ยาต้านฮิสตามีนสำหรับเด็ก (ยาแก้แพ้เด็ก) ควรเลือกใช้อย่างไรดี?

ยาต้านฮิสตามีน

ยาต้านฮิสตามีนสำหรับเด็ก (Antihistamines) เป็นยากลุ่มที่มีการใช้บ่อยในเด็กที่มีภาวะภูมิแพ้ สามารถรักษาอาการได้หลากหลาย เช่น ภูมิแพ้เฉียบพลัน เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ หอบหืด ผื่นลมพิษ และผื่นผิวหนังอักเสบ โดยมีการศึกษาว่าผู้ป่วยเด็กจำนวนมาก มักได้รับยาต้านฮิสตามีนก่อนที่จะมาพบแพทย์

โดยยาต้านฮิสตามีนมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม และ ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง

1. ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamines) ได้มีการใช้มาเป็นเวลาหลายปี ในขณะที่การศึกษาวิจัยของการใช้ยากลุ่มนี้มีอยู่จำกัด

2. ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) มีการศึกษาทั้งในด้าน ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย สำหรับการใช้ในเด็ก

ยาต้านฮิสตามีน กลุ่มดั้งเดิม และกลุ่มที่สองในประชากรเด็ก

1. ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamines) มีการใช้มาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี และยังคงเป็นที่นิยม ถึงแม้จะไม่มีการศึกษาที่เพียงพอในประชากรกลุ่มเด็ก โดยยากลุ่มนี้ถูกดูดซึมได้ดีหลังจากรับประทาน และมีระดับยาสูงสุดในเลือดภายใน 1-3 ชั่วโมง และยังสามารถให้ยาทางหลอดเลือดเพื่อรักษาอาการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis)

มีการกำจัดยาอย่างรวดเร็วในเด็ก มีค่าครึ่งชีวิตที่สั้น และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ในเด็กที่สั้นกว่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้มักใช้เวลาประมาณ  3 วัน หลังจากเริ่มรับประทาน จึงจะมีฤทธิ์รักษาอาการทางผิวหนังให้กลับเป็นเหมือนเดิม

ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม ยังสามารถผ่านเข้าสู่สมอง ทำให้มีผลต่อระบบประสาท และมีผลเสียคือทำให้มีอาการปากแห้ง ท้องผูกได้

ในทางตรงกันข้าม ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) มีการศึกษาทั้งในด้านข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็ก

2. ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) ส่วนใหญ่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ทำให้รับประทานยาสะดวกเพียงวันละ 1 ครั้ง แม้ว่าการกำจัดยาออกจากเลือดของยาต้านฮิสตามีนชนิดออกฤทธิ์นานจะใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่ยายังคงอยู่มีอยู่ภายนอกเลือดได้นาน จึงมีฤทธิ์ที่ยาวนานมากกว่า 1 วัน

โดยทั่วไปแล้ว ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง จะยังคงมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 3 วัน หลังหยุดรับประทานยาเมื่อเทียบกันยาหลอก จากการศึกษายืนยันว่า ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) มีการออกฤทธิ์ที่รวดเร็ว

มีรายงานพบว่ายาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) มีผลยับยั้งอาการของผื่นบนผิวหนังภายใน 90 นาที ในผู้ป่วยมากกว่า 40% หลังจากการรับประทานยา

ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง ที่นิยมใช้ ได้แก่

  • ลอราทาดีน (Loratadine)
  • เดสลอราทาดีน (Desloratadine)
  • เซทิรีซีน (Cetirizine)
  • เลโวเซทิรีซีน (Levocetirizine)
  • เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)

ยาต้านฮิสตามีน

– ยาลอราทาดีน (Loratadine) ถูกดูดซึมได้ทันทีในระบบทางเดินอาหาร มีการเปลี่ยนแปลงยาโดยผ่านตับ มีค่าครึ่งชีวิตโดยเฉลี่ย 7.8-11 ชั่วโมง

– เซทิรีซีน (Cetirizine) และเลโวเซทิรีซีน (Levocetirizine) ขับออกทางปัสสาวะ มีการกำจัดยาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบยา

– เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ถูกขับออกทางน้ำดี มีการกำจัดยาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบยา โดยมีค่าเฉลี่ยครึ่งชีวิตการกำจัดยา 18 ชั่วโมงในเด็ก และ 14 ชั่วโมงในผู้ใหญ่

ถ้าจะทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ต้องหยุดยาก่อนไหม?

