หลักการทรงงาน ของในหลวงรัชกาลที่ ๙

23 หลักการทรงงาน ของในหลวงรัชกาลที่ ๙

ในหลวงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่นอกจากจะทรงด้วยทศพิธราชธรรมแล้ว ยังทรงเป็นพระราชาที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต และการทำงานแก่พสกนิกรของพระองค์ และนานาประเทศ แนวคิดหรือ หลักการทรงงาน ของในหลวง มีความน่าสนใจที่สมควรนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตการทำงานเป็นอย่างยิ่ง หวังว่าคุณจะนำเอาหลักการทรงงานเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อความสำเร็จ และความมั่นคงในชีวิต ซึ่งนั้นหมายถึงส่วนหนึ่งของความมั่นคงของประเทศไทยเรา

1059-4

 

ข้อที่ ๑ จะทำอะไรต้องศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ

การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่ง จะทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่นักวิชาการและราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง เพื่อที่ จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ตรงตามความต้องการของประชาชน

ข้อที่ ๒ ระเบิดจากภายใน

พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้าน ที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสได้เตรียมตัว หรือตั้งตัว

ข้อที่ ๓ แก้ปัญหาจากจุดเล็ก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม

ข้อที่ ๔ ทำตามลำดับขั้น

ในการทรงงานของพระองค์จะทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ สาธารณสุข เมื่อมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ จากนั้นจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการ และเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อที่ ๕ ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์

การพัฒนาใด ๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน

ข้อที่ ๖ ทำงานแบบองค์รวม

ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม (Holistic) หรือมองอย่างครบวงจรในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้น จะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง ดังเช่น กรณีของ “ทฤษฎีใหม่” ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพแนวทางหนึ่งที่พระองค์ทรงมองอย่างองค์รวม ตั้งแต่การถือครองที่ดิน โดยเฉลี่ยของประชาชนคนไทยประมาณ ๑๐-๑๕ ไร่ การบริหารจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพ เมื่อมีน้ำในการเกษตรแล้วจะส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้น และหากมีผลผลิตมากขึ้นเกษตรกรต้องรู้จักวิธีการจัดการ และการตลาด รวมถึงการรวมกลุ่มรวมพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพร้อมที่จะออกสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกได้อย่างครบวงจรนั้น คือ ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ ๑, ๒ และ ๓

1059-3

ข้อที่ ๗ ไม่ติดตำรา

การพัฒนาตามแนวพระราชดาริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลม และรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการ และเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย

ข้อที่ ๘ ประหยัด เรียบง่าย

ประชาชนชาวไทยทราบกันดีว่าเรื่องส่วนพระองค์ก็ทรงประหยัดมากดังที่เราเคยเห็นว่า หลอดยาสีพระทนต์นั้นทรงใช้อย่างคุ้มค่าอย่างไร หรือฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานาน ขณะเดียวกันการพัฒนา และช่วยเหลือราษฎรทรงใช้หลักในการแก้ปัญหาด้วยความเรียบง่าย และประหยัด ราษฎรสามารถทำเองได้ หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ มาแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก

https://youtu.be/Nh1ZCkipRrc

ข้อที่ ๙ ทำให้ง่าย

ทำอะไรให้ง่ายๆ ทำให้ชีวิตง่าย โปรดรับสั่งทำสิ่งยากๆ ให้กลายเป็นิส่งที่ง่ายๆ นักข่าวชาวฝรั่งเศสถามพระองค์ว่า พระองค์ทรงงานแบบใด ท่านตรัสตอบเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า“ซิมปลีฟีเย่” ซึ่งภาษาอังกฤษแปลว่า ซิมพลีฟาย(simplify) ภาษาไทยแปลว่า ทำให้ง่ายคนส่วนใหญ่ชวนทำสิ่งง่ายๆ ให้เป็นสิ่งยากๆ ผมบอกเจ้าหน้าที่งานยาเสพติดว่า ถ้าใครโทรศัพท์มาของความช่วยเหลือ ให้ถามเขาคำแรกว่า “คุณจะให้ผมไปหาคุณหรือคุณจะมาหาผมเดี๋ยวนี้”

