“โรคแพ้ละอองเกสร” เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

ภูมิแพ้ เป็นโรคยอดฮิตของคนจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งภูมิแพ้นั้น มีได้หลายลักษณะ แต่หนึ่งในโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยมาก ก็คือ “โรคแพ้ละอองเกสร” หรือหลายคนมักเรียกว่า “ไข้ละอองฟาง” หรือ “ไข้จาม” หรือ “โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ตามฤดูกาล”

ลักษณะของโรคนี้ พบมากในฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ร่วง เพราะพืชมักจะปล่อยละอองเกสรขนาดเล็กออกมาก ซึ่งละอองเกสรเหล่านั้น หากคนไปสัมผัส หรือสูดดมเข้าไปแล้ว ก็จะเกิดปฏิกิริยาทางร่างกาย จนเกิดอาการแพ้ได้  ละอองเกสรที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ส่วนใหญ่มักมาจากต้นไม้ วัชพืช หรือหญ้า เนื่องจากพืชเหล่านี้ สามารถสร้างละอองเกสรที่มีขนาดเล็กมาก น้ำหนักเบา และเดินทางโดยลม จึงสามารถพัดพาไปได้ทุกหนทุกแห่ง

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

สาเหตุของการแพ้ละอองเกสร

อาการแพ้นั้นเกิดเนื่องจาก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อโมเลกุลที่กระตุ้นการแพ้ หรือที่เรียกว่าสารก่อภูมิแพ้ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะผลิตแอนติบอดีที่ตรวจจับสารก่อภูมิแพ้ และทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ และการปล่อยสารเคมีที่เรียกว่าฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการ คันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย น้ำมูกไหล ตาบวม และจาม เหล่านี้เป็นต้น

โรคแพ้ละอองเกสร เป็นโรคตามฤดูกาล สามารถอยู่ได้นานหลายเดือน จะเกิดขึ้นเมื่อพืชออกดอก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสถานที่ และชนิดของพืช ดังนั้น ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ละอองเกสร ต้องลองสังเกตตัวเองว่า มักเกิดอาการช่วงไหนของปี ก็อาจระมัดระวังการออกไปข้างนอกในช่วงเวลานั้น แต่หากไปพบแพทย์ ก็จะสามารถทำการวินิจฉัยได้อย่างละเอียด โดยการซักประวัติ รวมถึงช่วงเวลาที่เกิดอาการ และจะมีการทดสอบทางผิวหนังในบริเวณต่าง ๆ โดยใส่สารก่อภูมิแพ้ประเภทต่าง ๆ ลงไปทีละเล็กทีละน้อย โดยดูปฏิกิริยาของร่างกายต่อสารต่าง ๆ ซึ่งจะบ่งชี้ว่า เป็นภูมิแพ้จากละอองเกสรหรือไม่


ลักษณะอาการของผู้ที่แพ้ละอองเกสร

โดยทั่วไป ผู้ที่แพ้ละอองเกสร มักมีอาการคล้ายคลึงผู้ที่เป็นภูมิแพ้ทั่วไป ได้แก่

  • น้ำมูกไหล คัดจมูก
  • จาม
  • คันจมูก ตา หู ปาก มีลักษณะน้ำตาไหลร่วมด้วย
  • คันบริเวณลำคอ รู้สึกอยากไอ
  • ตาแดง รอบดวงตาบวม
  • มีอาการความดันขึ้นที่ไซนัสซึ่งอาจทำให้ปวดบริเวณใบหน้า
  • การรับรสหรือกลิ่นลดลง
  • มีอาการโรคหอบหืดร่วมด้วย

อาการแพ้เหล่านี้หากเป็นต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่รีบหาสาเหตุ อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านอื่น ทั้งร่างกาย และจิตใจตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นในเด็ก อาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ ซึ่งจะหยุดชะงักได้


ผลกระทบของการเป็น โรคแพ้ละอองเกสร

โรคภูมิแพ้ อาจไม่ใช่โรคร้ายแรงเหมือนโรคอื่น แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตได้ไม่น้อยกว่าโรคอื่น อีกทั้งยังทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ มีข้อจำกัดในการเข้าสังคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งร่างกาย และจิตใจได้ โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • ทำให้สมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง
  • หากเป็นในวัยเด็ก ก็จะทำให้พัฒนาการต่าง ๆ หยุดชะงักลงได้
  • การทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำได้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมกลางแจ้ง
  • ทำให้ความทรงจำแย่ลง
  • เกิดความหงุดหงิดได้ง่าย
  • ทำให้การนอนหลับไม่ปกติ ไม่สามารถหลับได้ลึก หรือหลับได้ยาว เมื่อตื่นขึ้น จะรู้สึกอ่อนล้า ไม่สดชื่น
  • ร่างกายจะรู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าคนทั่วไป
  • ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
  • เมื่ออาการกำเริบ ทำให้ไม่สามารถทำงาน หรือเรียนหนังสือได้
  • ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์มากขึ้น เพราะเมื่ออาการกำเริบ ทำให้การศักยภาพในการมองเห็นลดลง
  • มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงาน หรือโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า ผลกระทบของการเป็นโรคภูมิแพ้ละอองเกสร แม้ดูไม่รุนแรงต่อร่างกาย แต่สามารถส่งผลกระทบทางอ้อมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงภาวะทางจิตใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงตามมาได้ ดังนั้น จึงควรมีวิธีการรักษา และดูแลตัวเองที่ดี


