เผย! 12 โรคร้ายทำให้ปวดท้องรุนแรง ที่อาจอันตรายถึงแก่ถึงชีวิตได้!

โรคร้ายทำให้ปวดท้องรุนแรง

หากใครกำลังปวดท้องมาก ปวดจนจะเป็นลม ปวดบิด ปวดตุบ ๆ ปวดมาเป็นเดือน ไม่หายสักที! อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่ปวดท้องธรรมดา ๆ เสียแล้ว เพราะคุณอาจกำลังเผชิญกับ “12 โรคร้ายทำให้ปวดท้องรุนแรง” ที่อันตรายร้ายแรงกว่าที่คิด มาดูกันว่าจะมีโรคอะไรบ้าง และอย่าลืม! เข้าพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป

อาการปวดท้อง (Abdominal pain) เกิดจากอะไร?

ภาวะหลายอย่างอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ แต่สาเหตุหลัก ๆ คือ

  • การติดเชื้อ
  • การเจริญเติบโตผิดปกติ
  • การอักเสบ
  • มีสิ่งกีดขวาง (การอุดตัน)
  • ความผิดปกติของลำไส้
  • โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่ออวัยวะในช่องท้อง

การติดเชื้อในลำคอ ลำไส้ และเลือด อาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินอาหารของคุณได้ ส่งผลให้ปวดท้อง การติดเชื้อเหล่านี้อาจทำให้ระบบย่อยอาหารเปลี่ยนแปลง เช่น ท้องร่วง หรือท้องผูก เป็นต้น

12 โรคร้ายทำให้ปวดท้องรุนแรง ที่อาจอันตรายถึงแก่ถึงชีวิตได้!

ภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลัน มักมาพร้อมกับโรคร้ายต่าง ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง! อาการอาจมีตั้งแต่อาการปวดท้องเล็กน้อยไปจนถึงปวดท้องรุนแรง ที่ต้องรีบเข้าพบแพทย์ก่อนสายเกินแก้ โดย 12 โรคร้ายทำให้ปวดท้องรุนแรง มีดังต่อไปนี้…

1. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง (Abdominal aortic aneurysm)

หลอดเลือดแดงใหญ่ มีหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงนี้ ก็จะทำให้เลือดรั่วไหลออกมาหมดไม่สามารถเดินทางไปถึงอวัยวะต่าง ๆ ได้ ส่งผลให้เสียชีวิตลงในที่สุด กลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่สูบบุหรี่เรื้อรัง หรือผู้ที่เคยสูบบุหรี่ พบว่าในผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

อาการปวดท้อง : พบว่าส่วนมากคนไข้จะไม่มีอาการ แต่มักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องคลำเจอก้อนเต้นได้ในช่องท้อง ในผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หรือปวดท้องร้าวไปถึงหลังร่วมด้วย กรณีนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลอดเลือดนี้กำลังจะแตกแล้ว

2. ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

ไส้ติ่งอักเสบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบบ่อย และทำให้มีการผ่าตัดช่องท้องฉุกเฉินมากที่สุด เกิดขึ้นได้กับทุกวัย ทั้งเพศชาย และเพศหญิง โดยจะพบมากในช่วงอายุ 12 – 60 ปี และถ้ารักษาไม่ทันท่วงที สามารถเสียชีวิตได้เลยทีเดียว! ไส้ติ่งจะอักเสบ ก็ต่อเมื่อมีภาวะอุดตัน เช่น มีอุจจาระ หรือกากอาหารตกลงไปในไส้ติ่ง ทำให้เกิดอาการอักเสบ

อาการปวดท้อง : คนไข้มักจะเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการปวด จุก ๆ แน่น ๆ รอบ ๆ สะดือ มวนท้องไปทั่ว อาการปวดอาจจะคล้ายกับลำไส้อักเสบทั่วไป แต่ผ่านไปสักพักจะเริ่มปวดท้องที่ด้านขวาล่าง การเคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้ปวดมากขึ้น และถ้ากดท้องจะพบว่ากดเจ็บบริเวณท้องน้อยด้านขวา โดยเฉพาะตรงจุดตำแหน่งไส้ติ่ง

อ่านเพิ่มเติม -> “ไส้ติ่งอักเสบ” อาการปวดท้องข้างขวาล่าง ที่ต้องรีบผ่าตัดก่อนไส้ติ่งแตก!

3. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักพบมากในผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล เชื้อโรคเหล่านี้จะมีอยู่มากบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก สามารถปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะ และเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะได้ การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อโรคในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี

อาการปวดท้อง : ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะสุด อาจปวดมากแบบบิดเกร็ง หรืออาจปวดแบบถ่วง ๆ แบบเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจรู้สึกปวดตลอดเวลา การตรวจร่างกายอาจพบว่ากดเจ็บบริเวณท้องน้อย

4. ลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction)

ลำไส้อุดตัน คือ ภาวะที่มีสิ่งอุดตัน หรือมีการรบกวนการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาหาร หรือของเหลวต่าง ๆ เคลื่อนผ่านไม่ได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง อาการที่เกิดขึ้นมักบอกถึงตำแหน่งการอุดตันของลำไส้ ควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ้าปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรง หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

อาการปวดท้อง : ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจกดแล้วเจ็บที่บริเวณท้อง ปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้ซี่โครง หรือสะดือ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ

5. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

เกิดจากการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะรวมถึงการติดเชื้อตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไปจนถึงไต ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ สาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จากลำไส้ หรือ ผิวหนังของอวัยวะเพศเข้าไปอยู่ในทางเดินปัสสาวะ และ แพร่เข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ หรือไต

อาการปวดท้อง : คลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น หรือปวดหลัง ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงแรงกดบริเวณด้านหน้าเชิงกราน (ช่องท้องส่วนล่าง) ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะมีเลือดปน

อ่านเพิ่มเติม -> โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คืออะไร จะรู้ได้ยังไงว่าติดเชื้อ?

6. โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)

เกิดจากการอักเสบของกระเปาะบริเวณเยื่อบุลำไส้ใหญ่ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลันรุนแรง โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงควบคุมอาการด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย บางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

อาการปวดท้อง : มีอาการกดเจ็บ หรือปวดเกร็งที่ท้องส่วนล่างบริเวณด้านซ้าย หรือด้านขวา โดยอาจปวดเรื้อรังและรุนแรง เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสีย

7. ถุงน้ำดีอักเสบ (Choleycystitis)

คือภาวะที่เกิดการอักเสบของถุงน้ำดีซึ่งเป็นอวัยวะช่วยย่อยอาหาร มีขนาดเล็กคล้ายลูกแพร์ อยู่บริเวณท้องด้านขวาใกล้ตับ ตามปกติแล้ว น้ำดีช่วยในการย่อยอาหาร โดยเฉพาะสารอาหารจำพวกไขมัน น้ำดีจะไหลผ่านถุงน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก หากเกิดการอุดตันของน้ำดี จะส่งผลให้ถุงน้ำดีบวม อักเสบ และเกิดอาการปวดได้ การอุดตันของน้ำดีมักมีสาเหตุมาจากนิ่วอุดตันในท่อถุงน้ำดี รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับท่อน้ำดี และเนื้องอกอื่น ๆ

อาการปวดท้อง : ปวดบริเวณท้องส่วนบนด้านขวา หรือตรงกลาง ซึ่งมักปวดไม่น้อยกว่า 30 นาที โดยผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเสียด ปวดบีบ หรือปวดตุบ ๆ บริเวณดังกล่าว เกิดอาการปวดท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารในปริมาณมาก หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันเยอะ

8. ม้ามแตก (Ruptured spleen)

เป็นภาวะที่เปลือกหุ้มม้ามแตก หรือฉีกขาด ทำให้มีเลือดไหลออกมาในช่องท้อง ก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ม้ามแตกมักมีสาเหตุมาจากโดนกระแทกอย่างรุนแรงทั้งจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา หรือการต่อสู้