ข้อที่ ๑๐ การมีส่วนร่วม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักประชาธิปไตย จึงทรงนำ “ประชาพิจารณ์” (Public Hearings) มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน

ข้อ ๑๑ ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม

การปฏิบัติในพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาและช่วยเหลือพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระลึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ

ข้อที่ ๑๒ บริการที่จุดเดียว

One Stop Services  การบริการรวมที่จุดเดียว เป็นรูปแบบการบริการแบบเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย โดยทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อประโยชน์ที่จะมาขอใช้บริการจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยจะมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว

1059-1

ข้อที่ ๑๓ ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ

ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติ และต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ อาทิ การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม ได้พระราชทานพระราชดำริ การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง

ข้อที่ ๑๔ ใช้อธรรมปราบอธรรม

ทรงนำความจริง ในเรื่องความเป็นไป แห่งธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติเข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การทำน้ำดี ขับไล่น้ำเสีย หรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดี ตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติให้ดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ ดังพระราชดำรัสความว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม”

ข้อที่ ๑๕ ปลูกป่าในใจคน

เป็นการปลูกป่าลงบนแผ่นดิน ด้วยความต้องการอยู่ของมนุษย์ ทำให้ต้องการบริโภค และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเอง และสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมไม่รู้จักพอ ปัญหาความไม่สมดุลจึงบังเกิดขึ้น ดังนั้นในการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมาจะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน

ข้อที่ ๑๖ ขาดทุนคือกำไร

หลักการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อพสกนิกรไทย “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือความอยู่ดีมีสุขของราษฎร

ข้อที่ ๑๗ การพึ่งตนเอง

การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เพื่อการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด

ข้อที่ ๑๘ พออยู่พอกิน

ให้ประชาชนสามารถอยู่อย่าง “พออยู่พอกิน” ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป

ข้อที่ ๑๙ เศรษฐกิจพอเพียง

เป็นปรัชญาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต ให้ดำเนินไปบน “ทางสายกลาง” เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ซึ่งปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งระดับบุคคล องค์กร และชุมชน

1059-2

ข้อที่ ๒๐ ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน

“คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่ายไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริต และความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็น ประโยชน์แท้จริงที่สำเร็จ”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒

“ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ มากกว่าผู้ที่มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ๒๕๓๓

“ผู้ว่า CEO ต้องเป็นคนที่สุจริต ทุจริตไม่ได้ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป ข้าราชการหรือประชาชนที่มีการทุจริต ถ้ามีทุจริตแล้วบ้านเมืองพัง ที่เมืองไทยพังมาเพราะมีการทุจริต”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๖

ข้อที่ ๒๑ ทำงานอย่างมีความสุข

ทำงานต้องมีความสุขด้วย ถ้าเราทำอย่างไม่มีความสุขเราจะแพ้ แต่ถ้าเรามีความสุขเราจะชนะ สนุกกับการทำงานเพียงเท่านั้น ถือว่าเราชนะแล้ว หรือจะทำงานโดยคำนึงถึงความสุขที่เกิดจากการได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นก็สามารถทำได้ “…ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น…”

ข้อที่ ๒๒ ความเพียร

การเริ่มต้นทำงานหรือทำสิ่งใดนั้นอาจจะไม่ได้มีความพร้อม ต้องอาศัยความอดทน และความมุ่งมั่น ดังเช่นพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” กษัตริย์ผู้เพียรพยายามแม้จะไม่เห็นฝั่งก็จะว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหารปู ปลาและไม่ได้พบกับเทวดาที่ช่วยเหลือมิให้จมน้ำ

ข้อที่ ๒๓ รู้ รัก สามัคคี

  • รู้ คือ รู้ปัญหาและรู้วิธีแก้ปัญหานั้น
  • รัก คือ เมื่อเรารู้ถึงปัญหาและวิธีแก้แล้ว เราต้องมีความรัก ที่จะลงมือทำ ลงมือแก้ไขปัญหานั้น
  • สามัคคี คือ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่สามารถลงมือทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน
ขอขอบคุณแหล่งที่มา
http://www.thaihealth.or.th

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close