ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) – สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ภูมิแพ้ เป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก และถึงแม้โรคภูมิแพ้โดยทั่วไปจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน อาจนำไปสู่ภาวะช็อก และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ วันนี้ Ged Good Life จะพาไปทำความรู้จักกับ  ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ว่าจะอันตรายแค่ไหน มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษา อย่างไรบ้าง… มาติดตามกันเลย!

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน คืออะไร?

ภูมิแพ้รุนแรง หรือ ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis – อนาฟัยแลกซิส) คือ ปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดรุนแรงฉับพลัน เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสสิ่งกระตุ้นบางอย่างที่ระบบภูมิคุ้มกันของคน ๆ นั้นมีความไวมากกว่าปกติ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายเกิดความผิดปกติขึ้น จนอาจเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก หรือเสียชีวิตได้ โดยมากมักเกิดภายใน 5-30 นาทีหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ หรือไม่เกิน 2 ชั่วโมง หลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดรับประทาน

จากการศึกษาพบว่า ในประชากรผู้ใหญ่ เพศหญิงมีอุบัติการณ์การเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงได้มากกว่าเพศชาย แต่ในเด็กอุบัติการณ์ไม่ต่างกันในระหว่างเพศ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ฮอร์โมนเพศน่าจะมีผลต่ออุบัติการณ์การเกิดภาวะนี้ สำหรับสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้มากที่สุด คือ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ คิดเป็นร้อยละ 45-60 ของผู้ป่วย

อาการสำคัญของ ภูมิแพ้รุนแรง ที่ผู้ป่วยต้องสังเกตให้เป็น

  • ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน ผิวหนังแดง หรือซีด (rash, itchy skin)
  • ไอ จาม น้ำมูกไหล (coughing)
  • วิงเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม (dizziness, confusion, fainting)
  • คลื่นไส้ อาเจียน (vomiting, nausea)
  • ปวดท้อง ท้องเสีย (diarrhea)
  • ความดันโลหิตลดต่ำลง (Low blood pressure)
  • ลิ้น ปาก คอบวม (facial swelling)
  • พูดจาไม่ชัด ไม่รู้เรื่อง (slurred speech)
  • หายใจติดขัด (trouble breathing)
  • หายใจอาจมีเสียงดังหวีด ๆ (wheezing)
  • รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ กลืนลำบาก (difficulty swallowing)
  • แน่นหน้าอก ใจสั่น (chest tightness, shake)
  • ชีพจรอ่อน หัวใจเต้นเร็ว (low pulse, rapid heart beat)
  • หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (cardiac arrest)
  • ช็อก หมดสติ (shock)

อาการแพ้รุนแรงมักมีอาการทั่วร่างกาย หรือมีอาการแสดงหลายระบบ ได้แก่

1. ระบบผิวหนังและเยื่อบุ เช่น อาการคัน ตัวแดง ผื่นลมพิษ ปากบวม หน้าบวม

2. ระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด หลอดลมตีบ คัดจมูก

3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาการเวียนศีรษะ วูบ หมดสติ ความดันต่ำ

4. ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว

การเกิดภูมิแพ้รุนแรงอาจเป็นที่ 2 ระบบใดก็ได้ หรือเป็นทุกระบบ อาจเป็นกรณีรุนแรงเฉพาะระบบหัวใจ และหลอดเลือด ทำให้มีภาวะความดันต่ำ ช็อก หมดสติ ซึ่งอาจเสียชีวิตได้หลังเกิดอาการช็อก หรือขาดอากาศหายใจจากการที่หลอดลมบวมตีบ

ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน


ภูมิแพ้รุนแรง ต่างจากการแพ้อื่น ๆ อย่างไร?

พญ.ชามาศ วงค์ษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุศาสตร์โรคภูมิแพ้ จากศูนย์โรคภูมิแพ้โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ให้ข้อมูลว่า

อาการแพ้ทั่วไปมักเกิดขึ้นที่ระบบใดระบบหนึ่ง และมักไม่มีอาการที่รุนแรง แต่อาการภูมิแพ้รุนแรง จะเกิดจากอาการมากกว่า 1 ระบบ และมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยอาการภูมิแพ้รุนแรงจะมีโอกาสเกิดซ้ำ 21 – 43 % ซึ่งอย่างน้อย 1 ใน 3  จะเกิดซ้ำจากสารก่อภูมิแพ้เดิม

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis

– ยาหย่อนกล้ามเนื้อ คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ คิดเป็นร้อยละ 45-60 ของผู้ป่วย
ที่มีปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงทั้งหมด

– วัสดุที่ประกอบด้วยน้ำยางพารา (latex) เช่น ถุงมือยาง ยางลาเท็กซ์ ลูกโป่ง คิดเป็นร้อยละ 14-20

– ยาปฏิชีวนะคิดเป็นร้อยละ 6-18

– สำหรับสารที่มีรายงานว่าก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอื่น ๆ ได้ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ สีที่ใช้
ฉีดหาตำแหน่งที่จะผ่าตัดสารทึบรังสี น้ำยาฆ่าเชื้อ สารน้ำโมเลกุลใหญ่ เป็นต้น

– การแพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว อาหารทะเล แป้งสาลี ไข่ นม ถั่ว

– แพ้แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน

ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

อ่านบทความ -> โรคลมพิษ คันยิก ๆ รักษายังไงดี?

