เคล็ดลับหยุดผมร่วง กู้คืนผมหนาให้กลับมามั่นใจอีกครั้ง!

เคล็ดลับหยุดผมร่วง

“ผมร่วง หัวล้าน” แค่พูดเบา ๆ ก็เจ็บ! หากคุณคือผู้ที่กำลังประสบปัญหาผมร่วงหนัก นอนก็ร่วง สระผมก็ร่วง หรือแค่เอามือจับผม ก็มีผมร่วงติดมือ อาจนิ่งเฉยไม่ได้ ไม่งั้นคงได้หัวล้านเป็นแน่แท้! วันนี้ Ged Good Life จึงขอฝาก “เคล็ดลับหยุดผมร่วง” กู้คืนผมหนาให้กลับมามั่นใจอีกครั้ง! ต้องเริ่มจากอะไรบ้าง… ตามมาดูกัน

decolgen ดีคอลเจน

ผมร่วงแค่ไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ?

โดยปกติแล้วเส้นผมบนศีรษะของคนเราจะมีอยู่ประมาณ 90,000-140,000 เส้น และมีอัตราผมร่วงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50-100 เส้น ซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างการสระผม เป่าผม ไปจนถึงการร่วงหล่นระหว่างวัน วิธีง่าย ๆ ในการสังเกต คือให้หวีผม 1 นาทีก่อนสระผม หากผมร่วงออกมาน้อยกว่า 10-20 เส้น ก็จะถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

วิธีสังเกตว่าผมร่วงมากกว่าปกติ มีดังนี้

– ผมร่วงมากกว่าวันละ 70-100 เส้น ในคนที่สระผมเป็นประจำเกือบทุกวัน หรือผมร่วงมากกว่าวันละ 200 เส้น ในคนที่สระผมห่างกันครั้งละ 3-4 วัน

ผมหลุดร่วงระหว่างทำกิจวัตรประจำวันมาก ๆ โดยรวมเกินวันละ 70-100 เส้น ถือว่าผิดปกติ เช่น บนหมอนหลังตื่นนอนตอนเช้า ทานข้าว ทำครัว นั่งทำงาน เป็นต้น

– ผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงไปจนเปลี่ยนเป็นหย่อมขนาดเล็กเท่าเหรียญสิบ

อย่างไรก็ตาม ผมร่วงไม่ใช่แค่ปัญหาโรคผิวหนังเท่านั้น เพราะ ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง รพ.ศิริราช  ยืนยันว่า “ผมร่วงมากกว่าปกติสามารถสะท้อนปัญหาสุขภาพระบบใดระบบหนึ่งได้ เช่น โรคไต โรคตับ โรคโลหิตจาง เป็นต้น เส้นผมจึงเปรียบเสมือนกระจกส่องสุขภาพอย่างหนึ่ง ดังนั้น การที่มีผมร่วงผิดปกติก็เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนให้พบแพทย์ผิวหนัง เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ และทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ”

ผมร่วง ผมบาง เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

– จากพันธุกรรม อาการผมร่วงประมาณ 80-90% เกิดจากสาเหตุนี้​

– ฮอร์โมนเพศชาย (Androgens) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะศีรษะล้าน

– ปัญหาด้านสุขภาพ เช่น อาการผมร่วงชนิดเป็นหย่อม โรคมะเร็ง โรคของต่อมไทรอยด์ โรคโลหิตจาง ภาวะหลังคลอดบุตร และโรคอื่น ๆ

– ความเครียด นอนหลับไม่เพียงพอ ความเครียดสะสม การบิดม้วน และดึงผมที่เกิดจากปัญหาทางจิตใจ

– การใช้ยา เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาสิว ยาลดความดัน ยาคุมกำเนิด ฯ จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดปัญหาผมร่วง ผมบางได้

– อาการหลังติดโควิด (Long Covid) หากหายจากโควิดมา อาจมีอาการผมร่วงมากกว่าปกติ แต่จะกลับมาดีขึ้นได้ จนเป็นปกติ

เคล็ดลับหยุดผมร่วง กู้คืนผมหนากลับมาอีกครั้ง!

