เมื่อลูกรักป่วยเป็น “ไข้ออกผื่น” แม่ควรดูแลอย่างไร?

ไข้ออกผื่น

ไข้ออกผื่น – Exanthematous Fever เป็นอาการป่วยที่มาพร้อมจุดแดง ๆ น่าเกลียดตามตัวเด็ก ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกไป เพราะไข้ออกผื่นส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และดูแลรักษาได้ไม่ยาก หากมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคที่เป็นมากเพียงพอ

ไข้ออกผื่น คืออะไร?

ไข้ออกผื่น หรือไข้ผื่น ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง ไข้ที่มีผื่น และการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ๆ ทางผิวหนัง มีลักษณะอาการ และ ความรุนแรงต่าง ๆ กัน ตั้งแต่เป็นเม็ดเล็ก ๆ เหมือนหัวเข็มหมุดจนถึงเป็นปื้นใหญ่ ๆ ในรายที่รุนแรงมากอาจมีเลือดออกใต้ผิว หนังบริเวณผื่นหรือปื้น และผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ

โดยไข้ออกผื่น สามารถปรากฏขึ้นได้ในหลายโรค เช่น

1. โรคอีสุกอีใส (Chickenpox / Varicella)

สาเหตุ และ อาการของโรค – เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ติดต่อได้ทางละอองน้ำลาย หรือการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใส มักพบได้มากในเด็ก อาการจะปรากฏขึ้นราว 2-3 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ โดยอาการเริ่มต้น ได้แก่ ไข้หวัด ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ก่อนจะปรากฏตุ่มนูนแดง และกลายเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ต่อมาตุ่มเหล่านี้จะแตกออก และแห้งเป็นสะเก็ด ผื่นตุ่มมักขึ้นหนาแน่นบริเวณใบหน้าและลำตัว โดยผู้ป่วยอาจมีอาการคันเล็กน้อย โดยทั่วไป อาการจะไม่รุนแรงและหายได้เอง นอกเสียจากว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน

• การรักษา และ การป้องกัน
– ในผู้ป่วยที่ มีไข้ ร่วมด้วย ควรให้ ยา แก้ไข้หวัด แต่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน
– ใช้ยาบรรเทาอาการคัน
– รักษาร่างกายให้สะอาด ด้วยการอาบน้ำด้วยสบู่วันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนัง
– หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณผื่น และตัดเล็บให้สั้น
โรคอีสุกอีใส หายเร็วขึ้นได้ด้วยยาต้านไวรัส อะไซโคลเวียร์ หรือยาในกลุ่มเดียวกัน ยาจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง หรือผู้ที่มีอาการรุนแรง
ในปัจจุบัน โรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

2. โรคหัด (Measles)

สาเหตุ และ อาการของโรค – เกิดจากมีเชื้อไวรัสมีเซิลส์ เข้าสู่ร่างกาย และกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และกระแสเลือด หลังได้รับเชื้อ 1-2 สัปดาห์ จะมีอาการ ไข้สูง ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ และอาจพบอาการกลัวแสงร่วมด้วย จากนั้น จะมีผื่นขึ้นในปาก บริเวณกระพุ้งแก้ม

หลังมีไข้ 2-4 วัน จะเริ่มปรากฏผื่นเป็นจุดสีแดงที่ผิวหนัง โดยเริ่มปรากฏจากบริเวณไรผม หน้าผาก และหลังหูก่อน แล้วจึงกระจายไปบริเวณคอ ลำตัว ก่อนจะกระจายยังแขนและขา ผื่นจะหนาแน่นที่บริเวณใบหน้าและคอ ผู้ป่วยจะ มีไข้สูง สุดและมีผื่นขึ้นมากสุด ในช่วงวันที่ 5-6 ของการเป็นโรค จากนั้นไข้จะลดลง เมื่อใกล้หาย ผื่นแดงจะเริ่มมีสีคล้ำ และกลายเป็นรอยสีน้ำตาล

• การรักษา และ การป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะสำหรับรักษาโรคหัด การรักษาโรคหัด จึงเป็นการรักษาตามอาการ โดยให้ยาทุเลาอาการต่าง ๆ ให้สารน้ำ และอาหารอย่างเหมาะสม รวมถึงการรักษาภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ จะมีการให้วิตามินเอในผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากวิตามินเอ สามารถช่วยลดอัตราการตายในผู้ป่วยโรคหัดได้

ในปัจจุบัน พบผู้ป่วยเป็นโรคหัดน้อยลงมาก เนื่องจากมีการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในการป้องกันโรค โดยในประเทศไทย ได้กำหนดให้มีการฉีดวัคซีนรวม หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) ให้แก่เด็กไทยทุกคน โดยกำหนดให้ฉีดเข็มแรกในเด็กอายุ 9-12 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 2 ½ – 6 ปี ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเลย โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี จะยังมีความเสี่ยงต่อโรคหัดอยู่ และสมควรได้รับการฉีดวัคซีนด้วย

3. ส่าไข้ (Roseola)

สาเหตุ และ อาการของโรค – ส่าไข้ หรือที่เรียกว่า ไข้ผื่นกุหลาบ มักเกิดจากเชื้อเฮอร์พีส์ไวรัสชนิด6 ในคน (human herpesvirus type 6) หรือเอชเอชวี6 (HHV6) หรืออาจเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นได้บ้าง ติดต่อโดยการหายใจ และได้รับละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือจามรด โดยสัมผัสกับน้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยในระยะติดต่อ คือ 2 วันก่อนมีไข้ และระยะมีไข้ถึง 2 วัน หลังจากไข้ลด

