ทำความรู้จัก สาเหตุ และวิธีเยียวยา “โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง”

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นที่โคราช หรือการกราดยิงตามสถานที่ต่าง ๆ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สามารถสร้างความเครียดให้กับทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และผู้ที่ติดตามข่าวสารจากเหตุการณ์นั้นอย่างต่อเนื่องได้ จนอาจต้องเผชิญกับโรคที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรค “PTSD” หรือ “โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง”

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์สะเทือนขวัญล่าสุด ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องสะเทือนใจอย่างหนัก จากรณีที่มีทหารเข้าไปกราดยิงในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

และด้วยเหตุการณ์ที่ดำเนินต่อเนื่องนานกว่า 15 ชั่วโมง ส่งผลให้ทั้งเหยื่อที่ติดอยู่ในสถานที่ และเวลาดังกล่าว รวมถึงผู้ที่ติดตามข่าวสารของเหตุการณ์ ต่างก็ต้องเผชิญกับความกังวล และความตึงเครียด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตของทุกคน และเมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไป หลายคนก็ต้องเผชิญหน้ากับ โรคเครียด หลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ที่ไม่ต่างอะไรไปจากความทรมานซ้ำสอง

decolgen ดีคอลเจน

จากความสะเทือนใจ สู่ฝันร้ายที่ไม่จบสิ้น

หลังจากพบกับเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจอย่างฉับพลันรุนแรง หากคุณฝันร้ายในเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนกระทบกับการนอนหลับพักผ่อน ทำให้ต้องจมอยู่กับความทุกข์ นี่ก็อาจเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังเผชิญหน้ากับ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ที่เรียกกันอย่างย่อ ๆ ว่า โรค PTSD

โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง จัดอยู่ในกลุ่มอาการความผิดปกติทางจิต อาการหนึ่ง โดยเกิดจากการผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ตกใจ หวาดกลัว หรือเสียใจอย่างหนัก มักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดขึ้น หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

ผู้ป่วยจะฝังใจจดจำสถานการณ์ และความรู้สึกที่เจ็บปวดนั้นเอาไว้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไป ก็ยังคงมีความรู้สึกด้านลบ และนึกถึงภาพเหตุการณ์ในวันนั้นอยู่ ไม่ว่าจะมีสิ่งเร้ามากระตุ้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียด ที่นำไปสู่ปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้

โรคเครียด หลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

โดยทั่วไปแล้ว สถานการณ์ที่เป็นปัจจัย ที่อาจทำให้เกิดโรค PTSD ได้ คือ

• เคยถูกทอดทิ้ง หรือเคยถูกทำร้ายในวัยเด็ก เช่น ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังในห้องมืดๆ หรือสถานที่เปลี่ยวร้าง ถูกลงโทษอย่างรุนแรง

• เคยถูกทำร้ายอย่างรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกาย และรวมถึงการใช้คำพูดที่รุนแรงทำร้ายจิตใจด้วย

• เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีคนพยายามล่วงละเมิดทางเพศ

• เคยเห็นคนบาดเจ็บ ล้มตาย หรือเคยเห็นศพ เช่น ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อ หรืออยู่ในเหตุการณ์ฆาตกรรม

• มีบุคคลที่ใกล้ชิดเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดความตกใจและเสียใจอย่างรุนแรง

• เคยบาดเจ็บจากอาวุธ เช่น มีด ปืน ระเบิด

• เคยอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง เช่น การประท้วงขับไล่ การก่อจราจล การก่อการร้าย

• เคยผ่านสงคราม เช่น ทหารผ่านศึก หรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สงคราม

• เป็นผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุ เช่น รถชน เครื่องบินตก ไฟไหม้ อาคารถล่ม

• เป็นผู้รอดชีวิตจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำป่าไหลหลาก ซึนามิ พายุหมุน แผ่นดินไหว

