โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คืออะไร จะรู้ได้ยังไงว่าติดเชื้อ?

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection) เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ใครที่ยังไม่เคยเป็น อย่าคิดว่าตัวเองคงไม่มีโอกาสพบเจอกับโรคนี้ โดยเฉพาะคุณสาว ๆ นั้นมีโอกาสเป็นโรคนี้กันเยอะมาก โรคนี้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดเชือนี้หรือยัง มาเช็ก เพื่อเตรียมรับมือกัน

รู้จักระบบทางเดินปัสสาวะ

ระบบทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน ทำหน้าที่กำจัดของเสีย และ รักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบไปด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และ ท่อปัสสาวะ

  • ไต มีหน้าที่หลักคือกรองของเสียที่อยู่ในเลือด ดูดซึมสารที่มีประโยชน์ รักษาสมดุลของเหลว ฯลฯ
  • ท่อไต ทำหน้าที่นำปัสสาวะจากไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะ
  • กระเพาะปัสสาวะ เป็นอวัยวะสำหรับพักปัสสาวะไว้ชั่วคราว ก่อนขับออกจากร่างกาย
  • ท่อปัสสาวะ เป็นท่อต่อจากกระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกสู่นอกร่างกาย

ทางเดินปัสสาวะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

1. ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (Lower urinary tract) หมายถึง กระเพาะปัสสาวะ และ ท่อปัสสาวะ
2. ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน (Upper urinary tract) หมายถึงไต และ ท่อไต

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คืออะไร ?​

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection หรือ UTI) หมายถึง การเกิดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะรวมถึงการติดเชื้อตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไปจนถึงไต ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • โรคท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)
  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
  • โรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)

สาเหตุของ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จากลำไส้ หรือ ผิวหนังของอวัยวะเพศเข้าไปอยู่ในทางเดินปัสสาวะ และ แพร่เข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ หรือไต

อาการของ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ถ้าติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง จะมีอาการ

  • ปัสสาวะแสบขัด และ เจ็บเสียวเมื่อใกล้สุด
  • ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะออกมาน้อย
  • ปัสสาวะอาจมีกลิ่น
  • ปัสสาวะขุ่น อาจมีเลือดปน

ถ้าติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนบน หรือ กรวยไต จะมีอาการ

  • ปัสสาวะแสบขัด กระปริบกระปรอย
  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง หรือสองข้าง
  • ถ้าอาการรุนแรง อาจมีความดันโลหิตต่ำ และ หมดสติได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อทางทางเดินปัสสาวะ

สังเกตการปัสสาวะของตัวเอง ถ้าการปัสสาวะมีความผิดปกติ หรือ สงสัยว่าตัวเองอาจจะมีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ควรไปหาหมอ เพื่อให้หมอตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยการตรวจเพื่อดูว่าติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือไม่นั้น ทำได้ง่าย ๆ คือ ใช้การตรวจปัสสาวะนั่นเอง

– การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาการติดเชื้อจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจปนอยู่ในน้ำปัสสาวะ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เลือด หรือเม็ดเลือดขาว หากพบเม็ดเลือดขาวมากกว่า 3-5 ตัว อาจเป็นไปได้ว่ามีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย

– การเพาะเชื้อปัสสาวะ หากตรวจปัสสาวะแล้วพบว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อ อาจจะมีการตรวจด้วยการเพาะเชื้อปัสสาวะเพิ่มเติม

– ส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ ถ้ามีอาการรุนแรง หรือ เรื้อรัง เป็นไม่หาย หมออาจจะตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ ดูว่ามีความผิดปกติอื่นนอกจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือไม่

– การตรวจทางรังสีวิทยา ใช้ในการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนจาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น การตรวจนิ่วในทางปัสสาวะ การตรวจการอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะ

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

วิธีการรักษา โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

– กินยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่ หากมีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง คือ กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หมอจะให้กินยาปฎิชีวนะประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องแอดมิด นอนโรงพยาบาล

– ให้ยาปฎิชีวนะทางหลอดเลือดดำ หากมีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนบน หรือติดเชื้อที่ไต หมอจะให้นอนโรงพยาบาล เพราะจำเป็นต้องให้ยาปฎิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน หากอาการดีขึ้นก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับมาตรวจเพิ่มเติม

ป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ได้อย่างไร?

– ดื่มน้ำมากขึ้น ควรดื่มน้ำให้ได้ประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน

– ไม่กลั้นปัสสาวะ

– ปัสสาวะก่อนนอน และ หลังมีเพศสัมพันธ​์

– เช็ดทำความสะอาดให้แห้งเสมอ

– ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะผู้หญิง ควรเช็ดทำความสะอาดโดยเช็ดจากช่องคลอดจากด้านหน้าไปด้านหลัง

– หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ หรือ สารเคมีเติมในอ่างอาบน้ำ

รู้หรือไม่ !

– โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะสั้น ทำให้แบคทีเรียผ่านเข้าไปง่ายกว่า

– 50% ของผู้หญิงต้องเคยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในชีวิต อย่างน้อย 1 ครั้ง

– ช่วงอายุของผู้หญิงที่มีโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้บ่อยที่สุด คือ ช่วงอายุ 18-40 ปี


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close