1. ปรับวิธีสระผมใหม่ แก้ผมร่วง – ไม่ควรใช้นิ้วมือขยี้หนังหัวแรงเกินไป และไม่ควรสระผมด้วยน้ำร้อนจัด สามารถใช้แชมพูที่มีคุณสมบัติลดผมขาดหลุดร่วงได้ ถ้ามีโรครังแค และหนังศีรษะอักเสบ คุณหมอ รัฐพล ตวงทอง แนะนำให้ใช้การรักษาด้วยแชมพู เช่น Ketoconazole shampoo , tar shampoo สระวันละครั้ง และหมักแชมพูไว้ 5 นาที

2. หวีผมให้ถูกต้อง – หลีกเลี่ยงการหวีผมบ่อย ๆ ควรหวีเฉพาะช่วงก่อนนอน และตื่นนอน ไม่หวีผมแรงเพื่อไม่ให้ทำร้ายรากผม

3. บำรุงเส้นผมด้วยอาหาร – สารอาหารที่มีส่วนช่วยเรื่องเส้นผมโดยตรงได้แก่ โปรตีน ไบโอติน ธาตุเหล็ก ซิงค์ กรดไขมันโอเมกา-3 วิตามินเอ วิตามินบีรวม วิตามินซี สามารถรับประทานได้ในรูปแบบอาหารเสริม

4. ไม่เครียดจนเกินไป – ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และเป็นเหตุให้ผมร่วงเรื้อรังได้ ฉะนั้นควรหากิจกรรมผ่อนคลายจิตใจ เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง เป็นต้น

5. ไม่ย้อมผมบ่อย – สารเคมีจากสีย้อมผม อาจทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน หากคุณเป็นคนที่ชอบย้อมผมบ่อย อาจต้องเลิกทำสีผมไปก่อน จนกว่าผมกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

6. หมักผมด้วยสมุนไพร – การใช้สมุนไพรหมักผม เช่น อัญชัน ตะไคร้ มะกรูด น้ำมันงา และมะเฟือง นอกจากช่วยบำรุงเส้นผมแล้วยังช่วยลดปัญหารังแค และอาการคันศีรษะที่เกิดจากการอักเสบของผิวหนังร่วมด้วยได้

7. ใช้หมวกปลูกผม – รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป หัวหน้าศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นวิธีกระตุ้นรากผม การันตีความสำเร็จว่าการใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำนั้น มีประสิทธิภาพช่วยกระตุ้นหนังศีรษะและสร้างเส้นผมได้ผลดีใน 24 สัปดาห์

โดยอุปกรณ์เสริมมีลักษณะเป็นหมวก หรือหวีปลูกผมที่ปล่อยแสงเลเซอร์สีแดง Low-level laser therapy (LLLT) กระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างรากผมแบบเบา ๆ เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผมบางในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง อุปกรณ์นี้พกพาสะดวก ใช้เองได้ที่บ้าน โดยใช้อุปกรณ์นี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 15 -20 นาทีต่อวัน จะทำให้เส้นผมและรากผมแข็งแรงขึ้น ลดผมร่วง เกิดเส้นผมใหม่และเส้นผมหนาขึ้น

8. พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผม – หากคุณมีปัญหาผมร่วงมาระยะหนึ่ง ร่วงมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อน หากสาเหตุเกิดจากภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ผมกลับมาหนาได้ดียิ่งขึ้นอีกครั้ง

การรักษาผมบางแบบพันธุกรรมด้วยยา

การรักษาผมบางแบบพันธุกรรมด้วยยาแผนปัจจุบัน ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ยาเม็ด finasteride ชนิดรับประทาน และยาทาเฉพาะที่ minoxidil โดย คุณหมอ รัฐพล ตวงทอง ยืนยันว่ามีผลในการรักษาผมร่วงได้ถึง 70-80% 

1. ยา finasteride ชนิดรับประทาน – เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5α-reductase ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมน DHT ที่หนังศีรษะลดลง จึงมีผลลดการหลุดร่วงของเส้นผมและมีส่วนช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม

ขนาดยาที่แนะนำคือ 1 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง รับประทานติดต่อกันนานอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะเห็นผลการงอกของเส้นผมและป้องกันอาการผมร่วง อย่างไรก็ตามหากหยุดใช้ยานี้อาการผมร่วงจะเกิดขึ้นอีกภายใน 12 เดือน

สำหรับผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรับประทานยา finasteride ได้แก่ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น

2. ยาทาเฉพาะที่ minoxidil – มีผลช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม แนะนำให้ทายา minoxidil ความแรง 5% ครั้งละ 1 มิลลิลิตร บริเวณหนังศีรษะที่มีอาการวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน (ควรทำความสะอาดหนังศีรษะ และทำให้หนังศีรษะแห้งก่อนทายา) จะเห็นผลการรักษาหลังจากเริ่มใช้ยาแล้วประมาณ 6 เดือน หากหยุดใช้ยา minoxidil อาการผมร่วงจะค่อย ๆ กลับมาภายใน 4-6 เดือน

การใช้ยาทาเฉพาะที่ minoxidil อาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ผื่นแพ้สัมผัส หรือมีขนขึ้นตามใบหน้า เป็นต้น

 

อ้างอิง : 1. สสส. 2. Pantip 3. drornhaircenter 4. pharmacy.mahidol

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close