อาการของผู้ป่วย PTSD โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

อาการป่วยทางจิต จากภาวะเครียดที่เจอเหตุการณ์สะเทือนใจ จะแสดงอาการออกมา 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ระยะทำใจ หรือโรคเอเอสดี (ASD – Acute Stress Disorder) หรือโรคเครียดเฉียบพลัน ซึ่งจะเกิดอาการเครียดแบบเฉียบพลัน หรือประมาณช่วง 1 เดือนแรกหลังเกิดเหตุการณ์ อาจทำให้เกิดอาการทางประสาทได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ ASD สามารถหายเองได้ หรืออาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลยในเดือนแรก แต่ป่วยด้วย PTSD ในเวลาต่อมา หรือป่วยด้วย ASD ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน และยังไม่หาย ก็สามารถจะกลายเป็น PTSD ในภายหลังได้เช่นกัน

ระยะที่ 2 โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งระยะที่เกิดอาการ อาจยาวนานหลายเดือน และอาจยืดเยื้อได้เป็นปี ๆ ซึ่งอาการที่สามารถสังเหตุได้ของระยะนี้ คือ

  1. เหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจตามมาหลอกมาหลอน (re-experiencing)

ผู้ที่รอดตายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หนีจากคนที่ตามมาทำร้าย จะรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีก รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเอง และตกใจกลัว (Flash back) หรือเห็นภาพนั้นทุกครั้งที่หลับตา เช่น รู้สึกเหมือนพื้นสั่นไหว คล้ายกับแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา หรือฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

  1. ตื่นตัวมากเกินไป (Hyperarousal)

เหตุการณ์ที่ทำให้เราหวาดกลัว จะทำให้เรารู้สึกตื่นตัวช่วงระยะหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วย โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง นั้น แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว แต่ร่างกายก็ยังคงตื่นตัวอยู่ ทำให้รู้สึกกระวนกระวาย ใจสั่น ตกใจง่าย สะดุ้งง่าย ผุดลุกผุดนั่ง ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายแม้จะกับเรื่องทั่วไป บางรายอาจระแวดระวังตัวเกินกว่าเหตุ นอนหลับยาก หรือมีอาการทางกายอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว มีความตึงกล้ามเนื้อสูง คลื่นไส้ ท้องร่วง เป็นต้น

  1. หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า ที่กระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ (Avoidance) หรือมีอารมณ์เฉยชา (Emotional numbing)

หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด หรือนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว เช่น ประสบภัยพิบัติมา จึงไม่กล้าดูข่าวลักษณะนี้ หรือบางคนขับรถชนคนตาย จึงไม่กล้าขับรถอีก ไม่กล้าว่ายน้ำเพราะเคยจมน้ำ หรือไม่กล้าไปในสถานที่ประสบเหตุ เพราะรู้สึกกระวนกระวาย

ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจดูสิ่งเหล่านี้ได้แต่ไร้ความรู้สึก กลายเป็นคนเฉยชา ไม่ร่าเริงเหมือนเคย รู้สึกห่างเหินหรือแปลกแยกจากผู้อื่น บางรายอาจจำเหตุการณ์สำคัญ ๆ ขณะเกิดเหตุไม่ได้ ซึ่งอาการลักษณะนี้ เป็นกลไกทางจิต ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความรู้สึกกลัว ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้น

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็น PTSD ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ได้อีก เช่น ซึมเศร้า โทษตัวเอง รู้สึกผิดที่หนีเอาตัวรอด หรือรู้สึกผิดที่มีชีวิตรอด (Survivor guilt) วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ดื่มเหล้าเบียร์มากกว่าเดิมเพื่อดับความกระวนกระวายใจ หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย

โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

ใครบ้าง ที่เสี่ยงป่วยเป็น โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องเป็น PTSD ทุกคน โดยจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว ราว 20% ของผู้ประสบภัย มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ หากปรับตัวได้เร็วหลังเกิดเหตุ ก็อาจมีอาการผิดปกติทางจิตใจแค่ช่วงสั้น ๆ แล้วหายเป็นปกติ ซึ่งจะไม่ถือว่าป่วย PTSD แต่ถ้ามีอาการนานเกิน 1 เดือนแล้วยังไม่หาย ก็ถือได้ว่าป่วยเป็น PTSD

