“โรคคลั่งผอม” อาการป่วยที่ไม่ไกลตัวสาวยุคใหม่

โรคคลั่งผอม

ในยุคสมัยที่มีโซเชี่ยลเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงได้อวดรูปร่าง หน้าตา มากขึ้น ผู้หญิงหลาย ๆ คน จึงเลือกที่จะเข้าสู่โหมดไดเอทลดหุ่นให้ผอมเพรียว แขนขาเล็กเรียว เพื่อจะได้แช๊ะภาพมาอวดทางโลกโซเชี่ยลกับเพื่อน ๆ แต่ในบางรายเมื่อ “ยิ่งผอม ยิ่งกลัวอ้วน” จนทำให้กลายเป็น “โรคคลั่งผอม” เลยทีเดียว!! แล้วโรคนี้จะมีลักษณะอาการอย่างไร มาติดตามกันได้เลย

โรคคลั่งผอม คืออะไร?

โรคคลั่งผอม หรือโรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia nervosa) เป็นความผิดปกติทางจิตใจชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะจดจ่อหมกมุ่นกับรูปร่างของตนเอง ต้องการให้ตนผอมลงเรื่อย ๆ กลัวอย่างรุนแรงว่าตนเองจะอ้วน แม้ว่าจะผอมอยู่แล้ว หรือยิ่งผอมยิ่งกลัวอ้วนนั่นเอง ผู้ป่วยที่จัดว่าเป็นโรคคลั่งผอม คือผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงลงอย่างน้อย 15% จากน้ำหนักตัวปกติ ทำให้ผู้ป่วยจำกัดปริมาณอาหารที่ตนเองกิน หรือออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลง

คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคคลั่งผอม จะไม่มีความอยากอาหารโดยอัตโนมัติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจำนวนมาก ยังมีความอยากอาหารอยู่ แต่เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้น ร่างกายของผู้ป่วย จะเกิดอาการปฏิเสธที่จะรับอาหารเข้าสู่ร่างกาย ทำให้แม้ว่าจะพยายามกินอาหารเข้าไป ก็จะอาเจียนอาหารเหล่านั้นออกมา โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้

ใครเป็นโรคคลั่งผอมได้บ้าง?

โรคคลั่งผอมจะพบได้มากในผู้หญิง มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น แต่ก็พบได้ในช่วงอายุอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับรูปร่างของตนเอง เช่น นักแสดง นางแบบ หรือนักกีฬา มักเป็นผู้ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้สูง และกับบางกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำพูดกระทบกระทั่งเรื่องรูปร่าง จนทำให้สภาพจิตใจแย่ลง เครียดได้ง่าย และอาจมี โรคซึมเศร้า ร่วมด้วย

โรคคลั่งผอม

อาการของโรคคลั่งผอม

อาการทั่วไปของโรคคลั่งผอม มักรวมถึงอาการดังต่อไปนี้
• น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน
• ยังลดน้ำหนัก หรือจำกัดปริมาณอาหารต่อไป แม้ว่าจะผอมแล้ว หรือมีน้ำหนักตัวต่ำมาก
• มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เช่น แอบกินอาหารโดยไม่ให้ใครรู้
• รู้สึกว่าอ้วนอยู่ตลอดเวลา แม้เมื่อมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
• ไม่สามารถประเมินน้ำหนักตัวที่เหมาะสมตามความเป็นจริงได้
• ค้นหาความสมบูรณ์แบบอยู่เสมอ และกดดันตัวเองอย่างหนัก
• มีอาการหดหู่ ซึมเศร้า กระวนกระวาย หรือหงุดหงิดง่าย
• ในผู้หญิง มักมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มาเลย
• มีการใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ และยาลดความอ้วน
• กินอาหารแล้วก็ต้องเอามือล้วงคอให้อ้วกออกมา
• ใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อปกปิดร่างกายที่ผอมเกินไป
• ออกกำลังมากจนเกินไป

อาการอื่นๆ ที่มักแสดงออกทางร่างกาย คือ
• ขี้หนาว ทนอากาศหนาวไม่ค่อยได้
• ผมและเล็บแห้งเปราะ ผมบางลง
• ผิวแห้งแตกกร้าน เหลืองซีด
• เป็นโรคโลหิตจาง
ท้องผูก
• ข้อต่อบวม
• ฟันผุ

โรคคลั่งผอม

อันตรายของโรคคลั่งผอม

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้เกิดผลเสียต่างร่างกาย ดังนี้
• อวัยวะต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะหัวใจ สมอง และไต
• ความดันโลหิต อันตราการเต้นของหัวใจ และจังหวะการหายใจลดต่ำลง
• หัวใจเต้นผิดจังหวะ
• ผมร่วง
• ภูมิต้านทานของร่ายกายต่ำลง ทำให้ป่วยได้ง่าย
• เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกบาง และโรคกระดูกพรุน
• เสียชีวิต เนื่องจากขาดอาหาร หรือฆ่าตัวตาย

จะรู้ได้อย่างไร ว่าตัวเองเป็นโรคคลั่งผอมหรือไม่

มีคนจำนวนมากที่เป็นโรคคลั่งผอมโดยไม่รู้ตัว หากต้องการทราบว่า ตัวเองผอมเกินไปหรือไม่ ก็สามารถคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย หรือบีเอ็มไอ (ฺBMI = Body Mass Index) ได้ง่าย ๆ ด้วยการนำน้ำหนักตัว มาหารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง

บีเอ็มไอ = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) ²

โดยหากยึดค่าบีเอ็มไอตามกำหนดของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ภาวะที่เรียกว่า ผอมเกินไป คือการมีค่าบีเอ็มไอที่ต่ำกว่า 18.4

ทดสอบหาค่า BMI ได้ที่นี่ https://bit.ly/2qpvlRB

โรคคลั่งผอม

การรักษาโรคคลั่งผอม

การรักษาโรคคลั่งผอม มักมีความยุ่งยาก เนื่องจากผู้ป่วยอาจปฏิเสธว่าตนไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ และไม่ยอมเข้ารับการรักษา หรือกลัวว่าตนเองจะอ้วน เพื่อต้องเพิ่มน้ำหนักตัวให้ขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ การรักษาจึงมักใช้หลาย ๆ วิธีพร้อมกัน ซึ่งมักประกอบไปด้วย

• การรักษาทางจิตวิทยา: เน้นไปที่การปรับความคิด และทัศนคติของผู้ป่วย รวมถึงการสร้างความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับการกินอาหาร และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

• การใช้ยา: อาจมีการใช้ยาต้านซึมเศร้าร่วมในการรักษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมความกระวนกระวาย และอาการซึมเศร้า ที่เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ

• ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ: สอนผู้ป่วยเรื่องการกินอาหารเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี และการมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม รวมไปถึงความสำคัญของ การกินอาหารตรงตามหลักโภชนาการ

• การบำบัดแบบกลุ่ม: แรงสนับสนุนจากครอบครัว มีส่วนสำคัญมากในการรักษา สมาชิกครอบครัวควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติของผู้ป่วยได้ รวมไปถึงการให้กำลังใจ และแสดงความห่วงใยต่อผู้ป่วย

• เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล: การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อาจเป็นสิ่งจำเป็นหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง หรือมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น มีอาการขาดน้ำ เกิดภาวะสารอาหาร ไตวาย หรืออัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close