6 อาชีพเสี่ยงเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง อาจพังชีวิตคุณได้!

อาชีพเสี่ยงเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง

ภูมิแพ้ ดูจะกลายเป็นโรคยอดฮิตของคนยุคนี้ไปซะแล้ว เพราะเป็นกันเยอะจริง ๆ แล้วรู้หรือไม่ว่า มี อาชีพเสี่ยงเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง อยู่หลายอาชีพ ที่ทำให้เราต้องพบเจอกับสารก่อภูมิแพ้กันตลอดเวลา ใครที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว อาจต้องเลี่ยงอาชีพเหล่านี้ หรือใครที่ไม่อยากน้ำมูก น้ำตาไหล จาม ฮัดเช่ยตลอดเวลา ก็ต้องเลี่ยงเช่นกัน

โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร?

1. กรรมพันธุ์ หากในครอบครัวมีคนเป็นภูมิแพ้ อัตราเสี่ยงที่ลูกหลานของเราจะเป็นภูมิแพ้ ก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหากพ่อ หรือแม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยถึง 50 – 70%

2. สิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ทำให้คนเราเป็นภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสูดดม กิน หรือสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น การทำงานบ้านที่ต้องเจอกับฝุ่น การออกไปนอกบ้านที่ต้องเจอกับควันและมลพิษ หรืออาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล ที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่มีคนแพ้มากที่สุด

นอกจากสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นตัวกระตุ้นแล้ว ยังอาจมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้อาการภูมิแพ้กำเริบหรือรุนแรงขึ้นได้ เช่น อากาศที่หนาวเกินไป อากาศเปลี่ยนกะทันหัน หรือความเครียด

สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย

จากการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในไทย พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก แพ้ไรฝุ่น หรือ ฝุ่นในบ้าน รองลงมาคือ แมลงสาบ ละอองเกสรพืช และขนสัตว์ นอกจากนี้ อาการของโรคภูมิแพ้ ยังสามารถรุนแรงขึ้นได้ หากผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นจากกลิ่นบางอย่าง เช่น ควันบุหรี่ หรือกลิ่นเหม็นฉุน ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ควรเข้ารับการทดสอบสารก่อภูมิแพ้กับผิวหนัง เพื่อจะได้รู้แน่ชัดว่าแพ้อะไร และสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารดังกล่าว รวมถึงใช้เป็นแนวทางในการรักษาด้วย แต่หากไม่ได้รับการทดสอบ ก็ควรพยายามเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้พื้นฐานเหล่านี้ ได้แก่

• ไรฝุ่น โดยเฉพาะไรฝุ่นที่สะสมในพรม ตุ๊กตา ผ้าม่านห้องนอน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่ม
• แมลงสาบ
• สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่มีขน
• เกสรหญ้า ละอองเกสรดอกไม้
• สารระคายเคืองอื่น ๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละออง

อาชีพเสี่ยงเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง

ประเภทของโรคภูมิแพ้

โดยแบ่งตามอวัยวะที่เป็น ได้แก่ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง โรคภูมิแพ้ประเภทแพ้อาหาร และโรคภูมิแพ้ที่มีอาการผสมกันในหลายระบบของร่างกาย ซึ่งรุนแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

1. ภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ หรือ โรคแพ้อากาศ จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล แต่มีน้ำมูกสีใส จามบ่อย คันในจมูก และมีเสมหะไหลลงคอ โดยไม่มีไข้ร่วมด้วย บางครั้งอาจมีอาการคันตา มักจะเป็น ๆ หาย ๆ จะเป็นหนัก และบ่อยขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ช่วงเวลาที่ทำให้เกิดโรคได้ง่ายคือ ช่วงเช้า และกลางคืน

2. ภูมิแพ้ในระบบผิวหนัง ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ มีอาการคัน เกิดตุ่มนูน หรือผื่นแดง หากเป็นมานานจนเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบผิวหนังเป็นแผ่นหนา แข็ง และมีขุย จนทำให้ผิวเป็นรอยแผลเป็น มักเกิดขึ้นบริเวณหน้า คอ ข้อพับ ข้อศอก มือ และเท้า พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในบางรายอาจมีตุ่มหรือผื่นที่มีหนองร่วมด้วย เพราะเกิดการติดเชื้อ

3. ภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร มักมีอาการทันที หรือภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากกินอาหารที่แพ้ แม้ว่าจะกินในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม อาการที่พบได้ คือ มีผิวหนังอักเสบ หรือเป็นลมพิษแบบเฉียบพลัน บวมบริเวณริมฝีปาก หน้า ลิ้น คอ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย คัดจมูก หายใจหอบ เจ็บหน้าอก ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าอาการทรุดหนัก อาจช็อกหมดสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