โรคแพ้ละอองเกสร

วิธีการรักษาและการดูแลตัวเอง

โดยมาก แพทย์มักจะใช้ยา เพื่อลดอาการแพ้ แต่วิธีการรักษาที่ดีที่สุดก็คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งก็คือละอองเกสรนั่นเอง ทำได้โดยการ

  • อยู่แต่ในบ้านในวันที่มีลมค่อนข้างแรงหรืออากาศแห้ง เนื่องจากลมนั้นจะนำพาละอองเกสรขนาดเล็กที่เป็นสาเหตุของภูมิแพ้มาสู่ร่างกายได้ จากสถิติ ละอองเกสรมักจะมีปริมาณสูงสุดในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึก
  • มอบหมายงานนอกบ้านให้แก่ผู้อื่นทำแทน ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งมักเป็นฤดูใบไม้ผลิ ที่พืชต่าง ๆ จะผสมพันธุ์ และมีละอองเกสรปลิวอยู่ในอากาศ
  • สวมหน้ากากกันฝุ่นเมื่อจำนวนละอองเกสรสูง โดยสามารถตรวจสอบได้จากทางอินเทอร์เน็ต หรือแอพพลิเคชั่นสภาพอากาศ
  • สวมแว่นตากันแดด และหมวกทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน เพื่อช่วยลดปริมาณละอองเกสรที่จะมาสัมผัสดวงตา หรือเกาะอยู่ที่เส้นผม
  • ปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองเกสรปลิวเข้ามาภายในตัวบ้าน
  • รับประทานยาแก้แพ้ ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอื่นตามมาได้
  • หากมีอาการแพ้มาก สามารถล้างจมูก เพื่อช่วยลดปริมาณสะสมของละอองเกสรที่อยู่ในโพรงจมูก และลำคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการแพ้ได้
  • อาบน้ำ และสระผมทุกวันก่อนนอน วิธีนี้จะขจัดละอองเกสรออกจากเส้นผมและผิวหนัง อีกทั้งยังลดปริมาณละอองเกสรสะสมอยู่บนที่นอนด้วย

นอกจากนี้แล้ว การใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ก็สามารถช่วยลดการเกิดอาการภูมิแพ้ได้อีก อาทิ

  • เมื่อกลับถึงบ้าน ให้ถอดชุดที่สวมใส่ออกไปภายนอกบ้านออกทันที เพื่อป้องกันละอองเกสรที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้
  • ซักผ้าปูที่นอนด้วยน้ำร้อนสัปดาห์ละครั้ง
  • การใช้เครื่องอบผ้าแทนการตากผ้าในที่แจ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองเกสรปลิวมาติดเสื้อผ้า
  • การใช้เครื่องปรับอากาศในรถยนต์และในบ้าน แทนการเปิดหน้าต่าง เพื่อลดปริมาณละอองเกสรที่เข้าสู่ในตัวบ้าน หรือห้องโดยสาร
  • การใช้เครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยดักจับละอองเกสรขนาดเล็กที่อาจปลิวอยู่รอบตัว
  • ใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรอง HEPA แทนไม้กวาด เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นและละอองเกสรได้
  • ลดการเล่นกับสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่นอกบ้าน เนื่องจากอาจมีละอองเกสรที่ติดอยู่บริเวณผิวของสัตว์เลี้ยงซึ่งจะทำให้ติดมายังผิวหนังได้
  • ระมัดระวังการใช้เครื่องสำอางค์หรือของใช้เกี่ยวกับร่างกายบางชนิด เช่น แชมพู สบู่ ครีมบำรุงผิวต่าง ๆ เพราะอาจมีส่วนผสมของเกสรที่ผสมเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ได้
  • ควรระมัดระวังการรับประทานอาหารบางจำพวกที่อาจมีผลข้างเคียงคล้ายกับละอองเกสร เช่น คึ่นฉ่าย, น้ำผึ้ง, เมล็ดทานตะวัน, แครอท, ผักกาดหอม, แตงโม และถั่ว

 

มนุษย์ และธรรมชาติต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อยหากอาการภูมิแพ้ละอองเกสรของคุณมาทำให้คุณต้องห่างไกลจากธรรมชาติอันสดชื่นและสวยงาม และหวังว่าคำแนะนำที่เรารวบรวมมาฝากกันในวันนี้จะช่วยให้คุณออกไปเผชิญใกล้ชิดกับธรรมชาติได้ดังที่ต้องการโดยไม่มีอาการภูมิแพ้มากวนใจ


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close