อาการปวดท้อง : ผู้ป่วยม้ามแตกมักมีอาการปวดท้องรุนแรงโดยเฉพาะด้านซ้าย รวมถึงกดแล้วเจ็บบริเวณท้องข้างซ้ายส่วนบนด้วย

9. โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม (Pneumonia)

ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ ปอดบวม เป็นชนิดของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด โดยอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ หากเกิดการติดเชื้อจากสารเคมีหรือยาบางอย่าง มักเรียกว่าปอดอักเสบ ทั้งนี้ ปอดบวม หรือปอดอักเสบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย โดยจะพบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อาการปวดท้อง : ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เด็กทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนมร่วมด้วย

10. ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

ตับอ่อนอักเสบเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันกะทันหัน ทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงในทันที หรืออาจเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ทำให้ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาจกินเวลานานหลายปี ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาการป่วยอาจหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่ในรายที่ป่วยรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน

อาการปวดท้อง : ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณท้องส่วนบน อาจปวดร้าวลามไปที่หลังได้ โดยอาการปวดมักจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วัน มีอาการกดแล้วเจ็บ เมื่อสัมผัสหน้าท้อง หรือท้องอืด

11. โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome – IBS)

เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย ได้แก่ ปลายลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก ที่มีการบีบตัวมากเกินไป เป็นโรคเรื้อรังอาจเป็นปี ๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต ทั้งนี้โรคลำไส้แปรปรวนไม่ใช่โรคอันตราย หรือทำให้เสียชีวิต

โรคนี้สามารถใช้ยา Dicyclomine (ไดไซโคลมีน) เพื่อใช้รักษาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน ทำงานโดยการขัดขวางการทำงานของสารเคมีในกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และลดอาการหดเกร็ง อย่างไรก็ตาม ยานี้ควรใช้ตามที่แพทย์สั่ง ควรตรวจสอบฉลากยา เพื่อคำแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง

อาการปวดท้อง : ท้องอืด แน่นท้อง ปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย หรือใต้สะดือ อาการปวดหายไปหลังขับถ่าย ลักษณะของก้อนอุจจาระจะเปลี่ยนไปจากแข็งกลายเป็นเหลวจนเป็นน้ำผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม -> ท้องเสีย ถ่ายบ่อย ให้ระวัง! โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

12. โรคกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)

เป็นโรคที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น มักพบในชายมากกว่าหญิงประมาณ 3 : 1 ระหว่างอายุ 20 ถึง 50 ปี สาเหตุใหญ่นั้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. pylori)” ในกระเพาะอาหาร ซึ่งพบได้บ่อยในประชากรไทย โดยได้รับเชื้อนี้ผ่านทางอาหาร และน้ำดื่มที่ไม่สุกสะอาด หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ก่อน

โรคกระเพาะอาหารสามารถใช้ “ยาลดกรด” เพื่อบรรเทาอาการแผลในกระเพาะอาหารได้

อาการปวดท้อง : แสบร้อนท้อง จุกเสียดแน่นท้อง รู้สึกท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร

อ่านเพิ่มเติม -> ปวดท้องบ่อย ให้ระวัง! โรคกระเพาะอาหาร •สาเหตุ •อาการ •วิธีรักษา

เราสามารถป้องกันอาการปวดท้องได้อย่างไร?

เราสามารถป้องกัน หรือลดความเสี่ยงของอาการปวดท้องได้ดังนี้

  • กินอาหารเพื่อสุขภาพ และถูกสุขอนามัย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน ไม่อั้นปัสสาวะ นานเกิน 6 ชม.
  • งดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรตรวจสุขภาพประจำปี
  • กินอาหารมื้อเล็ก ไม่กินจนทำให้รู้สึกจุก
  • หลังกินอาหารเสร็จ ไม่ควรนอนเลยทันที
  • หากคุณมีโรคกรดไหลย้อน อย่ากินภายใน 2 ชั่วโมงก่อนนอน

 

อ้างอิง : 1. healthline 2. mayoclinic 3. pobpad 1/2/3 4. hellokhunmor

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close