4. ภูมิแพ้ที่เกิดจากหลายระบบร่วมกัน เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการหลายชนิด หรือกระทบต่อหลายระบบในร่างกายตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป เช่น เป็นโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับโรคภูมิแพ้อาหาร โดยอาจมีอาการแพ้อากาศ คัดจมูก จามบ่อย มีน้ำมูก แต่ก็มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียนร่วมด้วย สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม


6 อาชีพเสี่ยงเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง

อาชีพเสี่ยงเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง

1. ช่างทอผ้าตามโรงงาน
เนื่องจากต้องสูดหายใจเอาฝุ่นผงที่อยู่ในผ้า รวมทั้งสูดดมกลิ่นก๊าซ และสารเคมีจากสีเสื้อผ้า เข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการแสบโพรงจมูก เพราะถูกสารเคมีทำลายเนื้อเยื่อจมูก และหลอดลม

2. ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างทาสี
ช่างเฟอร์นิเจอร์ และช่างทาสี ต้องสูดดมสารประกอบโลหะ สารฟอร์มาลดีไฮด์ ที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ หรือสีทาบ้านอยู่เสมอ หากสูดดมสารเคมีเหล่านี้นาน ๆ จะทำให้เกิดโรคหอบหืด แน่นหน้าอก ไอ น้ำมูกไหล หายใจลำบาก

3. แม่บ้าน พนักงานซักรีดตามโรงแรม หรือที่พัก
เนื่องจากแม่บ้าน และพนักงานซักรีดตามโรงแรม หรือที่พัก จะต้องทำความสะอาดห้องพักจำนวนมากทุกวัน ทำให้ต้องเผชิญกับไรฝุ่นที่เกาะอยู่ตามที่นอน ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม และผ้าม่าน อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ พนักงานซักรีดยังต้องสัมผัสกับสบู่ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด และสารฟอกขาวต่าง ๆ ทำให้อาจมีอาการแพ้ และเกิดโรคผิวหนังอักเสบ มีอาการคัน มีผดผื่นขึ้นตามตัว โดยมักเป็นผื่นแห้ง แดงที่ข้อพับของแขน และขา

4. ช่างก่อสร้าง
นอกจากต้องทำการอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางเสียงแล้ว ฝุ่นละอองในอากาศ ฝุ่นจากการเจาะสว่านกำแพงปูน ฝุ่นจากไม้ และปูนซีเมนต์ ทำเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ มีอาการคันตามผิวหนัง และก่อให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจได้

5. พนักงานร้านขายดอกไม้สด ร้านจัดดอกไม้ ร้านพวงหรีด
ละอองเกสรดอกไม้ เป็นหนึ่งในสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นที่รู้จักกันดี การต้องคลุกคลีอยู่กับดอกไม้แห้ง และดอกไม้สดจำนวนมาก ทำให้ต้องสูดดมละออกเกสรเหล่านี้เข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ เศษดอกไม้ ฟาง หรือหญ้าแห้ง ยังเป็นแหล่งผลิต และสะสมฝุ่นชั้นยอด โดยเฉพาะหากอยู่ในสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ รวมถึงอาจมีอาการคันตามผิวหนังได้

6. อาชีพที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข หรือ แมว
ในพื้นที่ที่มีสัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่ หรือมีสัตว์อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จะทำให้มีตัวไร รวมถึงรังแคจากผิวหนังของสัตว์สะสมอยู่เป็นจำนวนมากได้ง่าย โดยสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ จะกระจายลอยอยู่ในอากาศ ทำให้สูดดมเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลา รวมถึงการคลุกคลีกับมูลสัตว์ ที่สามารถทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้เมื่อสูดดมกลิ่นเข้าไปเช่นกัน

หากคุณเป็นคนที่ทำ อาชีพเสี่ยงเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง การะทำงานที่ต้องคลุกคลีกับสารภูมิก่อแพ้ตลอดเวลา อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณสามารถป้องกันตัวเองจากสารก่อภูมิแพ้ในที่ทำงานได้ โดยการสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย รวมถึงชุดป้องกันการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้โดยตรง สวมชุดทำงานขณะทำงาน ไม่ปะปนเสื้อผ้าที่ใส่ทำงานกับเสื้อผ้าที่ใส่ในวันปกติ ไม่กินอาหารขณะทำงาน และหมั่นล้างมือให้สะอาด เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้คุณปลอดภัยจากโรคภูมิแพ้ได้แล้ว


ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close