ในการทางคลินิก ผู้ที่จะทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง จะได้รับคำแนะนำให้หยุดยาต้านฮิสตามีนชนิดออกฤทธิ์นาน ประมาณ 5-7 วัน และยาต้านฮิสตามีนชนิดออกฤทธิ์สั้นประมาณ 48 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการทดสอบ

ส่วนยา Ranitidine (กลุ่ม H2 antagonist) สามารถลดปฏิกิริยาทางผิวหนังได้ จึงมีบางคำแนะนำให้หยุดยาชนิดนี้ในวันที่จะทำการทดสอบ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน

ยาต้านฮิสตามีนสำหรับเด็ก มีข้อบ่งใช้อย่างไร?

– เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และเยื่อบุตาอักเสบ

เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็ก และมีอุบัติการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น อาการที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดปัญหา และเป็นสาเหตุของการลดคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

ยาต้านฮิสตามีนทั้งกลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamines) และกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) มีการใช้สำหรับการรักษาเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ แต่การศึกษาทางคลินิคของการใช้ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamines) ยังคงมีน้อย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานความเสี่ยงของการใช้ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม โดยระบุว่า

– มีการลดช่วงระยะเวลาการหลับลึก ทำให้การเรียนรู้ และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเด็กที่พบการลดคุณภาพการนอน และสมาธิในระหว่างวันอยู่แล้ว เนื่องมาจากอาการของโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

– นอกจากนี้ มีการศึกษาในกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ที่มีอายุระหว่าง 15-17 ปี แสดงให้เห็นว่า อาการของโรค และผลข้างเคียงจากการใช้ยา มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อผลการเรียนที่ลดลงมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ใช้ยา

ดังนั้น จึงมีคำแนะนำว่า ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamines) ไม่ควรเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปสำหรับการรักษาโรคภูมิแพ้

ส่วนยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) ที่ไม่ง่วงนอน มีผลข้างเคียงน้อยกว่า จึงควรเป็นทางเลือกในการรักษาโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

มีการศึกษาจำนวนมากสนับสนุนการใช้ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) ในผู้ป่วยเด็ก ยาต้านฮิสตามีนมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการจาม คัน และน้ำมูกไหล แต่มีประสิทธิภาพน้อยในการรักษาอาการคัดจมูก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาลอราทาดีน สามารถช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ทั้งอาการทางด้านจมูก และตา เมื่อใช้ยาที่ขนาด 2.5-5 มิลลิกรัมต่อวัน และมีหลายการศึกษาที่สนับสนุนการใช้ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) สำหรับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ตามฤดูกาลและเรื้อรัง

โดยเฉพาะยาลอราทาดีน และยาในกลุ่มเดียวกัน เช่น ยาเซทิรีซีน (Cetirizine) พบว่าเด็กที่ได้รับจำนวน 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง มีอาการของโรคภูมิแพ้ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับยาหลอก หรือยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) พบว่าสามารถบรรเทาอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ตามฤดูกาลได้ดีกว่ายาหลอก รวมถึงมีความปลอดภัยสูง

ในบางหลักฐาน แสดงให้เห็นว่า การใช้ยาต้านฮิสตามีน (Antihhistamines) อย่างสม่ำเสมอ สามารถควบคุมอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ดีกว่าการใช้เป็นครั้งคราว โดยการรักษาระยะยาว และต่อเนื่องจะทำให้สามารถควบคุมอาการของระบบทางเดินหายใจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ดีกว่า

ยาอะเซลาสทีน (Azelastine) ซึ่งเป็นยาต้านฮิสตามีนชนิดพ่นจมูก มีประสิทธิภาพในการรักษาเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ดีกว่ายารับประทาน แต่การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาต้านฮิสตามีน และการใช้ยาต้านฮิสตามีนชนิดพ่นจมูก และยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกร่วมกัน พบว่ามีประสิทธิภาพทีดีกว่าการใช้ยาแต่ละตัวเพียงอย่างเดียว

