โควิด-19 vs ไข้หวัดธรรมดา ต่างกันอย่างไร ?

โควิด-19 vs ไข้หวัดธรรมดา

Covid-19 หรือ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้อไวรัสที่เพิ่งถูกค้นพบในประเทศจีน ปี 2019 ซึ่งอาการเจ็บป่วยค่อนข้างมีความใกล้เคียงกับ ไข้หวัดทั่วไป (Common Cold) หลายคนที่มีไข้ ไอ เจ็บคอ ในช่วงนี้ ก็มักจะวิตกกังวล สับสนว่า โควิด-19 vs ไข้หวัดธรรมดา แตกต่างกันอย่างไร ? วันนี้ GedGoodLife มีคำตอบมาให้แล้ว มาติดตามกันเลย

สาเหตุ ของ โควิด-19 vs ไข้หวัดธรรมดา

ไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) มักเกิดจากเชื้อไวรัสไรโนไวรัส (Rhinovirus) 30-80% เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับจมูก คือหวัดธรรมดา พบบ่อยมากในเด็ก และไวรัสอีกชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดคือ โคโรนาไวรัส (Coronavirus) 10-15% แต่เป็นไวรัสโคโรนาที่ค้นพบ และมีมานานแล้ว โดยมีการพบเชื้อไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์แล้ว 6 สายพันธุ์

โควิด-19 (Coronavirus 2019 – COVID-19) เกิดจาก ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (นับเป็นสายพันธุ์ที่ 7 ของไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์) ซึ่งทำให้มีอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ ต้นตอของไวรัสน่าจะมาจากไวรัสจากสัตว์ตัวกลางระบาดมาสู่คน

ข้อควรรู้ : WHO หรือองค์การอนามัยโลก ได้ชี้แจงว่า ผู้ป่วยรายแรกเท่าที่ทราบกัน เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 และไม่มีความเชื่อมโยงกับตลาดต้องสงสัยในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ผู้ป่วยหลายรายอาจมีมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน หรือก่อนหน้านั้น

มีการเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมในตลาดอู่ฮั่นไปส่งตรวจ และพบเชื้อไวรัสมากที่สุดในบริเวณที่ค้าสัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่า ตลาดในเมืองอู่ฮั่น คือต้นกำเนิดของไวรัส

อ้างอิง : who.int


อาการของ โควิด-19 vs ไข้หวัดธรรมดา

อาการ โควิด-19

  • มีไข้ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ (ไอเป็นเลือดได้)
  • มีเสมหะ เสมหะอาจจะมีเลือดติดเป็นเส้นสาย
  • จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
  • หายใจเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
  • ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว
  • อาจมีคลื่นไส้ ท้องเสียในบางราย
  • ท้องเสีย
  • ตาแดงอักเสบ

อาการไข้หวัดธรรมดา

  • มีไข้ต่ำ ๆ
  • น้ำมูกไหล
  • ไอ จาม
  • เจ็บคอ
  • อ่อนเพลีย

โคโรนาไวรัส vs ไข้หวัดธรรมดา


ความรุนแรงของ โควิด-19 vs ไข้หวัดธรรมดา

โควิด-19 – อาการรุนแรงที่สุดที่พบจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 คือ อาการปอดอักเสบอันนำไปสู่การเสียชีวิต ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันตามความแข็งแรงของแต่ละคน เด็กอายุน้อย และวัยรุ่นจะมีอาการน้อยกว่าผู้สูงอายุ ผู้ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ และมักมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด หรือ โรคหัวใจ

ไข้หวัดธรรมดา – มักไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง และไม่มีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวันมากนัก มีอาการอยู่ไม่นาน หากดูแลร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อาการไข้หวัดจะค่อย ๆ หายไปเองใน 3-4 วัน


การรักษาโรค โควิด-19 กับ ไข้หวัดธรรมดา

การรักษาโรค โควิด-19

หากตรวจพบว่ามีเชื้อ โควิด-19 ให้รับผู้ป่วยไว้รักษาในห้องแยกที่มีความดันอากาศในห้องเป็นลบ ซึ่งมีอยู่แล้วในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์

ทางแพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคอง เนื่องจากยังไม่มียารักษาโควิด-19 โดยเฉพาะ มีการให้ออกซิเจน หรือใส่ท่อช่วยหายใจตามความจำเป็น เป็นต้น

ผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อ จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที และห้ามผู้ป่วยเดินทางไปทำงาน หรืออยู่ที่บ้านโดยเด็ดขาด

โรงพยาบาลต้องมีการวิธีกำจัดเชื้อไวรัสในพื้นที่ และสถานที่โดยรอบที่ตรวจพบเชื้อ

แพทย์ต้องรายงานผลการตรวจผู้ป่วยทุกรายที่พบการติดเชื้อ ให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สสจ. ในแต่ละจังหวัดด้วย

การรักษาไข้หวัดธรรมดา

– พักผ่อนให้มากขึ้น

– ดื่มน้ำให้เพียงพอ

– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

– ให้ยารักษาตามอาการ เช่น

  • กินยาลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล
  • ยาลดน้ำมูก เป็นยาที่ใช้ร่วมกับยาแก้ปวดและยาแก้คัดจมูก ช่วยให้ไข้หวัดหายได้เร็วยิ่งขึ้น
  • ยาแก้ไอ คือยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอมีเสมหะ ซึ่งจะช่วยให้เสมหะนิ่มลงและขับออกได้ง่ายขึ้น

โควิด-19 vs ไข้หวัดธรรมดา

การป้องกันโรค

การดูแลป้องกันตัวเองของไข้หวัดธรรมดา และ โควิด-19 ไม่ต่างกัน เพราะไวรัสสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ จากการถูกไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของคนที่ป่วย

– ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน เมื่อต้องเดินทางออกไปนอกบ้าน เพราะเชื้อไวรัสนี้ติดต่อผ่านทางลมหายใจ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ใส่หน้ากากอนามัยนอกจากป้องกันสารคัดหลั่งจากน้ำมูกน้ำลาย ยังป้องกันไม่ให้เราเอามือเข้าปากโดยไม่รู้ตัว

– หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำด้วยสบู่ หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งควรมีปริมาณแอลกอฮอล์ 70-75% ขึ้นไป

โควิด-19 vs ไข้หวัดธรรมดา

– ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ไอ จาม หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และมีมลภาวะเป็นพิษ

– ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ฯลฯ

– กินอาหารปรุงสุกใหม่ ไวรัสโคโรนาจะหมดสภาพลงอย่างรวดเร็วเมื่อถูกความร้อน เมื่อได้รับความร้อนที่ 75 องศา เพียง 5 นาที ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ จะช่วยป้องกันได้

– รีบไปพบแพทย์ถ้ามีอาการไข้ หากมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะหากเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยหลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน

ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close