“อายุน้อยร้อยโรค” เด็กไทยยุค4.0 เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?

สุขภาพของเด็กไทย

สภาพแวดล้อมอากาศ และมลพิษในปัจจุบัน รวมถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ สุขภาพของเด็กไทย ยุค 4.0 เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น มักมีสุขภาพไม่แข็งแรง ป่วยบ่อย ป่วยง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาดูแลด้วยตัวเอง และต้องส่งลูกเข้าเรียน หรืออยู่เนอร์เซอร์รี่ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ เจ็บป่วย และเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น เนื่องจากมักได้รับการดูแลที่ไม่ทั่วถึง แล้วโรคที่พบได้บ่อยในเด็กยุคนี้ จะมีอะไรบ้างนะ?

สุขภาพของเด็กไทย กับโรคที่พบบ่อยในยุค 4.0

– โรคภูมิแพ้

มีเด็กไทยยุคใหม่จำนวนมาก ที่เป็น โรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นแพ้นมวัว แพ้อาหาร แพ้อากาศ หรือหอบหืด ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อม รวมถึงการได้รับนมแม่น้อยเกินไป หรือได้รับนมวัวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายให้แก่ลูก ด้วยการให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกำจัดสารกระตุ้นภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น ควันบุหรี่ ขนสัตว์ หากลูกของคุณเริ่มมีอาการภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันรักษาที่เหมาะสม

สุขภาพของเด็กไทย

– โรคอ้วน

โรคอ้วนในวัยเด็ก เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิต และลักษณะของอาหารการกินที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กไทยที่เป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่อ้วน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันสูง และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดต่าง ๆ รวมไปถึงโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตที่ลดลงด้วย

– ปัญหาเกี่ยวกับสายตา

เนื่องจากเด็กยุคใหม่ มักใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ ทำให้ดวงตาของเด็ก ๆ ต้องทำงานอย่างหนัก และอาจมีการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม เช่น มองใกล้เกินไป หรือสภาพแสงน้อยเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสายตาสั้น

คุณพ่อคุณแม่ควรควบคุมการใช้หน้าจอของลูกอย่างเหมาะสม โดยให้เด็ก ๆ มีเวลาพักสายตามากพอ ไม่จ้องดูจอใกล้เกินไปหรือนานเกินไป ไม่ใช้สายตาในสภาพแสงที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรดูต่อเนื่องนานเกินครั้งละครึ่งชั่วโมง

– ภาวะสมาธิสั้น

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลขเด็กไทยป่วยสมาธิสั้นกว่า 1 ล้านคน โดยภาวะสมาธิสั้น มีสาเหตุหลักมาจากจากการเลี้ยงดู ส่งเสริมพัฒนาการที่ไม่เหมาะสม หรือได้รับสื่อกระตุ้นจากหน้าจอสัมผัส หรือโทรทัศน์ก่อนอายุ 2 ปี ทำให้เด็กไม่มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งได้นานเพียงพอ

สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่อนุญาตให้ลูกดูโทรทัศน์ หรือจอสัมผัสทุกประเภทก่อนอายุ 2 ปี หมั่นเล่น และคุยกับลูกด้วยคำพูดที่ชัดเจน ใช้คำหรือประโยคที่ไม่ซับซ้อน หากลูกของคุณมีอายุเกิน 2 ปี แต่ยังไม่สามารถสื่อสารด้วยคำง่าย ๆ ได้ ควรปรึกษากุมารแพทย์

– ภาวะเครียดในเด็ก

เนื่องจากความกดดันในปัจจุบัน ทำให้เด็กไทย ยุคใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความคาดหวังต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากคนในครอบครัว และสังคม ความเครียดเหล่านี้ แม้อาจดูไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงในทันทีทันใด แต่ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาด้านพฤติกรรมต่าง ๆ ในภายหลังได้ เช่น สูบบุหรี่ หรือติดสารเสพติด เด็กที่มีความเครียดสูง จะมีความเสี่ยงต่อการติดสารเสพติดมากกว่าเด็กที่ไม่มีความเครียด หรือมีความเครียดต่ำถึงหนึ่งเท่าตัว นอกจากนี้ ความเครียดยังสามารถส่งผลต่อจิตใจของลูก จนอาจกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้อีกด้วย

สุขภาพของเด็กไทย

– โรคซึมเศร้า

โรคยอดฮิตของทุกเพศทุกวัยในยุคที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ และกดดัน โดยสาเหตุนึงก็เกิดจากเด็กในวัยนี้ มักจะมีภูมิต้านทานทางด้านสังคมน้อย เมื่อโดนเพื่อนในห้องล้อ บูลลี่บ่อย ๆ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกเสียใจ เก็บกด เครียด จนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นดูแลเอาใจใส่ ให้กำลังใจ มอบความอบอุ่นให้แก่ลูกอยู่เสมอ และหมั่นถามไถ่เรื่องที่โรงเรียน ว่าลูกเรียนเป็นอย่างไร เพื่อนร่วมห้องรักกันดีไหม เพื่อตรวจสอบว่า สังคมที่โรงเรียน เป็นไปอย่างราบรื่น หรือ มีแต่เรื่องให้ลูกเราต้องเก็บกด

จะเห็นได้ว่า โรคต่าง ๆ ของ เด็ก ยุค 4.0 นั้น ส่วนใหญ่แล้ว มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป มีความกดดันในการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ กลับแย่ลง คุณพ่อคุณแม่จึงควรเอาใจใส่ดูแลลูก ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้ลูกของคุณสามารถเติบโตขึ้นเป็นเด็กที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีจิตใจที่แข็งแกร่ง พร้อมเผชิญหน้ากับโลกกว้าง ที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมายสำหรับเขาต่อไปได้


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close