เนื่องจากโรคนี้ มักเกิดในเด็กเล็ก และทารก ดังนั้น การติดต่ออาจผ่านทางของเล่นที่ผู้ป่วยนำใส่ปาก หรือสัมผัสกับมือของผู้ดูแลเด็กที่ป่วย โรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อย มักติดต่อระหว่างเด็กที่อยู่บ้านเดียวกัน หรือเด็กที่เลี้ยงร่วมกัน

หลังจากได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 9-10 วัน
– เด็กจะมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน ตัวร้อนตลอดเวลา ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วม
– บางรายอาจจะมีอาการหงุดหงิด งอแง เบื่ออาหาร หรือเจ็บคอ
– มีน้ำมูกใส ไอ หรือท้องเดินเล็กน้อย
– บางรายต่อมน้ำเหลืองบริเวณคออาจโต มีกระหม่อมหน้าโป่งตึง บางรายขณะไข้ขึ้นสูงอาจมีอาการชักโดยเฉพาะในเด็กอายุ 6-12 เดือน
– อาการไข้จะเป็นประมาณ 3-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ช่วงที่ไข้ลด จะมีผื่นเล็ก ๆ นูนเล็กน้อย สีแดงขึ้นที่หน้าอก หลัง ท้อง กระจายไปที่ใบหน้า คอและแขน ผื่นจะไม่คัน และเป็นอยู่ไม่นานก็จะจางหายไป
– ขณะที่ผื่นขึ้นจะเป็นช่วงที่หายจากอาการป่วย เด็กจะดูเป็นปกติและร่าเริงดี โรคนี้หลังจากหายแล้ว มักจะไม่เป็นซ้ำอีก

• การรักษา และ การป้องกัน
โรคนี้เป็นโรคที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง วิธีการรักษาในระยะที่มีไข้สูงคือ ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เช็ดตัวและรับประทานยาลดไข้ ส่วนในระยะผื่นขึ้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาใด ๆ เพราะ เป็นระยะที่กำลังจะหายป่วยแล้ว วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ แยกผู้ป่วย และของเล่นจนพ้นระยะที่โรคติดต่อ ผู้ดูแลเด็ก และผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วย หรือของใช้ของผู้ป่วย โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน

4. ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

สาเหตุ และ อาการของโรค – โรคอีดำอีแดง หรือโรคไข้สการ์เลต เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโทค็อกคัส ไพโอจีเนส ซึ่งก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น พบบ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี ติดต่อโดยการหายใจ และได้รับละอองเสมหะของผู้ป่วย

หลังได้รับเชื้อ 1-7 วัน ผู้ป่วยจะ มีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว โดยอาจมีอาเจียน และปวดท้องร่วมด้วย ในลำคอผู้ป่วยจะแดงช้ำ ต่อมทอนซิลบวม และอาจมีหนองบนต่อมทอนซิล ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต และเจ็บ หลังจากนั้น จะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นบริเวณคอ หน้าอก และรักแร้ โดยผื่นจะกระจายไปตามลำตัว และแขนขา ภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ เมื่อคลำจะสาก คล้ายกระดาษทราย อาจมีอาการคัน

หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีการติดเชื้ออาจลุกลามไปสู่อวัยวะต่าง ๆ จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่กระดูกและข้อ หรือในสมองได้ เมื่อหายป่วยแล้ว ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้มักจะไม่เป็นซ้ำอีก

• การรักษา และ การป้องกัน
โรคอีดำอีแดง รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน เซฟาโลสปอริน หรืออีริโทรไมซิน ควรกินยาติดต่อกันนาน 10 วัน แม้ว่าอาการจะหายแล้ว เพราะหากกินยาไม่ครบ 10 วัน จะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคไตอักเสบ หรือหัวใจรูมาติก ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังได้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

5. โรคมือ เท้า ปาก

สาเหตุ และ อาการของโรค – โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบบ่อยในเด็กเล็ก และมักระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ติดต่อค่อนข้างง่าย มักมีการแพร่เชื้อผ่านของเล่น และมักมีการระบาดในช่วงฤดูฝน ที่มีอากาศชื้น

หลังจากได้รับเชื้อไวรัส 3-7 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยไม่สบายตัว และเจ็บคอ หลังจากนั้นจะเริ่มมีแผลร้อนใน ที่เพดานปาก และเยื่อบุกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง โดยมีลักษณะเป็นเม็ดพองใส จุดแดง ๆ เมื่อตุ่มแตกจะกลายเป็นแผล ในขณะที่ผิวหนังของผู้ป่วย จะมีผื่นเป็นจุดแดงเล็ก ๆ มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขอบแดง ไม่มีอาการคัน พบมากที่ฝ่ามือฝ่าเท้า บางรายอาจมีไข้สูง เบื่ออาหาร น้ำลายยืด เจ็บปากมาก หรือมีผื่นจำนวนมาก

• การรักษา และ การป้องกัน
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่หายได้เอง และไม่มียาที่รักษาแบบจำเพาะ เป็นการรักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ การลดไข้ด้วยการกินยาแก้หวัด ลดไข้ และลดความเจ็บปวดจากแผลในปาก ควรหมั่นสังเกตอาการ ที่บ่งถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึมลง อาเจียนบ่อย ๆ ไม่ยอมกินอาหาร และนํ้า เมื่อพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

การป้องกัน ไข้ออกผื่น

  • การได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนตั้งแต่ทารก เช่น วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
  • หมั่นล้างทำความสะอาดมือ ปิดปากทุกครั้งเมื่อไอ หรือ จาม
  • ผู้ป่วยเด็กอาจให้หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ผู้อื่น และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับใคร
  • ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร สำหรับป้องกันการติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close