วิธีตรวจภูมิแพ้ มีกี่ประเภท ตรวจแบบไหนเหมาะกับเรา?

วิธีตรวจภูมิแพ้

การตรวจอาการแพ้ สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ และยังสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาหลีกเลี่ยงสาเหตุของโรคภูมิแพ้ได้อีกด้วย การตรวจภูมิแพ้ จะมีกี่วิธี ตรวจแบบไหนเหมาะกับเรา? วันนี้ GED good life มีคำตอบรออยู่แล้ว ใครที่กำลังอยากตรวจภูมิแพ้อยู่ ติดตามอ่านต่อได้เลย…

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

การตรวจภูมิแพ้ คืออะไร จำเป็นต้องตรวจไหม?

การตรวจคัดกรองโรคภูมิแพ้เป็นสิ่งจําเป็นในการตรวจหา และรักษาโรคภูมิแพ้ และเป็นหนึ่งในวิธีการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตรวจหา และรักษาโรคภูมิแพ้อย่างถูกต้อง

การตรวจภูมิแพ้ อาจอยู่ในรูปแบบของการทดสอบเลือด หรือผิวหนัง แพทย์จะค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการแพ้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการภูมิแพ้ของผู้ป่วยแต่ละคน บางคนแพ้มาก บางคนอาจแพ้น้อย แพทย์อาจสั่งการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ หรือการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ 36 ชนิด หรือ 60 ชนิด แล้วแต่กรณีไป

แต่หากผู้ป่วยกลัวการทดสอบภูมิแพ้ ก็สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ของคุณ เช่น ถ้าแพ้เกสรดอกไม้ ก็ควรหลีกเลี่ยงเกสรดอกไม้ แพ้อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู ก็ควรเลี่ยงไม่กินกุ้ง ปู เป็นต้น แต่ถ้าสับสนว่าตนเองแพ้อะไรกันแน่ หรือแพ้เยอะไปหมด จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจหาภูมิแพ้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป…

อาการแพ้ ที่มักพบบ่อยในผู้ป่วยภูมิแพ้

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้: คันจมูก, น้ำมูกไหล, คัดจมูก, เยื่อบุตาอักเสบ ฯ

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง: ผื่นแดง, คัน, ผิวลอก ฯ

การแพ้อาหาร: คันปา่ก, ปากบวม, หน้าบวม, ลมพิษ, แพ้รุนแรง

การแพ้ยาบางชนิด: อาจทําให้เกิดลมพิษ ผื่นคันผิวหนัง ใบหน้าบวม หายใจลําบาก ฯ

ประโยชน์ของการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้

1. ทำให้ผู้ป่วยทราบว่าสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เพื่อกำจัด หรือหลีกเลี่ยงได้ตรงชนิด ทำให้ควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น

2. ถ้าจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีด หรือกินสารก่อภูมิแพ้ (Immunotherapy) จะได้เลือกฉีด หรือกินได้ตรงชนิด ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดี

วิธีตรวจภูมิแพ้ มีอะไรบ้าง?

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ เช่น โรคภูมิแพ้จมูก หอบหืด หรือแพ้อาหาร นอกจากต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว ยังมีวิธีการทดสอบอีกหลายวิธีเพื่อยืนยันการวินิจฉัย และวางแผนการรักษา แต่ที่นิยมทำกันมี 2 วิธี คือ

1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy skin testing) แพทย์จะนำน้ำยาทดสอบภูมิแพ้ที่สกัดมาจากสารชนิดต่าง ๆ มาทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีปฏิกิริยาต่อสารชนิดใดบ้าง สารที่ใช้ทดสอบเป็นสารที่พบก่อให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย ๆ เช่น ขนสัตว์ ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังมี 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้

1.1 วิธีสะกิด (skin prick test) เป็นการทดสอบโดยหยดน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังที่แขน และใช้เข็มสะกิดตรงกลางหยดน้ำยา เพื่อเปิดผิวหนังชั้นบนออก ถ้าผู้ป่วยแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ก็จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นโดยเกิดรอยนูน (wheal) และ ผื่นแดง (flare) สามารถอ่านผลได้ในเวลา 20 นาที หลังการทดสอบ วิธีนี้ทำง่าย, เร็ว, ไม่เจ็บและใช้อุปกรณ์น้อย เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายน้อย

