ไขข้อสงสัย! ง่วงนอนตลอดเวลา “แค่ง่วง” หรือ “ป่วย” กันแน่?!

ง่วงนอนตลอดเวลา

เคยสงสัยกันไหม ทำไมเราถึงได้รู้สึกง่วงนอนได้ตลอดเวลา? แค่หัวถึงหมอนก็หลับได้เลยทันที หรือแค่นั่งเก้าอี้ก็รู้สึกง่วงแล้ว อาการแบบนี้มันแค่ง่วง หรือป่วยกันแน่นะ? วันนี้ Ged Good Life จะพาไปไขข้อสงสัยนี้กัน หากใครที่กำลังมีอาการ ง่วงนอนตลอดเวลา ต้องไม่พลาด!

decolgen ดีคอลเจน

ภาวะง่วงนอน เกิดจากอะไร?

1. นาฬิกาชีวิตที่ควบคุมอยู่ภายในร่างกาย ส่งสัญญาณทำให้เกิดภาวะง่วงนอนสองช่วงเวลาในหนึ่งวัน โดยครั้งแรกจะเป็นช่วงค่ำที่จะเข้านอน ส่วนครั้งที่สองจะเกิดซ้ำในอีก 12 ชั่วโมงถัดไป หรือช่วงบ่ายนั่นเอง ช่วงเวลากลางวัน และช่วงเวลากลางคืน ก็มีผลต่อนาฬิกาชีวิตที่ควบคุมอยู่ภายในร่างกายเช่นกัน

2. ปัญหาสุขภาพจิต การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพจิต และอารมณ์ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ โดยสาเหตุของอาการง่วงนอนส่วนใหญ่มักมาจากอาการเบื่อหน่าย ขณะที่ภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลียจนเป็นสาเหตุของอาการง่วงเหงาหาวนอน

ง่วงนอนตลอดเวลา อาจสัมพันธ์กับโรคต่าง ๆ ดังนี้

1. โรคง่วงนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia) หรือ โรคนอนเกิน

เป็นโรคที่หลับเกินพอดี ขี้เซา นอนเท่าไรก็ไม่พอ ง่วงนอนตลอดเวลา แม้แต่ในเวลากินข้าว หรือพูดคุยกับคนอื่นก็ยังหลับได้ มีการนอนที่นานเกิน 8 ชั่วโมง โรคนี้ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรม นิสัยเกียจคร้าน หรือบุคลิกภาพส่วนตัว แต่เกิดจากโรคทางกายหรือทางใจ ต้องรีบพบแพทย์

อาการของโรคนอนเกิน เฉื่อยชา ไร้ชีวิตชีวา, กินน้อยแต่อ้วนง่าย, หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล, สมองช้า ความคิดไม่แล่น

2. โรคลมหลับ (Narcolepsy)

เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา ง่วงมากจนผิดสังเกต และหลับในช่วงเวลาต่าง ๆ อย่างผิดปกติ และไม่ว่าจะนอนเท่าใดก็ยังรู้สึกง่วง แต่ในประเทศไทยนั้นยังพบได้น้อย  โรคลมหลับเกิดจากสารสื่อประสาทไฮโปคริติน (Hypocretin) ในสมองลดน้อยลง ทำให้ความรู้สึกตัวของเราลดน้อยลงตามไป ก่อให้เกิดอาหารหลับแบบฉับพลันได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีอันตรายต่อชีวิตมาก

อาการของโรคลมหลับ ง่วงนอนมากผิดปกติ, อ่อนแรงฉับพลัน อยู่ ๆ ก็เผลอหลับไป, ตอนกลางคืนจะนอนหลับเหมือนคนปกติ แต่กลางวันจะมีอาการของโรคลมหลับ, เห็นภาพหลอน ครึ่งหลับครึ่งตื่น

3. โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)

เกิดจากการดำเนินชีวิตแบบผิด ๆ ส่งผลให้ร่างกายมี “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ” ไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไรตลอดทั้งวัน โรคนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยทำงานช่วงอายุราว ๆ 25-45 ปี โดยสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ชัดเจน แต่สามารถป้องกันได้โดยเฉพาะการ “หลีกเลี่ยงน้ำตาล”

อาการของโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง ง่วง ๆ ซึม ๆ เบลอ ๆ เหนื่อยหน่ายกับชีวิต

4. โรคนอนกรน Obstructive sleep apnea syndrome (OSAS)

อาจมีสาเหตุจากทางเดินหายใจอุดตัน ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่ต่อเนื่อง รู้สึกเพลีย และง่วงนอนตลอดเวลา

อาการของโรคนอนกรน ขี้ลืม ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน, รู้สึกสมองตื้อ คิดอะไรไม่ออกเพราะง่วงนอนขี้ลืม, จุกแน่นคอเหมือนมีอะไรติดคอ, หูอื้อ, หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห

5. โรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการนอนโดยตรง

โรคประจำตัวบางโรค อาจทำให้ระบบไหลเวียนเลือดไม่สมบูรณ์ นำมาสู่อาการอ่อนเพลีย และทำให้รู้สึกอยากนอนหลับพักผ่อนมากกว่าปกติได้ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคเครียด โรคโลหิตจาง เป็นต้น

ง่วงนอนตลอดเวลา

วิธีแก้และป้องกันอาการ ง่วงนอนตลอดเวลา

หลายคนเมื่อรู้สึกง่วงนอนในเวลากลางวัน หรือช่วงเวลาที่ยังไม่ควรนอน ก็จะแก้ด้วยการงีบหลับสักพัก เพื่อให้หายง่วง แต่การงีบหลับก็เป็นเพียงแค่การแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะในที่สุดแล้วก็จะกลับมามีอาการง่วงเหงาหาวนอนอีก ดังนั้นจึงควรแก้ไขที่ต้นเหตุจึงจะดีที่สุด โดยวิธีการกำจัดอาการง่วงนอนระหว่างวันให้หายขาดทำได้ดังนี้

1. นอนหลับให้เป็นเวลา พร้อมปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในห้องนอน – ด้วยการจัดห้องนอนให้น่านอน ปลอดโปร่ง โล่งสบาย ไร้เสียงรบกวน

2. เสริมสร้างวิตามิน – การเหนื่อยตลอดเวลาอาจเป็นสัญญาณของการขาดวิตามินได้เช่นกัน เช่น วิตามินดี วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม หรือโพแทสเซียม

3. ควบคุมอารมณ์ไม่ให้เครียดจนเกินไป – ความเครียด คือหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ดังนั้นจึงควรผ่อนคลายความเครียดลง

4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารเสพติด – เพราะสารเสพติดจะทำให้การนอนหลับแย่ลง โดยการใช้ยานอนหลับจะทำให้วงจรการนอนไม่สมบูรณ์ และทำให้ตื่นมาอ่อนเพลีย

5. รู้จักควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน หรือมีไขมันในร่างกายเกินไป – น้ำหนักตัวที่มากขึ้นจะส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักขึ้นจนเกิดความอ่อนเพลีย และง่วงนอนระหว่างวัน

6. รักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ – แม้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนแล้ว แต่ยังไม่หาย แนะนำให้เข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

จะเห็นได้ว่า อาการง่วงนอนตลอดเวลาอาจมาจากสาเหตุต่าง ๆ ได้มากมาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของเราได้ ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อการตรวจรักษาที่เหมาะสม

อ้างอิง : 1. ramachannel 2. pobpad

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close