สังคหวัตถุ ๔ หลักธรรมของคู่สร้างคู่สม เคล็ดลับครองรักให้ยั่งยืน

‘ความรักจะยาวนาน หรือจะเเสนสั้น ขึ้นอยู่กับวิธีที่เรารักกัน’ หลายคู่ชีวิต รักกันเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ต้องเดินจากกันไป เพราะ ไม่สามารถปรับตัว หรือมีหลักยึดที่เสมอกันได้… GedGoodLife เชื่อว่า ความรักเป็นสิ่งสวยงาม และถ้าได้รักกันแล้ว ก็อยากจะครองรักกันตลอดไป วันนี้เราจึงขอแนะนำ ‘สังคหวัตถุ ๔’ หลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อให้คู่รักได้นำไปปฏิบัติ เพื่อให้เป็นคู่รักคู่สม ครองเรือนครองรักกันตลอดไป…

decolgen ดีคอลเจน

หลักธรรม ‘สังคหวัตถุ ๔’ มีอะไรบ้าง?

สังคหวัตถุ แปลว่า ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน, ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน หมายถึง หลักการครองใจคน, หลักยึดเหนี่ยวใจกันไว้, วิธีทำให้คนรัก, หลักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นเครื่องประสานใจ และเหนี่ยวรั้งใจคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ และทำให้อยู่กันด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกัน เหมือนลิ่มสลักรถที่ตรึงตัวรถไว้มิให้ชิ้นส่วนกระจายไป ทำให้รถแล่นไปได้ตามที่ต้องการ

สังคหวัตถุมี ๔ ประการ คือ

๑. ทาน การให้ การเสียสละ การแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ช่วยปลูกฝังให้เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปันกัน (แบ่งปันไปมา)
๒. ปิยวาจา การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะกับกาลเทศะ พูดดีต่อกัน (พูดจาจับใจ)
๓. อัตถจริยา ช่วยเหลือกัน (ช่วยกิจกันไป)
๔. สมานัตตตา การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ โดยประพฤติตัวให้มีความเสมอต้นเสมอปลาย วางตัวดีต่อกัน (นิสัยเป็นกันเอง)

จะประยุกต์ ‘สังคหวัตถุ ๔’ กับความรัก ให้ยั่งยืนได้อย่างไร?

การเป็นสามีภรรยากัน เป็นเรื่องที่ว่าง่ายก็ไม่ได้ เพราะเพียงแค่เราตั้งคำถามว่า ‘ทำอย่างไรสามีภรรยาจึงจะมีความรักยั่งยืน เป็นคู่สร้างคู่สมตลอดไป?’ ย่อมได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าไม่สามารถทำได้หรอก บ้างก็ว่าเกี่ยวกับดวงชะตาของแต่ละคู่ บ้างก็ต้องพากันไปเสริมดวง วางฤกษ์ให้เหมาะสม เป็นต้น

จากหนังสือมงคลชีวิต ฉบับธรรมทายาท ที่พระอาจารย์สมชาย ฐานวุฑฺโฒ เป็นผู้เรียบเรียงได้กล่าวถึงธรรมะในหัวข้อเรื่อง “วิธีการครองรักให้ยั่งยืน” ไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องมงคลสมรสไว้เพียงสั้น ๆ ว่า สังคหะ แปลว่า การสงเคราะห์กัน และให้ปฏิบัติตามหลัก “สังคหวัตถุ ๔” เพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ดังนี้

๑. ทาน คือ การให้ปันแก่กัน
คนเราถ้ารักกันอยู่ด้วยกัน ต้องปันกันกินปันกันใช้ หามาได้แล้วควรรวมกันไว้เป็นกองกลางแล้วจึงแบ่งกันใช้ หากไม่เอามารวมกัน อาจเกิดการระแวงกันได้ ที่ใดปราศจากการให้ ที่นั่นย่อมแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย การปันกันกินนี้ รวมทั้งการปันทุกข์กันในครอบครัวด้วย เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความทุกข์ มีปัญหา ก็ควรนำมาปรึกษากันได้