ภูมิแพ้รุนแรง กับวัคซีนโควิด-19

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ระบุไว้ว่า คนไข้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ และโรคหืด สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ตามปกติ โดยโรคนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการแพ้วัคซีน มากกว่าคนทั่วไป สามารถรับวัคซีนชนิดไหนก็ได้

โดยอัตราการเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) พบได้น้อยมาก ประมาณ 1-11 ครั้งในการฉีด 1,000,000 ครั้ง (ขึ้นกับชนิดของวัคซีน) ส่วนอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย ไม่รุนแรง และหายได้เอง เราเรียกว่าผลข้างเคียงไม่ใช่อาการแพ้วัคซีน เช่น ปวดศีรษะ เมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียน ง่วงนอน/อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่น/บวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด ซึ่งอาการเป็นไม่มาก และมักจะหายได้เอง

วิธีรักษาอาการ ภูมิแพ้รุนแรง

ยาสำคัญที่สุดที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้รุนแรง คือ ยาอะดรีนาลิน (Adrenaline หรือ Epinephrine) และต้องให้โดยผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์เท่านั้น

  • ขนาดในผู้ใหญ่ คือ 0.3 – 0.5 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้ 500 ไมโครกรัม (0.5 มิลลิลิตร)
  • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้ 300 ไมโครกรัม (0.3 มิลลิลิตร)
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ให้ 150 ไมโครกรัม (0.15มิลลิลิตร)

สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรหลีกเลี่ยง และป้องกันตนเองจากสารนั้น ๆ เพื่อไม่ให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น ส่วนผู้ที่แพ้อาหารควรอ่านฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ หรือสอบถามคนขายก่อนซื้อมารับประทานเสมอ

การวินิจฉัยหาสารก่อภูมิแพ้ ทำได้ 3 วิธี ได้แก่

  1. การตรวจทางผิวหนัง (skin test)
  2. การตรวจเลือดหา specific IgE
  3. และวิธีการทดสอบโดยให้สารที่สงสัยซ้ำ (challenge test)

การทดสอบทั้ง 3 วิธีนี้ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะ เป็นการทดสอบที่มีความเสี่ยงสูง

 

วิธีปฐมพยาบาลตัวเองหากเกิดอาการแพ้

ปฐมพยาบาลตัวเองเมื่อเรามีอาการแพ้ควรทำอย่างไร ? อ.นพ.วรวิชญ์ เหลืองเวชการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ จากศูนย์โรคภูมิแพ้โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ บอกถึงวิธีการปฐมพยาบาลตัวเองเบื้องต้น ว่า

1. ควรตั้งสติก่อนเป็นอย่างแรก และขอความช่วยเหลือจะคนรอบข้าง

2. หากมีอาการเวียนศีรษะหรือหน้ามืดให้นอนราบลง ถ้าหายใจไม่สะดวกหรือรู้สึกแน่นหน้าอก ให้นั่งและเอนศีรษะตั้งสูง แต่หากตั้งครรภ์อยู่ให้นอนตะแคงเอาด้านซ้ายลงแทน

3. หากมีอาการให้ใช้ยาเลย ถ้ามียาแก้แพ้ให้กินยาแก้แพ้ก่อน แต่หากมียาฉีดอย่าง อะดรีนาลิน หรือ Epipen สามารถฉีดยาเองได้เลย

4. แต่ถึงแม้จะกิน หรือฉีดยาเองแล้ว ก็ยังควรต้องไปพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุดเพื่อเข้ารับการรักษาทันที เพราะอาการภูมิแพ้รุนแรงอาจแย่ลง หรือเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นได้

Ged Good Life สรุปให้…

1. ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงชนิด anaphylaxis เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

2. สารที่พบว่าเป็นสาเหตุของภาวะนี้ได้บ่อยคือ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ ยาปฏิชีวนะ สารที่มีส่วนประกอบของยางพารา  แมลงกัดต่อย

3. อาการที่บ่งบอกว่าเป็นภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน ผิวหนังแดงหรือซีด คลื่นไส้ อาเจียน ฯ

4. ยาสำคัญที่สุดที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้รุนแรง คือ ยาอะดรีนาลิน (Adrenaline หรือ Epinephrine)

5. สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรหลีกเลี่ยง และป้องกันตนเองจากสารนั้น ๆ เพื่อไม่ให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น

6. หากไม่รู้ว่าแพ้สารอะไร ควรเข้ารับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

อ้างอิง :

1.  SiPH Channel  2. bangkokhospital  3. anesthai 4. healthline 5. acaai 6. bumrungrad

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close