1.2 วิธีฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal test) เป็นการฉีดน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้เข้าในชั้นผิวหนังให้เกิดรอยนูนเป็นจุดเล็ก ๆ สามารถอ่านผลในเวลา 20 นาที หลังฉีดโดยวัดขนาดของรอยนูนที่ขยายใหญ่ขึ้น วิธีนี้ทำยากกว่า เสียเวลามากกว่า เจ็บกว่า และต้องใช้อุปกรณ์มากกว่า และเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายได้มากกว่า

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืดตั้งแต่เด็ก, จามเป็นหวัดบ่อย, ผื่นแพ้
  • สามารถทำได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ผลการทดสอบจะแม่นยำมากในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนัง

• งดทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) ยาสเตียรอยด์ ก่อนทำการทดสอบ 1-2 สัปดาห์
• หากมีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาใด ๆ อยู่ ควรแจ้งแพทย์ก่อนทำการทดสอบ
พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมร่างกายให้พร้อม ไม่ควรเป็นไข้ หรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ
• ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ และอาหาร

2. การตรวจเลือดหาภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ (Serum Specific IgE) วิธีนี้เป็นที่นิยมในต่างประเทศ เนื่องจากไม่เสี่ยงต่ออาการแพ้ทั่วร่างกาย เป็นการเจาะเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันชนิดที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (specific IgE) ทั้งสิ่งที่ปะปนในอากาศและอาหาร เช่น ไรฝุ่น สุนัข แมว เกสรหญ้า ไข่ แป้งสาลี ถั่วลิสง นมวัว กุ้ง

ข้อดีของการตรวจด้วยวิธีนี้ คือ ปลอดภัยในผู้มีโอกาสเกิดปฏิกิริยารุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้ ทำได้ในเด็กเล็ก และไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ก่อนทำการทดสอบ

การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือดเหมาะกับใคร?

  1. ผู้ที่ผิวหนังมีการอักเสบมาก หรือมีผื่นลมพิษชนิด dermatographism
  2. ผู้ที่เคยมีการแพ้อย่างรุนแรงต่อสารที่ต้องการทดสอบ
  3. ผู้ที่ไม่สามารถหยุดยาต้านฮีสตามีน หรือยาอื่น ๆ ที่มีผลรบกวนการทดสอบได้
  4. ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบตรวจภูมิแพ้ด้วยการตรวจเลือด

  • ก่อนเจาะเลือดควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิกก่อน
  • ผู้รับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร และงดยาแก้แพ้ก่อนการตรวจ
  • แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่หลวมสบาย เสื้อแขนสั้น หรือไม่รัดแขน เพื่อความสะดวกในการเจาะเลือด

ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใด อาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม GED good life แนะนำให้ผู้ป่วยภูมิแพ้เข้ารับการทดสอบในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีแพทย์เฉพาะทางทดสอบ อ่านผล และให้การรักษา เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง

ความเสี่ยงของการทดสอบโรคภูมิแพ้

การทดสอบโรคภูมิแพ้อาจส่งผลให้เกิดอาการคันตามผิวหนังเล็กน้อย ผิวแดง และบวมได้ อาการเหล่านี้มักจะหายไปภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่อาจคงอยู่สองสามวัน ในบางครั้งการทดสอบโรคภูมิแพ้จะก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงในทันที นั่นเป็นเหตุผลที่ควรทําการทดสอบโรคภูมิแพ้ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อรักษาภาวะภูมิแพ้ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการแพ้เฉียบพลันที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

หลังจากการทดสอบโรคภูมิแพ้ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น หากรู้ตัวว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น หรือทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


กล่าวโดยสรุปแล้ว การทดสอบในโรคภูมิแพ้เป็นการทดสอบที่ทำให้เรารู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น และควรได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ทั้งนี้การรักษาโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ การป้องกันและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอยู่เสมอ รับรองว่าถ้าทำได้ตามนี้ ภูมิแพ้ก็แพ้เราอย่างแน่นอน!

 

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

อ้างอิง : 1. diag 2. ศูนย์กุมารเวช รพ.เอกชัย 3. ศูนย์ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลสินแพทย์ 4. samitivejhospitals 5. bumrungrad

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close