สำหรับยาหยอดตาโอโลพาทาดีน (Olopatadine) มีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษา และบรรเทาอาการโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้

ยาต้านฮิสตามีน

– หอบหืดจากภูมิแพ้ (ร่วมกับมีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้)

เด็กที่เป็นโรคหอบหืด ส่วนใหญ่มักมีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย โดยมักจะแสดงอาการของโรคในทางเดินหายใจส่วนบน คือ เยื่อบุจมูกอักเสบมาก่อนที่จะเป็นโรคทางเดินหายใจส่วนล่าง คือโรคหอบหืด

สารก่อการอักเสบที่ผลิตจากเยื่อบุจมูกที่ได้รับการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ สามารถทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในทางเดินหายส่วนล่าง และเกิดโรคหอบหืดตามมา โดยพบสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารที่สำคัญในกระบวนการอักเสบที่ทำให้เกิดโรคในทางเดินหายใจ มีปริมาณมากขึ้นในเลือดเมื่อเกิดโรคหอบหืด ยาต้านฮิสตามีน สามารถช่วยลดอาการไอ และทำให้การทำงานของปอดดีขึ้นในเด็กที่แพ้ละอองเกสร

การศึกษาแบบทบทวนวรรณกรรม พบว่าการใช้ยา คีโตติเฟน (Ketotifen) เพียงตัวเดียว หรือใช้ร่วมกับยาตัวอื่น มีประสิทธิภาพในการควบคุมอาการหอบหืดในเด็กที่เป็นหอบหืดแบบไม่รุนแรงจนถึงปานกลาง โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีการอักเสบในทางเดินหายใจส่วนบน และส่วนล่าง (มีอาการหอบหืดและเยื่อบุจมูกอักเสบในเวลาเดียวกัน)

การใช้ยาต้านฮิสตามีนจะช่วยลดอาการได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาขยายหลอดลม และในการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการกลุ่มดังกล่าว ถ้าได้รับการรักษาอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากหอบหืด

การศึกษาในเรื่องการใช้ยาต้านฮิสตามีนเป็นประจำเพื่อป้องกันหอบหืดในเด็กที่แพ้ละออกเกสร และไรฝุ่น พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในด้านอุบัติการณ์ของการเกิดหอบหืด ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว แนวทางการรักษาในปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนในการควบคุมโรคหอบหืด

– ผื่นลมพิษ

ยาต้านฮิสตามีน มีการใช้สำหรับการรักษาผื่นลมพิษทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรังในเด็ก ผื่นลมพิษแบบเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาการแพ้ต่ออาหารหรือสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ และสามารถเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อไวรัสในเด็กเล็ก ส่วนผื่นลมพิษเรื้อรัง (มีอาการทุกวันเป็นเวลามากกว่า 6 สัปดาห์) พบได้น้อยในเด็ก

มีการศึกษาโดยทำการทดสอบผลของยาต้านฮิสตามีน ของตัวยา เลโวเซทิริซีน (Levecetirizine) ในเด็กทารกที่มีความเสี่ยงเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ ที่มีอายุระหว่าง 12-24 เดือน โดยใช้ขนาดยา 0.125 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 18 เดือน พบว่าการใช้ยา เลโวเซทิริซีน (Levecetirizine) ลดจำนวนครั้งและจำนวนระยะเวลาการเกิดผื่นลมพิษเมื่อเทียบกับยาหลอก การใช้ยา เลโวเซทิริซีน (Levecetirizine) ทั้งเป็นครั้งคราว และใช้เป็นประจำ ช่วยป้องกัน และรักษาผื่นลมพิษในเด็กเล็ก

ผื่นลมพิษเรื้อรัง ที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง หลังจากที่มีการใช้ขนาดยาที่แนะนำเป็นเวลา 1-4 สัปดาห์ อาจพิจารณาใช้ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สองขนาดสูง หรือใช้ร่วมกันกับยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สองตัวอื่น

– ผื่นผิวหนังอักเสบ

อาการคันเป็นสาเหตุของความไม่สบายตัวในเด็กที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม มีการใช้สำหรับบรรเทาอาการคันเป็นเวลานาน แม้ผลการศึกษาในด้านประสิทธิภาพจะยังไม่ชัดเจน