๒. ปิยวาจา คือ พูดกันด้วยวาจาไพเราะ
แม้การตักเตือนกันก็ต้องระมัดระวังคำพูด ถ้าถือกันเป็นกันเองเกินไป อาจเกิดทิฏฐิมานะ ทำให้ครอบครัวไม่สงบสุข โดยถือหลักว่า ก่อนแต่งงานเคยพูดไพเราะอย่างไร หลังแต่งงานก็พูดไพเราะอย่างนั้น

๓. อัตถจริยา คือ ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อกัน
เมื่อรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง พยายามศึกษาหาความรู้ทางธรรม เอาใจมาเกาะกับธรรมให้มาก สามีภรรยานั้นเมื่อทะเลาะกันมักโยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้ว ย่อมมีความผิดด้วยกันทั้งคู่ อย่างน้อยก็ผิดที่ไม่หาวิธีเหมาะสมตักเตือนกัน ปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งทำความผิด

๔. สมานัตตตา คือ การวางตนให้เหมาะสมกับที่ตนเป็น
เป็นพ่อบ้านก็ทำตนให้เหมาะกับเป็นพ่อบ้าน เป็นแม่บ้านก็ทำตนให้สมกับเป็นแม่บ้าน ต่างก็วางตนให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ซึ่งข้อนี้จะประพฤติปฏิบัติให้ดี ต้องฝึกสมาธิให้ใจผ่องใสเป็นปกติ เพราะคนที่ใจผ่องใสจะรู้ว่าในภาวะเช่นนั้น ควรจะวางตนอย่างไร ไม่ระเริงโลกจนวางตนไม่เหมาะสม

สังคหวัตถุ

๕ หน้าที่ของสามีภรรยา ที่พึงปฏิบัติร่วมกัน

หน้าที่ของสามีที่พึงปฏิบัติต่อภรรยา

๑. ยกย่องให้เกียรติ คือ ยกย่องว่าเป็นภรรยา ไม่ปิด ๆ บัง ๆ หากภรรยาทำดีก็ชมเชยด้วยใจจริง หากทำผิดก็ตักเตือน

๒. อย่าดูหมิ่น คือ ไม่เหยียดหยามว่าต่ำกว่าตน ไม่ดูถูกเรื่องตระกูล ทรัพย์ความรู้ การแสดงความคิดเห็น

๓. ไม่นอกใจ คือ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ภรรยาทุกคนจะปลื้มใจที่สุด ถ้าสามีรักและซื่อตรงต่อตนเพียงคนเดียว

๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ คือ มอบให้เป็นผู้จัดการภาระทางบ้าน ไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องการครัว การปกครองภายใน นอกจากเรื่องใหญ่ ๆ ซึ่งภรรยาไม่อาจแก้ไขได้

๕. เครื่องแต่งตัว คือ ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงล้วนชอบแต่งตัวสนใจเรื่องสวย ๆ งาม ๆ ถ้าได้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวสวย ๆ งาม ๆ แล้วชื่นใจ สามีต้องตามใจบ้าง

หน้าที่ของภรรยาที่พึงปฏิบัติต่อสามี

๑. จัดการงานดี คือ จัดบ้านให้สบายน่าอยู่ จัดอาหารให้ถูกปาก และทันความต้องการ จัดเสื้อผ้าเครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ

๒. สงเคราะห์ญาติข้างสามี คือ การช่วยเหลือด้วยความเอื้อเฟื้อ กล่าววาจาไพเราะ ให้ความช่วยเหลือตามฐานะที่ทำได้

๓. ไม่นอกใจ คือ จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามีเพียงผู้เดียว

๔. รักษาทรัพย์ให้ดี คือ ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ตระหนี่ รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็น

๕. ขยันทำงาน คือ ขยันขันแข็งทำงานบ้าน ไม่เอาแต่กิน นอน เที่ยว หรือเล่นการพนัน

สุดท้ายนี้ การสงเคราะห์ที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกัน จะเป็นเงื่อนใจ 2 วง วงหนึ่งคล้องไว้ในใจสามี อีกวงหนึ่งคล้องไว้ในใจภรรยา ถ้าทำได้ตามหลักธรรมนี้แล้ว ต่อให้มนุษย์คนใด ก็มาพรากไปจากกันไม่ได้ แม้แต่ความตายก็พรากได้เพียงร่างกายส่วนดวงใจนั้นยังคล้องกันอยู่นิจนิรันดร์

 

อ้างอิง 1. วิกิพีเดีย 2. กัลยาณมิตร

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close