“โรคใหลตาย” ภัยเงียบที่นอนแล้วไม่อาจตื่นมาอีก! เผยสาเหตุ และวิธีป้องกัน

โรคใหลตาย

ไขข้อสงสัย! “โรคใหลตาย” มีสาเหตุมาจากอะไร ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ พร้อมวิธีป้องกันไม่ให้เกิดกับตัวเรา ทุกคนควรรู้! เพราะโรคใหลตาย อันตรายกว่าที่คิด อาจหลับไม่ตื่นอย่างไร้สัญญาณเตือนล่วงหน้า

decolgen ดีคอลเจน

ทำความรู้จักกับ โรคใหลตาย

โรคใหลตาย (Sudden Unexpected Death Syndrome) หรือ SUDS – คือ การเสียชีวิตแบบเฉียบพลันขณะนอนหลับ ในทางการแพทย์จะเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน” เป็นการเสียชีวิตที่เกิดจากความผิดปกติของการเต้นหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงที่สุด จนทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจมีเสียงครืดคราดผิดปกติคล้ายนอนละเมอ เรียกไม่รู้ตัว

จากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่รอดชีวิต พบว่าใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจลักษณะบรูกาดา (Brugada pattern) โดยไม่พบความผิดปกติของโครงสร้าง และการทำงานส่วนอื่น ๆของหัวใจ  ทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada syndrome)

พญ.ชญานุตย์ สุวรรณเพ็ญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ อธิบายว่า ความผิดปกติมักพบขณะหลับ นอกจากเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะดังกล่าว ยังอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันได้อีกด้วย อีกทั้งยังอาจพบได้ในขณะตื่น โดยอาการที่เกิดอาจเกิดอาการใจสั่นช่วงสั้น ๆ หรืออาการวูบเป็นลมหมดสติได้

ข้อควรรู้ – ราชบัณฑิตยสถานมีมติว่า ชื่อโรคนี้ ให้เขียน “ใหลตาย” ไม่ใช่ “ไหลตาย” โดยวินิจฉัยว่า “ใหล” มาจาก “หลับใหล” หรือ “นอนหลับไม่ได้สติ”


สาเหตุของ โรคใหลตาย

ผศ. พญ.สิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของโรคมี 2 ประการด้วยกัน ได้แก่

1. การบริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนเกิดการสะสม และเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ

2. ปัจจัยต่อมาคือการขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงอยู่ดี ๆ รู้สึกอ่อนเพลีย และอยากนอน เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที โดยโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาวะทุพโภชนาการ และสุขนิสัยการกินที่ผิด

ส่วนปัจจัยส่งเสริมทำให้ผู้ป่วยมีพันธุกรรมโรคใหลตายเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิต ประกอบด้วย

  • การเป็นไข้สูง
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การใช้ยานอนหลับ
  • ร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคใหลตาย ?

โรคนี้มักพบในเพศชายวัยทำงาน อายุ 25-55 ปี แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิง ในเด็ก หรือในผู้สูงอายุได้เช่นกัน สำหรับในประเทศไทย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองลงมาในภาคเหนือ

ในทารกก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน แม้ทารกจะมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม พบบ่อยที่อายุ 2-4 เดือน สาเหตุของภาวะนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มากีดขวางการหายใจของทารกขณะนอนหลับ เช่น การจัดท่าให้ทารกนอนคว่ำ หรือนอนตะแคง การที่มีผ้าห่ม หรือวัตถุนิ่ม ๆ ปิดหน้าทารกขณะนอนหลับ การถูกผู้ใหญ่นอนทับ เป็นต้น

โรคใหลตาย เกิดเฉพาะตอนนอนหลับเท่านั้นหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะตอนนอนหลับเสมอไป สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาอื่น ทั้งขณะนั่งพักอ่านหนังสือ นอนเล่นหลังอาหาร หรือแม้แต่นั่งในงานเลี้ยง แต่ไม่เกิดในขณะออกกำลัง เดิน หรือ ยืน


5 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคใหลตาย ไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเรา

1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ยาลดน้ำหนัก ยาเสพติดบางชนิดที่มีแอมเฟตามีนผสม เป็นต้น

2. ลดภาวะตึงเครียดของร่างกาย เช่นการพักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก

3. ลดการรับประทานอาหารที่มีแป้ง และน้ำตาลปริมาณมากเกินไป

4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน และรับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย

5. บริหารจัดการความเครียดให้เหมาะสม เช่น การนั่งสมาธิ หากิจกรรมผ่อนคลายอารมณ์ เป็นต้น

6. สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรเข้าพบแพทย์รับการตรวจแต่เนิ่น ๆ เพราะปัจจุบันมีวิธีป้องกันไม่ให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

7. กรณีที่มีประวัติครอบครัวมีอาการใหลตาย ควรเข้ารับการตรวจพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงใหลตาย และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวางแผนการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัย และรักษาที่เหมาะสม


การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใหลตาย

ให้จับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาล หรือรอคนมาช่วยให้ประเมินผู้ป่วย หากพบว่าไม่หายใจ หรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาที โดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว และไม่ควรเสียเวลาโดยไม่จำเป็น เช่น งัดปากคนไข้ด้วยของแข็งเพราะอาจเป็นอันตราย และให้ระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน


อ้างอิง : 1. chulacardiaccenter 2. childrenhospital 3. nadoon 4. rama.mahidol 5. th.wikipedia

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close