ส่วนตัวยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง คือ เซทิรีซีน และเฟกโซเฟนาดีน มีการใช้บรรเทาอาการคันเช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนการใช้ยาในทางปฏิบัติ มีการรายงานว่ามีการใช้ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม เช่น ไฮดรอกซิซีน ในการเกิดผื่นระยะที่กลับมาเป็นซ้ำ เนื่องจากผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงนอน โดยใช้ร่วมกับยาทาในผู้ที่มีอาการคันรุนแรง

แนวทางการรักษาสำหรับโรคผื่นผิวหนังอักเสบ แนะนำให้ใช้ ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง ที่ไม่ง่วงนอนในเด็กที่มีอาการคันรุนแรงเป็นเวลา 1 เดือน และติดตามผลทุก 3 เดือน และใช้ยาต่อหากมีการตอบสนองต่อยาที่ดี

– อาการแพ้เฉียบพลัน

มีการแนะนำให้ใช้ยาต้านฮิสตามีน สำหรับอาการแพ้เฉียบพลันในเด็ก โดยหากเป็นอาการแพ้รุนแรง มักใช้ยาต้านฮิสตามีน เช่น คลอเฟนิรามีน (chlopheniramine) ชนิดฉีด หลังจากการใช้ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในการใช้ยาต้านฮิสตามีนสำหรับอาการแพ้รุนแรง

อาการที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในการสนับสนุนในด้านประสิทธิภาพ

– หูชั้นกลางอักเสบ

ยังไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจนในด้านของประสิทธิภาพ ในการใช้ยาต้านฮิสตามีนเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับยาหดหลอดเลือดในการรักษาหูชั้นกลางอักเสบ

– ไอ

อาการไอเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็ก การศึกษาประสิทธิภาพของยาต้านฮิสตามีนในผู้ที่มีอาการไอทั้งแบบเฉียบพลัน และผู้ที่ไอเป็นระยะเวลานานโดยไม่เฉพาะเจาะจง พบว่ายังไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับยาหลอก ส่วนอาการไอจากเสมหะไหลลงคอ ควรใช้การล้างจมูก และยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก

– การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

การศึกษาพบว่าการใช้ยาต้านฮิสตามีนสำหรับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ยังไม่มีประโยชน์ในทางคลินิก โดยเฉพาะยิ่งการใช้ยาต้านฮิสตามีนเดี่ยว ๆ พบว่าไม่มีผลในการบรรเทาอาการจาม คัดจมูก หรือน้ำมูกไหลในโรคหวัด

ความปลอดภัยในการใช้ ยาต้านฮิสตามีน

– ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง

ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม สามารถผ่านเข้าสู่สมอง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน เซื่องซึม หรือมีฤทธิ์ที่ตรงข้าม คือ หงุดหงิด อยู่ไม่นิ่ง และชัก ทำให้เกิดการกดการหายใจ และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงอาการตาพร่าและปากแห้ง และยังส่งผลต่อการเรียนรู้

โดยเมื่อศึกษาการใช้ยาในเด็กที่เป็นเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ที่ได้รับยาต้านฮิสตามีนแบบง่วงนอน, แบบไม่ง่วงนอน และยาหลอก เทียบกับเด็กที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้ พบว่า เด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้มีประสิทธิภาพในการเรียนลดลงเทียบกับเด็กไม่เป็นโรคภูมิแพ้ และ ยิ่งแย่ลงถ้าหากได้รับยาต้านฮิสตามีนชนิดง่วงนอน

ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง สามารถเข้าระบบประสาทส่วนกลางได้น้อย จึงมักไม่มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางในเด็ก โดยลอราทาดีน และเฟกโซเฟนาดีน มีผลข้างเคียงง่วงนอนน้อยกว่ายาเซทิริซีน และยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม

ลอราทาดีน (Loratadine) เป็นยากลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน มีขนาดยาแนะนำที่ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง แต่อาจทำให้เกิดการง่วงนอนและประสิทธิภาพในการทำงานลดลงถ้าหากได้รับปริมาณมากกว่า2-4 เท่าของขนาดยาที่แนะนำ

