ฝึกลูกกินผัก! 10 วิธีแก้ปัญหา ลูกไม่กินผัก เกลียดผัก

ลูกไม่กินผัก เห็นผักแล้วก็ส่ายหัวทุกที ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะในวัยที่กำลังเจริญเติบโต ร่างกายลูกต้องการสารอาหารเพื่อให้แข็งแรง สมบูรณ์ ผักผลไม้นอกจากมีวิตามิน แร่ธาตุ สารอาหารที่สำคัญแล้ว ยังจำเป็นมากกับระบบขับถ่าย ถ้าเกิดลูกเกลียดผักขึ้นมา คงต้องหาทางแก้กันดูสักตั้ง

ผักผลไม้ จำเป็นอย่างไรกับร่างกาย

– ผักมีฤทธิ์เป็นด่าง ผักส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นด่าง เช่น ผักใบเขียว แตงกวา ผักตระกูลกะหล่ำปลี บร็อคโคลี การกินผักจะปรับสมดุลร่างกาย ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง และ อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้เป็นปกติ

– มีวิตามินสูง ในผักมีวิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และช่วยให้ร่างกายทำงานอย่างเป็นปกติ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นต้น

– มีสารพฤกษเคมีต้านมะเร็ง สารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ คือ สารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบเฉพาะในพืชผัก มีฤทธิ์ต่อต้านหรือป้องกันโรคบางชนิด และป้องกันโรคมะเร็ง

– มีสารต้านอนุมูลอิสระ การกินผัก ผลไม้เป็นประจำช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ ที่ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพ หรือเกิดเจ็บป่วย กินผักเป็นประจำยังช่วยให้ผิวพรรณสดใส ปกป้องผิวจากแสงแดด การอักเสบต่าง ๆ

– ช่วยการขับถ่าย ในผักมีเส้นใย หรือ ไฟเบอร์สูง ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ลดการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ช่วยรักษาป้องกันอาการท้องผูก ทำให้เยื่อบุผิวของลำใส้แข็งแรง ป้องกันมะเร็งลำใส้

10 วิธีแก้ปัญหา ลูกไม่กินผัก

1. ทำเมนูซ่อนผัก วิธีนี้แม่ต้องงัดเอาสกิลการทำอาหารออกมาใช้กันแบบเต็มที่ เพราะเมนูผักธรรมดา ลูกอาจจะไม่ยอมกิน ดังนั้นต้องลองดัดแปลงเมนูผักให้กินง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญสำหรับการทำเมนูซ่อนผัก คือ ต้องไม่โกหกลูกว่าอาหารที่ลูกกินไม่มีผัก เมื่อทำเมนูที่มีผักผสมอยู่ เช่น หมูสับผสมบรอคโคลีทอด ลองให้ลูกกินเหมือนเป็นอาหารปกติทั่วไป ถ้าลูกยอมกินก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าลูกยังไม่ยอมกิน ก็อาจจะต้องค่อย ๆ ลองเปลี่ยนผัก เปลี่ยนเมนูไปเรื่อย ๆ

เทคนิคการทำเมนูแบบนี้ คือ ลองใช้วิธีการทอด ซึ่งเด็กจะชอบเมนูทอด ๆ มากกว่าต้ม ๆ ผัด ๆ เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ แล้วถ้าลูกยอมกิน ค่อยเพิ่มผักมากขึ้น

2. ตกแต่งให้น่ากิน ลองตกแต่งอาหารให้ดูน่ากินขึ้นด้วยการทำเป็นรูปตัวการ์ตูนต่าง ๆ ที่ลูกชอบ เดี๋ยวนี้มีแม่พิมพ์ มีอุปกรณ์ช่วยตกแต่งอาหารให้น่ารัก น่ากินเยอะแยะมากมาย หรือจะใช้ จาน ชาม ช้อน ส้อม มาช่วยก็ได้ แต่ละวันให้เปลี่ยนภาชนะ จาน ชาม ช้อน ไปเรื่อย ๆ ลองให้ลูกเป็นคนเลือกเองก็ได้ เช่น ถามลูกว่า “วันนี้อยากใช้จานรูปอะไรดี” จะช่วยให้ลูกมีส่วนร่วม และ ยอมกินอาหารในจานมากขึ้น

3. จับคู่ผักให้ถูก คุณแม่หลายคนอาจจะคิดว่าถ้าลูกชอบกินอะไรให้จับคู่ผักกับของโปรดลูก แต่คุณแม่บางคนบอกว่าเทคนิคจับคู่ให้ถูก ควรจับคู่ผักกับอาหารที่ลูกไม่ได้ชอบมาก เพราะถ้าจับคู่ผักกับอาหารที่ลูกชอบมาก ลูกจะกินแต่ของที่ชอบก่อนเป็นอันดับแรก แล้วไม่ยอมกินผัก แต่ถ้าเป็นอาหารที่ลูกเฉย ๆ ก็อาจจะทำให้ลูกไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง ทำให้ยอมกินหมดไปพร้อม ๆ กัน

4. ลองกินผักรสหวาน จริง ๆ ควรเริ่มจากผักใบเขียวก่อนตั้งแต่ลูกยังเป็นเบบี๋ เพราะผักใบเขียวมีรสขมกว่า ถ้าลูกยอมกินผักใบเขียวตั้งแต่เล็ก ๆ ก็ทำให้กินผักได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าปล่อยเวลาล่วงเลยจนลูกเริ่มโตขึ้นแล้ว ไม่ยอมกินผัก ไม่กินผัก อาจจะลองเปลี่ยนมาเริ่มด้วยผักรสหวาน ๆ ก่อน เช่น ผักสีส้ม สีเหลือง อย่างข้าวโพด แคร์รอต ฟักทอง จะช่วยให้ลูกกินผักได้ง่ายขึ้น

5. สวมบทมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ให้ลูกมาสวมบทเชฟตัวน้อย ช่วยทำอาหารด้วยกัน การให้ลูกมีส่วนร่วมจะกระตุ้นให้ลูกสนุก ภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเมนูผักที่เลือกมาทำ ควรเป็นเมนูที่ทำง่าย ไม่ยุ่งยาก ลูกสามารถสนุกในขั้นตอนการทำไปด้วยได้ เช่น เมนูแซนด์วิช เมนูแฮมเบอร์เกอร์

6. ใช้คำชม แต่อย่าบังคับ ถ้าลูกไม่ยอมกินผัก ไม่ต้องบังคับ เคี่ยวเข็ญลูกมากเกินไป เพราะยิ่งบังคับ จะยิ่งทำให้ลูกต่อต้าน แล้วสร้างความรู้สึกไม่ดี ไม่อยากกินมากขึ้น และอาจถึงขั้นเกลียด หรือปฎิเสธไปเลยก็ได้ ซึ่งถ้าสร้างความรู้สึกไม่ดีไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงคงยาก รวมถึงการให้รางวัล ติดสินบนก็ไม่ควรใช้เช่นกัน แต่ให้ใช้วิธีชื่นชมแทน เช่น ถ้าลูกพอเริ่มกินได้บ้างเล็กน้อย ให้ชื่นชมลูกถึงความพยายาม แล้วไว้ครั้งหน้ามาลองกินกันใหม่

7. พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ วิธีนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเลย เพราะลูกนั้นเป็นเหมือนกระจกสะท้อนของพ่อแม่ ถ้าลูกกินข้าวกับพ่อแม่เป็นประจำ แล้วในแต่ละมื้อของพ่อแม่ มีผักอยู่ด้วย ลูกก็จะซึมซับมาเป็นเหมือนเรื่องธรรมดา แต่ถ้าพ่อแม่ไม่กินผัก หรือ ชอบสั่งเมนูเด็กพิเศษ ไม่ผัก ไม่ใส่นั่น ไม่ใส่นี่ เวลาออกไปกินข้าวนอกบ้าน ก็จะเป็นการสร้างนิสัยกินยาก ไม่กินผักให้ลูกไปโดยไม่รู้ตัว

8. พาไปเที่ยวฟาร์ม สวนผัก เป็นวิธีการมีส่วนร่วมอีกหนึ่งวิธี ลองพาลูกไปเที่ยว เวิร์กช้อป ทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น กิจกรรมการปลูกผักที่สวนผัก หรือ เวิร์กช้อปทำอาหาร เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้กระบวนการที่มาของผัก ที่สำคัญการได้เจอเด็ก ๆ เพื่อน ๆ กินข้าวด้วยกัน ลูกอาจจะสนุก และยอมกินผักง่ายขึ้นตามเพื่อนคนอื่น ๆ

9. งดขนม เลี่ยงของหวาน ก่อนมื้ออาหารไม่ควรให้ลูกกินขนม หรือ ของหวาน เพราะนอกจากจะทำให้ลูกอิ่ม ไม่ยอมกินข้าวแล้ว การให้ลูกกินขนม ของหวานเป็นประจำ จะทำให้ลูกติดรสหวาน แล้วจะกินผักยากขึ้น

10. ใช้การ์ตูนช่วย การ์ตูนสมัยพ่อแม่อาจจะมีป็อปอายที่กินผักโขม Spinach เป็นแบบอย่างให้เด็ก ๆ ยอมกินผัก สำหรับเด็กนั้นไม่ว่าจะยุคสมัยไหน การใช้การ์ตูนก็มีผลมาก ลองเปิดการ์ตูน หรือ นิทานที่มีเรื่องราวของผัก ผลไม้ ให้ลูก ๆ ดูเป็นประจำ แล้วชวนลูกกินผักตามการ์ตูน จะช่วยเพิ่มความสนใจให้ลูกมากขึ้น

ถ้าลูกยังไม่ยอมกินผักอีก ทำอย่างไรดี?

– กินผลไม้แทน นอกจากผักแล้ว ในผลไม้ก็มีวิตามินเช่นเดียวกัน แต่ผลไม้นั้นอาจจะกินได้ง่ายกว่า เพราะส่วนใหญ่มีรสหวาน ถ้าลูกไม่ยอมกินผักเลย อาจจะให้ลูกกินผลไม้ทดแทน

– เสริมด้วย วิตามินเด็ก ถ้าทั้งผัก ผลไม้ ทำอย่างไรลูกก็ไม่ยอมกินเลย ลองให้วิตามินรวมสำหรับเด็ก เพื่อเสริมวิตามินให้กับลูก เช่น วิตามินเด็ก Nutroplex ซึ่งมีใยอาหารโอลิโกฟรุคโตส (Oligofructose) จากธรรมชาติ ที่ช่วยในการปรับสมดุล ด้านระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ขับถ่ายดี และมีแร่ธาตุที่จำเป็นกับลูกในวัยที่กำลังเจริญเติบโตด้วย

“Expert ดีดี” ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

กดติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่  facebook nutroplex line youtube

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close