หายใจติดขัด… มีกลิ่นคาวที่จมูก… น้ำมูกเยอะ หรือเราจะเป็น “ริดสีดวงจมูก” !!

ริดสีดวงจมูก

ริดสีดวงจมูก แค่ได้ยินก็หยึยแล้ว! แต่รู้มั้ยว่า เจ้าริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกในจมูกนี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจาก ไซนัสอักเสบที่เราคุ้นหูกันดีนี่เอง! แล้วจะทำยังไงกันดีล่ะ มีวิธีไหน ที่จะป้องกันไม่ให้เป็นริดสีดวงจมูกได้บ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาให้คุณแล้ว

 

ริดสีดวงจมูก คืออะไร?

ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyp) เป็นติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อเมือกในโพรงจมูก ที่มักไม่มีอันตรายร้ายแรง เว้นแต่ว่า ถ้าก้อนติ่งเนื้อโตมากจะทำให้หายใจไม่สะดวก และสูญเสียการรับรู้กลิ่นไปได้ เป็นโรคทางจมูกและไซนัส เมื่อเป็นขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็มักจะเป็นซ้ำได้อีก ส่วนใหญ่พบมากในผู้ใหญ่อายุ 20 – 40 ปี (ในเด็กจะพบน้อยมาก) และในผู้ที่เป็นโรคหืด เป็นหวัด ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

ริดสีดวงจมูกเกิดจากอะไร?

โดยทั่วไปแล้ว ริดสีดวงจมูกมักเกิดจากสาเหตุหลายอย่างรวมกัน เช่น

  • การอักเสบ และการติดเชื้อของเยื่อบุจมูก และเยื่อบุไซนัส ที่เกิดซ้ำ ๆ และบ่อย ๆ จนส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวม
  • การตีบแคบของทางเดินอากาศในโพรงจมูก และไซนัส ทำให้การไหลเวียนอากาศผิดปกติ และเกิดการบวมอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูก และไซนัส
  • ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ควบคุมหลอดเลือดของเยื่อบุจมูก และเยื่อบุไซนัส ส่งผลให้มีของเหลวไหลออกจากหลอดเลือดจนเกิดการบวมเรื้อรัง และกลายเป็นก้อนเนื้อในที่สุด
  • มีเชื้อราในจมูก
  • เป็นโรคไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้ หรือหอบหืด
  • พันธุกรรม

ริดสีดวงจมูก

อาการของริดสีดวงจมูก

เมื่อก้อนริดสีดวงจมูก หรือติ่งเนื้อเมือก มีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไป

  • มีก้อนริดสีดวงจมูกหลายก้อน และมักพบขึ้นทั้ง 2 ข้างของโพรงจมูก
  • ก้อนริดสีดวงจมูก จะเป็นก้อนเนื้อนุ่ม ผิวค่อนข้างเรียบใส มีสีขาวเทา หรือสีออกขาวเหลือง ซีด ๆ ขุ่นๆ
  • คัดจมูก แน่นจมูก คัดจมูกหายใจไม่ออก โดยมักมีอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน
  • รับรู้กลิ่นหรือรสชาติได้น้อยลง
  • มีน้ำมูกไหลลงคอ
  • น้ำมูกอาจมีลักษณะใส ขุ่นข้น เหนียว หรือมีสีเหลืองเขียว น้ำมูกมีกลิ่นเหม็น
  • รู้สึกปวด แน่น บริเวณหัวคิ้วหรือโหนกแก้ม
  • ในผู้ที่มีอาการไซนัสอักเสบร่วมด้วย มักปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ
  • ปวด หรือมึนศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู
  • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
  • นอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ริดสีดวงจมูก

การรักษาริดสีดวงจมูก

การรักษา ริดสีดวงจมูก จะเน้นไปที่การกำจัด หรือทำให้ริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็กลง เพื่อให้จมูกโล่งขึ้น และหายใจทางจมูกได้ตามปกติ เพื่อลดอาการ คัดจมูกเรื้อรัง น้ำมูกไหล คัน จาม และ น้ำมูกไหลลงคอ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมารับรู้กลิ่นได้ตามปกติ รวมถึงเพื่อรักษาโรคอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับริดสีดวงจมูก เช่น ไซนัสอักเสบ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก โดยวิธีการที่แพทย์มักใช้ในการรักษาริดสีดวงจมูก คือ

  • ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก กิน หรือฉีด ในรายที่ริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็ก เพื่อลดขนาดของริดสีดวงจมูก และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับกลิ่นดีขึ้น
  • ผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกแบบธรรมดา ใช้ลวดคล้องและดึงริดสีดวงจมูกออกมา จะเป็นการผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกเท่านั้น ไม่ได้ผ่าตัดเข้าในโพรงไซนัส แต่วิธีนี้ทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง
  • การผ่าตัดริดสีดวงจมูกและไซนัส ด้วยวิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัส หรือการผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้องเทโลสโคป เป็นการผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออก ร่วมกับผ่าตัดเข้าไปในโพรงไซนัส โดยใช้กล้องเทโลสโคป เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา แต่ยุ่งยาก และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

ริดสีดวงจมูก

วิธีป้องกันริดสีดวงจมูก

  • แก้อาการคัดจมูก ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คัดจมูก คันจมูก หรือทำให้จาม
  • ห้ามสั่งน้ำมูกแรง ๆ หากน้ำมูกไหล ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษที่ซับน้ำได้ดีซับออก เพราะจะทำให้เยื่อเมือกช้ำ
  • ห้ามใช้ยาหยอดจมูก ยาพ่นจมูก หรือยานัตถุ์ทุกชนิด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
  • หากเป็นโรคหืด หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ ควรรับการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อลดโอกาสเสี่ยง
  • ล้างจมูกโดยใช้น้ำเกลือ เพื่อล้างสารก่อภูมิแพ้ และลดการระคายเคืองของจมูก

จมูก เป็นอวัยวะสำคัญที่ติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากการหายใจเข้า อาจนำเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าร่างกายของเราไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น เราจึงควรดูแลใส่ใจจมูก เพื่อป้องกันโรคทางระบบหายใจต่างๆ และหมั่นสังเกตถึงความผิดปกติ เพื่อที่จะได้สามารถรักษาได้ทัน ก่อนที่จะลุกลาม และกลายเป็นโรคร้ายแรงไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close