสีย หรือ โรคอุจจาระร่วง มักมีอาการอย่างไร?

  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • อาเจียน
  • อุจจาระเป็นมูกปนเลือด อุจจาระเป็นสีดำ
  • ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
  • มีไข้หวัด ปวดศรีษะ
  • หน้าแดง ผิวแห้ง

โดยทั่วไปโรคท้องเสียส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง แต่ในระหว่างที่มีอาการอาจเกิดอันตรายได้ หากมีอาการอาเจียนมากจนกินอะไรไม่ได้ หรือถ่ายมากจนขาดน้ำ ซึ่งอาจมีอาการเช่น หิวน้ำ ปากแห้ง ตาโบ๋ กระวนกระวาย ซึม เป็นต้น

อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยท้องเสีย

หากมีอาการท้องเสีย ไม่ควรงดรับประทานอาหาร แต่ให้เลือกรับประทานอาหารอ่อน ที่สะอาด ปรุงสุก และย่อยง่าย เพื่อชดเชยภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือภาวะร่างกายสูญเสียวิตามิน และเกลือแร่ เช่น

  • โจ๊ก
  • ข้าวต้ม
  • ซุปเต้าหู้
  • เนื้อปลา

ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

  • อาหารรสจัด
  • อาหารมันจัด

เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร รวมทั้งอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลง

เกลือแร่ ORS

ท้องเสียต้องจิบเกลือแร่ ORS เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

เมื่อมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ ให้ใช้ยาผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) โดยยานี้มีประโยชน์ในการป้องกัน และรักษาการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่จากท้องเสีย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่อย่างรุนแรง ทำให้ความดันเลือดตก และช็อคได้ โดยเฉพาะในผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

โดยทั่วไป ผู้ป่วยท้องเสียสามารถหายได้เอง ภายในระยะเวลา 3 วัน โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่หากมีอาการเหล่านี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีระดับความรุนแรงของการสูญเสียน้ำมาก เช่น อ่อนเพลียมาก สติสัมปชัญญะลดลง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
  • อุจจาระเป็นมูก หรือปนเลือด
  • มีไข้ นอนซม อ่อนเพลีย
  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำซาวข้าวปริมาณมาก อุจจาระไหลพุ่งออกมาโดยไม่มีอาการปวดท้อง

ท้องเสียสามารถป้องกันได้ หากดูแลสุขอนามัยอย่างถูกต้อง

เนื่องจากโรคท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรง หรือทางอ้อมกับเชื้อโรค และการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย ฉะนั้นการป้องกันที่ดี คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุก ถูกสุขอนามัย จะช่วยป้องกันโรคท้องเสียได้
  • ดื่มน้ำสะอาด และควรระวังการกินน้ำแข็งที่ไม่สะอาด
  • สำหรับเด็กเล็ก การกินนมแม่จะช่วยป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อไวรัสได้ส่วนหนึ่ง
  • รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรตาไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องเสีย โดยเฉพาะในเด็กทารก 1 ปีขึ้นไป

 

อ้างอิง : 1. thaijo 2. medparkhospital 3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close