คันคอ ไอแห้ง เกิดจากสาเหตุใด ดูแล-รักษา กินยาอะไรดี?

27 มิ.ย. 24
คันคอ ไอแห้ง

มีคำถามเข้ามาใน บอร์ด Ask Expert เป็นจำนวนมาก เรื่องอาการ คันคอ ไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ เกิดจากสาเหตุอะไร ใช่โควิด-19 หรือไม่? วันนี้ GedGoodLife จะมาไขข้อข้องใจให้ได้รู้กัน ตามมาดู สาเหตุ อาการ วิธีรักษา ของอาการเหล่านี้กันเลย!

– ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง (ไม่มีเสมหะ) แตกต่างกันอย่างไร?
– สรุปอาการ 4 โรคยอดฮิต โควิด-19 VS ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่ VS ภูมิแพ้
– โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ หรือ โรคภูมิแพ้จมูก – สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ทำความรู้จักกับอาการ คันคอ ไอแห้ง

อาการคันคอ (Itchy throat) คือ อาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นภายในลำคอ คล้ายอาการคันผิวหนังทั่วไป แต่ไม่สามารถใช้นิ้วไปเกาในคอได้ อาการคันคอเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ไอเรื้อรัง ตามมา ใครที่มีอาการกระแอม ไอแห้ง ๆ อยู่เป็นประจำ นั่นก็เพราะ มีอาการคันคอร่วมด้วยนั่นเอง หากเป็นมาก จะทำให้ลำบากต่อการพูดคุย กลืนน้ำ กลืนอาหารได้ยาก เสียงเปลี่ยนไป และรู้สึกคอแห้งตลอดเวลา

ไอแห้ง (Dry cough) เกิดจากอาการคันคอ และระคายเคืองภายในลำคอ เหมือนมีอะไรติดอยู่ในคอ โดยไม่มีเสมหะ หรือมูกหนาเกิดขึ้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการแพ้ เช่น ภูมิแพ้อากาศ แพ้อาหาร เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้ คันคอ ไอแห้ง มีอะไรบ้าง?

อาการคันคอเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้

• สาเหตุที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ

1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หรืออีกชื่อที่เรียกกันก็คือ ไข้ละอองฟาง (Hay fever)

เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อจมูก ซึ่งเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย มีปฏิกิริยาไวเกินกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นPM2.5 ฝุ่นบ้าน ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

อาการ : คันจมูก คันตา คันคอ คันหู ไอ จาม และอาจมีอาการอาการปวดศีรษะ เสียงเปลี่ยน จมูกไม่ได้กลิ่น น้ำมูกไหลลงคอ ฯ

2. ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุจมูก และไซนัส ไปกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในโพรงจมูก ทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอได้ ทำให้เกิดเสมหะ คันคอ ระคายคอ และจะเป็นมากขึ้น เมื่อล้มตัวลงนอน หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า

อาการ : ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก อึดอัด คัดจมูก มีไข้ อ่อนเพลีย หรือไอเรื้อรังร่วมด้วย ฯ

อ่านเพิ่มเติม -> ไซนัสอักเสบ หายได้ถ้ารู้เท่าทัน!

3. โรคหอบหืด (Asthma)

เป็นโรคเรื้อรังที่ปัจจุบันยังไม่รักษาให้หายได้ เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งสามารถกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในเยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในหลอดลม และคอ ภูมิแพ้อากาศ คือตัวการสำคัญของ โรคหอบหืด

อาการ : มีอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย คันคอ มีอาการไอ ฯ

• สาเหตุที่เกิดจากระบบทางเดินอาหาร

1. แพ้อาหาร (Food allergies)

เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แพ้ อาจมีการระคายเคืองของเยื่อบุลำคอได้ ทำให้มีเสมหะในลำคอ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ไข่ อาหารทะเล เป็นต้น

อาการ : คันปาก คันคอ คันผิวหนัง ปากบวม เสียงแหบ ไอมาก ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลว ฯ

2. การดื่มน้ำไม่เพียงพอ (Dehydration)

อายุที่มากขึ้น หรือเคยได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอมาก่อน ก็อาจทำให้ผนังลำคอแห้ง และก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณลำคอ

อาการ : ระคายเคืองคอ คันคอ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สามารถช่วยลดอาการไอ ทั้งไอแห้ง และไอมีเสมหะได้ด้วย

3. โรคกรดไหลย้อน (Acid reflux : Gerd)

โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทรมาน ใช้ชีวิตลำบาก เกิดจาก กรดในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ไหลขึ้นมาที่บริเวณลำคอ จากหลอดอาหาร กระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอ ทำให้มีเสมหะในลำคอ เกิดการอักเสบ และการระคายเคืองของเยื่อบุลำคอ

อาการ : แสบร้อนบริเวณหน้าอก ท้องอืด แน่นท้อง คันคอ ไอแห้ง ๆ เสียงแหบ ฯ

อ่านเพิ่มเติม -> 15 คำถามเรื่องกรดไหลย้อน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา มีคำตอบที่ GED : Ask Expert

4. เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ถ้ารู้ตัวว่ามีอาการคันคอด้วยเหตุดังต่อไปนี้ ให้พยายามหลีกเลี่ยงเหตุนั้น อาการไอ คันคอ ระคายคอ ก็จะดีหรือ ขึ้นหายไป

  • การอยู่ในสถานที่ หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอย่าง มลพิษ, ฝุ่นPM2.5, สารเคมีต่าง ๆ
  • การสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การไอ, การอาเจียนบ่อย
  • การที่อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก เช่น ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศหนาวเย็นทั้งวัน

และยังมีการติดเชื้อเรื้อรัง หรือเป็นโรคบริเวณคอ ก็ทำให้เกิดอาการไอ คัน คอ เช่น เชื้อวัณโรค เชื้อซิฟิลิส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส เนื้องอกในลำคอ, พังผืด หรือแผลเป็นในลำคอ เป็นต้น

นอกจากสาเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ACE inhibitors ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ก็อาจทำให้รู้สึกคัน ระคายเคืองในคอ ทำให้ผู้ป่วยต้องกระแอมบ่อย ๆ หรือไอได้

 

 

คันคอ ไอแห้ง เป็นอาการของโรคโควิด-19 หรือไม่?

โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการร่วมได้หลายอย่าง เช่น มีไข้ ปวดหัว ปวดตัว ผื่นขึ้น จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส และรวมถึงอาการ คันคอ ไอ (ทั้งไอแห้ง และ ไอมีเสมหะ) ก็คืออาการแสดงของโรคโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

ฉะนั้น ถ้าสงสัยว่าอาการคันคอ ใช่โควิดหรือไม่ แนะนำให้ตรวจสอบด้วย อุปกรณ์ตรวจโควิด-19 Antigen test kit หรือจะไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาล ก็ได้

พญ.ประภาพร พิสิษฐ์กุล สาขาวิชาโรคภูมิแพ้ รพ.รามาธิบดี เล่าอาการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้าไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ดังนี้

ไวรัสที่ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์เดลต้า โดยในระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเริ่มต้นคล้ายเป็นหวัดทั่วไป เป็นไข้ ปวดเมื่อยตัว น้ำมูก ระคายคอ คันคอ เจ็บคอ อาการเหล่านี้แทบจะแยกไม่ได้จากอาการหวัดทั่วไปเลย

แต่อาการจมูกไม่ได้กลิ่น ดูเหมือนจะเป็นอาการที่ค่อนข้างจำเพาะกับการติดเชื้อโควิด (แต่อาการจมูกไม่ได้กลิ่นนี้ ไม่ได้เกิดในวันแรก ๆ จะมาพร้อม ๆ กับอาการคัดจมูกและมีน้ำมูก)

การรักษาก็คือ การรักษาตามอาการ (ให้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก แก้ไอ เจ็บคอ) และการให้ยาต้านไวรัสในช่วงนี้จะช่วยลดปริมาณไวรัสลงและช่วยให้มีโอกาสการเกิดอาการแทรกซ้อนลดลง โดยระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ การทำงานของภูมิคุ้มกัน”

การดูแลรักษาอาการคันคอ และอาการไอ ได้เองที่บ้าน

อันดับแรกควรทราบก่อนว่าเรามีอาการคันคอจากสาเหตุใด แล้วให้รักษาตามเหตุนั้น ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการคันคอมักจะมาจากภูมิแพ้ หรืออาการแพ้ต่าง ๆ สามารถรักษาได้ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เราแพ้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดที่สุด

อาการคันคอ ไอ ที่มาจากภูมิแพ้ หากรู้ว่าแพ้อะไร ให้เลี่ยงสิ่งที่แพ้นั้น ๆ อาการก็ดีจะขึ้น และไม่กลับมาเป็นอีก เช่น แพ้อาหารทะเล ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเล แพ้ฝุ่น ก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องเผชิญกับฝุ่น โดยเฉพาะ ฝุ่น PM2.5 ส่งผลร้ายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด

2. ทำความสะอาดห้องนอนเพื่อกำจัดฝุ่น หรือไรฝุ่น

ไรฝุ่น เป็นแมลงขนาดเล็ก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาหารของไรฝุ่น คือ สะเก็ดผิวหนัง และรังแคของมนุษย์ แหล่งที่พบตัวไรฝุ่นมากที่สุดคือ ในที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม

3. พยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร

ด้วยการแปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก, น้ำเกลืออุ่น ๆ (โดยผสมเกลือ 1 ช้อนชา กับน้ำอุ่น 1 แก้ว) หรือน้ำเปล่าทุก 1-2 ชั่วโมง หลังอาหารทุกมื้อ การกลั้วคอดังกล่าวจะช่วยให้คอชุ่มชื้น ลดอาการเจ็บ และระคายคอ

4. ล้างจมูก

การล้างจมูกมีประโยชน์กว่าที่คิด สามารถป้องเชื้อโรคจากจมูก และไซนัสไปสู่ปอด ช่วยลดภาวะเสมหะไหลลงคอ และช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ในทางเดินหายใจ ฯ น้ำที่ใช้แนะนำให้ใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดความเหนียวของน้ำมูก และทำให้เชื้อโรคไม่เจริญเติบโต

5. เลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง

ถ้าหากมีอาการคันคอ ไอ จากกรดไหลย้อน ควรเลี่ยงอาหารทอดต่าง ๆ เนื้อสัตว์ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ทานเผ็ด ไม่ควรทานจนอิ่มเกินไป เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ทานช้า ๆ ไม่ควรทานอาหารแล้วนอนภายใน 2 ชั่วโมง ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่าง ๆ

6.  ดื่มน้ำอุ่น เพื่อลดอาการไอ กระแอม ระคายเคืองของคอ

เมื่อผู้ป่วยต้องการจะกระแอม ให้หยุด อย่ากระแอม ให้ดื่มน้ำแทน และน้ำยังเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด ช่วยลดอาการระคายเคืองคอได้ดี

7. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องออกไปข้างนอก

การล้างมือบ่อย ๆ จะด้วยทั้งสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ นอกจากจะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ยังช่วยป้องกันอาการคันคอที่มาจากไข้หวัด หรือการติดเชื้อต่าง ๆ อีกด้วย

8. คันคอ ไอแห้ง สามารถรับประทานยาแก้แพ้ได้

อาการ คันคอ ไอแห้ง คันจมูก จาม แต่ไม่มีไข้ ให้สงสัยว่าเป็นอาการจากภูมิแพ้ สามารถกินยาแก้แพ้ อย่าง ยาลอราทาดีน (Loratadine) ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคภูมิแพ้ ภูมิแพ้อากาศ และยังไม่ทำให้ง่วง (หรือง่วงน้อย) จึงไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรใช้ยาในปริมาณ และระยะเวลาตามฉลากกำกับ หรือแพทย์สั่ง

9. ถ้าอาการไอมีเสมหะร่วมด้วย หรือพบว่าเป็นไซนัสอักเสบให้ใช้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ

ยาแก้ไอละลายเสมหะ “คาร์โบซิสเทอีน (Carbocisteine)” บรรเทาอาการไอจากการมีเสมหะมาก เป็นยาที่ออกฤทธิ์เข้าไปย่อยโปรตีน มีผลทำลายการรวมตัวกันของโปรตีนที่จับตัวเป็นก้อนเสมหะเหนียวข้น รวมถึงลดแรงตึงผิวของเสมหะ ทำให้เสมหะใสขึ้น เหนียวข้นน้อยลง จนกลไกของร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น

10. ควรพบแพทย์หากคันคอนานต่อเนื่อง

ระคายคอมาก ไอมาก หรือมีเลือดปน ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง เช่นถ้ามีการติดเชื้อก็ต้องได้ยาฆ่าเชื้อ ถ้าเป็นโรคกลุ่มภูมิแพ้ แพทย์อาจจะจ่ายยาแก้แพ้ที่มีความแรงกว่ายาแก้แพ้ที่ขายตามร้านยาทั่วไป

 

อ้างอิง : 1. medicalnewstoday 2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 3. สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย 4. aimshealthcare 5. Prapaporn Pisitkun

บทความที่เกี่ยวข้อง

askexpert

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้ที่จำเป็น

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save