ซึ่งกลุ่มคนที่มีแนวโน้มป่วยจะเป็น PTSD ได้ง่าย หลังเกิดเหตุร้ายแรง ได้แก่

• ผู้ที่มีเคยถูกทำร้ายตอนเด็ก ๆ
• ผู้ที่ไม่ค่อยมีเพื่อน หรือไม่มีครอบครัวคอยช่วยเหลือ
• ผู้ที่ชอบพึ่งพิงคนอื่น
• ผู้หญิงจะมีแนวโน้มเป็นโรค PTSD ได้มากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นราว 3% ในขณะที่ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นราว 10.3%
• ผู้ที่มีอายุน้อยมาก ๆ หรือสูงอายุมาก ๆ
• ผู้ที่เครียด หรือมีเรื่องกังวลใจอยู่ก่อนแล้ว และมาเจอเหตุร้ายซ้ำ
• ผู้ที่ดื่มจัดก่อนเกิดเหตุ

โรค PTSD รักษาอย่างไร ?

โรค PTSD สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ รักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นการทำพฤติกรรมบำบัด เพื่อช่วยให้จิตใจของผู้ป่วยสงบลง และอีกวิธีหนึ่งคือ การรักษาด้วยยา โดยจิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้าร่วมด้วย หากการรักษาด้วยจิตบำบัดไม่ได้ผล

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น สะกดจิต จิตบำบัด หรือ Group therapy ที่ให้ผู้ป่วยมาพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ป่วยอื่น ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน

ควรทำอย่างไร เมื่อเราเป็น PTSD

หากคุณคือผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงมา แล้วมีอาการดังที่บอกข้างต้น นอกจากการเข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์แล้ว สิ่งที่คุณควรทำก็คือ

• เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง การป่วยเป็น โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นโรคจิตหรือเป็นบ้า แต่คุณกำลังเครียดเกินไปจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจได้เช่นนี้ ก็จะทำให้คุณสามารถรับมือกับโรคได้ง่ายขึ้น และมีอาการดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

• อย่าแยกตัวออกห่างจากคนอื่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด ผู้ป่วยมักจะแยกตัวออกห่างจากคนอื่น อยากอยู่คนเดียว แต่การทำเช่นนั้น จะยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น ควรปรับตัว และกลับไปใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับก่อนประสบภัยมากที่สุด และทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ และครอบครัวตามปกติ

• กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง กล้าที่จะเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อให้อาการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตหมดไป

• ต้องดูแลตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงฝืนกินอาหารให้ได้ พยายามหาอะไรทำ ระลึกไว้ว่าการทำงานจะช่วยให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยดี

ควรทำอย่างไร เมื่อคนใกล้ตัวเป็น PTSD  

ครอบครัว และคนรอบข้าง คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้การบำบัดรักษาโรค PTSD ได้ผลดีขึ้น หากคุณมีคนใกล้ตัว ที่ป่วยเป็น PTSD สิ่งที่คุณควรทำ คือ

• รับฟังปัญหาอย่างจริงใจ เป็นมิตร ไม่วิจารณ์ แม้ว่าผู้ป่วยจะพูดถึงแต่สิ่งเดิม ๆ แต่นั่นก็เพราะเขาต้องการระบายความอัดอั้นตันใจ ต้องการคนรับฟังสิ่งเหล่านั้น อย่ารับฟังอย่างไม่ตั้งใจ หรือเสแสร้งว่ารับฟังเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ตัวเองถูกทอดทิ้งละเลย

• สอบถามอย่างห่วงใย การถาม เป็นวิธีการแสดงออกถึงความห่วงใยได้ดีวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะถามถึงปัญหา หรือความทุกข์ที่ผู้ป่วยรู้สึก สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรแนะนำให้ลืม หรือห้ามนึกถึงเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเก็บกด และรู้สึกเครียดยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้ ควรสอบถามถึงวิธีแก้ปัญหาที่เขาใช้ และสังเกตว่า เขาใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรือไม่

• ผู้ป่วยหลายคนมักโทษว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ไม่ว่าใครต่าง ก็คาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ หรือถึงจะเข้มแข็งแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้

• ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้ร้องขอ

• อย่าถือสา เมื่อผู้ป่วยแสดงอารมณ์โมโห หรือโกรธ

• ส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง หรือคุณไม่สามารถรับฟัง หรือจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ของผู้ป่วยได้

ปรึกษา ปัญหาสุขภาพจิต โทร 1323


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close