เฟกโซเฟนาดีน ถึงแม้จะไม่มีผลทำให้เกิดการง่วงนอนในขนาดยาที่สูง แต่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียง คือ ปวดหัว อ่อนเพลีย และเวียนศีรษะ

– ผลต่อหัวใจ

ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม เช่น เทอเฟนาดีน แอสเทมีโซล มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ จึงทำให้มีการเลิกใช้ยาดังกล่าว

ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง โดยเฉพาะ เช่น ลอราทาดีน ไม่มีผลข้างเคียงต่อหัวใจ ไม่พบรายงานการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นเดียวกับเซทิรีซีน และ เฟกโซเฟนาดีน

การได้รับยาเกินขนาด

การได้รับยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม เกินขนาดมีผลทำให้เสียชีวิตได้จากภาวะหัวใจวาย รวมถึงอาจมีอาการร้อนวูบวาบ ประสาทหลอน ชัก ความดันสูง และมีไข้

การศึกษาของยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง มีจำกัด ไม่พบรายงานของลอราทาดีน มีแต่รายงานการได้รับยาเซทิรีซีน เกินขนาดที่ 180 มิลลิกรัม พบว่าผู้ป่วยเกิดอาการสับสนในช่วงเวลาสั้น ๆ และ การได้รับยาเกินขนาดที่ 60 มิลลิกรัม เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และง่วงนอนอย่างรุนแรง

การใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร

– ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม บางตัวมีผลต่อทารกในการศึกษาในสัตว์ แต่ไม่มีผลต่อทารกในมนุษย์ มีรายงานการเกิดอาการสั่น และหงุดหงิด ในทารกที่มารดาได้รับยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม ขนาดสูงก่อนการคลอด รวมถึงทารกที่ได้รับยาที่ผ่านทางน้ำนม

– ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง ยังไม่มีการศึกษาผลต่อทารกที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ควรพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์

– ยาลอราทาดีน และ ยาเซทิริซีน ถูกขับออกได้ทางน้ำนม หญิงที่ให้นมบุตรจึงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง

– ยาลอราทาดีน และ ยาเซทิริซีน จัดอยู่ใน Pregnancy category B คือไม่พบผลต่อทารกสำหรับการศึกษาในสัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือ มีผลต่อทารกสำหรับการศึกษาในสัตว์ แต่ไม่มีผลต่อทารกสำหรับการศึกษาในมนุษย์

– ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) จัดอยู่ใน Pregnancy category C คือ มีผลต่อทารกสำหรับการศึกษาในสัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาที่เพียงพอในมนุษย์ หรือไม่มีการศึกษาที่เพียงพอในทั้งมนุษย์และสัตว์

ยาต้านฮิสตามีนมักมีการใช้ในเด็กที่มีภาวะภูมิแพ้  โดยยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง ได้แก่ ลอราทาดีน, เดสลอราทาดีน, เซทิรีซีน, เลโวเซทิรีซีน และเฟกโซเฟนาดีน มีการศึกษาสนับสนุนการใช้ในเด็กในด้านประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการภูมิแพ้ โดยมีผลข้างเคียงที่น้อย

เนื่องจากยา กลุ่มนี้ผ่านเข้าสู่สมองได้น้อย จึงมีผลข้างเคียงง่วงนอนน้อยกว่ายาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม และไม่มีผลลดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็ก จึงเป็นทางเลือกในการรักษาเยื่อบุจมูกอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ และผื่นลมพิษเรื้อรัง เนื่องจากมีความสะดวกในการรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง

ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง จึงเป็นตัวเลือกในการรักษาภาวะภูมิแพ้ที่มีความปลอดภัยมากกว่า ผลข้างเคียงในด้านการง่วงนอนน้อยกว่ากลุ่มยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม และมีข้อดีคือ มีค่าครึ่งชีวิตที่ยาวนานกว่า ออกฤทธิ์ได้นานกว่า จึงทำให้ไม่ต้องรับประทานจำนวนหลายครั้งต่อวันมีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงน้อย

บทความโดย ดร. ภก. นิติ สันแสนดี อาจารย์พิเศษ ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สุขภาพ

อ้างอิง :
sciencedirect.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close