“วันพยาบาลสากล” บุคคลสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษยชาติ

วันพยาบาลสากล

พยาบาล ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติมากที่สุดอาชีพหนึ่งของโลก เพราะต้องคอยดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่เกี่ยงชนชั้นและอาชีพ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ให้ความดูแลเราอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าใช้เวลาอยู่กับเรามากกว่าหมอเสียอีก จึงเรียกได้ว่า… อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพปิดทองหลังพระที่แท้จริง! เนื่องใน วันพยาบาลสากล ที่กำลังจะมาถึงนี้ Ged Good Life จึงขอถือโอกาสนี้นำเสนอความเป็นมาพยาบาลให้มากขึ้นกันดีกว่า

วันพยาบาลสากล (International Nurses Day)

นอกจากวันพยาบาลแห่งชาติ ที่ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีแล้ว สภาพยาบาลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาลระดับโลก ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 

ที่ต้องเป็นวันที่ 12 พฤษภาคม ก็เพราะวันนี้ เป็นวันเกิดของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดวิชาชีพการพยาบาลแผนปัจจุบัน และเป็นผู้มีอุดมการณ์ ตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่อง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

วันพยาบาลสากลจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณความดีของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์อย่างมากมาย รวมทั้งเพื่อยกย่อง ให้เกียรติ และยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือกันจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางในการให้พยาบาลทั่วโลก ได้รณรงค์แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอีกด้วย

ประวัติ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เป็นชาวอังกฤษ แต่เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1820 ครอบครัวของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จัดว่าเป็นชนชั้นสูงที่มีฐานะดี ทำให้เธอได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ จึงขอบิดามารดาเรียนพยาบาล แต่เนื่องจากในยุคนั้น งานพยาบาลถือเป็นงานของชนชั้นแรงงาน และไม่ได้รับความนับถือจากคนในสังคมชั้นสูงนัก ครอบครัวของเธอจึงปฏิเสธ แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ก็ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อผู้ที่เจ็บป่วย และคอยหาโอกาสได้ไปเยี่ยมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาอบรมวิชาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนีสมดังใจ

ต่อมาในปี 1857 เกิดสงครามไครเมียขึ้น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล อาสาไปช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม นอกจากเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวแล้ว เธอยังขอเรี่ยไรจัดหาเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทหาร และออกเยี่ยมเยียนเพื่อรักษา และให้กำลังใจทหารตั้งแต่เช้าจนค่ำ มักมีคนเห็นฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถือตะเกียงเล็ก ๆ คอยเดินตรวจอาการของเหล่าทหารกลางดึกอยู่เสมอ จนผู้คนต่างพากันเรียกเธอว่า The Lady with the Lamp

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มเสนอแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรค มากนัก ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือผู้ที่สังเกตเห็นว่า ทหารที่มีบาดแผลสกปรก จนเกิดการอักเสบ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และเรียกร้องให้มีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด

หลังสงครามสิ้นสุดลง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้พัฒนากิจการพยาบาลให้ก้าวหน้าขึ้น จนได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดระเบียบด้านสุขภาพในกองทัพประเทศอังกฤษ วางแผนงานด้านสุขาภิบาลในประเทศอินเดีย ก่อนจะก่อตั้งโรงเรียนการพยาบาลที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลก

วันพยาบาลสากล ในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยนั้น สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้เข้าเป็นองค์กรสมาชิกสภาพยาบาลระหว่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2504 และเริ่มจัดกิจกรรมวันพยาบาลสากลครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2529 โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อ ยกย่อง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้เป็นบูรพาจารย์แห่งการพยาบาล และประกาศเกียรติคุณให้ประชาชนได้ทราบ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่บทบาทของพยาบาลต่อสุขภาพของประชาชนให้ทราบเป็นประจำทุกปี

กิจกรรมในวันพยาบาลสากล มักจัดขึ้นในสถานพยาบาล โดยหน่วยงานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวข้องกับการพยาบาล เช่น

  • จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้
  • นิทรรศการเกี่ยวกับสุขภาพ
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ
  • มีการตรวจสุขภาพ และคัดกรองโรค
  • รณรงค์ให้มีการดูแลสุขภาพในครอบครัว
  • จัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับการแพทย์ และการพยาบาล
  • ให้คำปรึกษาด้านการสุขภาพแก่ประชาชน
  • ให้การบริการพยาบาลแก่ประชาชน และรับบริจาคโลหิต

รวมคำขวัญวันพยาบาลสากล 1988-2018

  • 1988 – Safe Motherhood
  • 1989 – School Health
  • 1990 – Nurses and Environment
  • 1991 – Mental Health – Nurses in Action
  • 1992 – Healthy Aging
  • 1993 – Quality, costs and Nursing
  • 1994 – Healthy Families for Healthy Nation
  • 1995 – Women’s Health: Nurses Pave the Way
  • 1996 – Better Health through Nursing Research
  • 1997 – Healthy Young People = A Brighter Future
  • 1998 – Partnership for Community Health
  • 1999 – Celebrating Nursing’s Past, claiming the future
  • 2000 – Nurses – Always there for you
  • 2001 – Nurses, Always There for You: United Against Violence
  • 2002 – Nurses Always There for You: Caring for Families
  • 2003 – Nurses: Fighting AIDS stigma, working for all
  • 2004 – Nurses: Working with the Poor; Against Poverty
  • 2005 – Nurses for Patients’ Safety: Targeting counterfeit medicines and substandard medication
  • 2006 – Safe staffing saves lives
  • 2007 – Positive practice environments: Quality workplaces = quality patient care
  • 2008 – Delivering Quality, Serving Communities: Nurses Leading Primary Health Care and social care
  • 2009 – Delivering Quality, Serving Communities: Nurses Leading Care Innovations
  • 2010 – Delivering Quality, Serving Communities: Nurses Leading Chronic Care
  • 2011 – Closing The Gap: Increasing Access and Equity
  • 2012 – Closing The Gap: From Evidence to Action
  • 2013 – Closing The Gap: Millennium Development Goals
  • 2014 – Nurses: A Force for Change – A vital resource for health
  • 2015 – Nurses: A Force for Change: Care Effective, Cost Effective
  • 2016 – Nurses: A Force for Change: Improving Health Systems’ Resilience
  • 2017 – Nurses: A voice to lead – Achieving the Sustainable Development Goals
  • 2018 – “Nurses A Voice to Lead – Health is a Human right”

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close