“ตอบประเด็นร้อน COVID-19” โดย ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ

นี่เราติดCOVID-19 ยังนะ? เดินสวนกับผู้ป่วยโควิด-19 ติดโรคได้หรือไม่? ล้างมือบ่อย ๆ ต้องบ่อยแค่ไหน? และอีกมากมายหลายคำถามที่เชื่อว่าหลายคนกำลังสงสัยกังวลอยู่ วันนี้ GedGoodLife จึงขอนำคำตอบต่าง ๆ เกี่ยวกับ COVID-19 ของ ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้คลายข้อสงสัยกัน จะมีคำถามอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย

ดีคอลเจน

เปิดประวัติ คุณหมอยง ภู่วรวรรณ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ เกิดวันที่ 5 พ.ย. 2493 เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่านเป็นผู้ที่ออกมาให้ข้อมูล ให้ความรู้ ถึงเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นโควิด-19 โดยผ่านเพจเฟซบุคส่วนตัว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยคำตอบที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง คงจะหนีไม่พ้นวลีเด็ด ที่คุณหมอตอบเชิงติดตลกไว้ว่า “ถ้ามีเพศสัมพันธ์ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร ไม่ติดแน่นอน”

Facebook คุณหมอยง : https://www.facebook.com/yong.poovorawan

COVID-19


ตอบคำถามประเด็นร้อน COVID-19 โดย ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ

1. เดินสวนกับผู้ป่วยโควิด-19 ติดโรคได้หรือไม่?

คำตอบ : การเดินสวนกันไปมา ไม่สามารถทำให้ติดโควิด-19 ได้ ยกเว้นแต่ว่า ขณะที่เราเดินสวนกันอยู่ในระยะที่ใกล้ แล้วพูดเสียงดัง ไอ จาม แล้วฝอยละอองเหล่านั้นกระเด็นถูกตัวเรา ถูกหน้าเรา จะมีโอกาสติดได้ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง

2. ผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่?

คำตอบ : การติดต่อของเชื้อโควิด-19 เริ่มติดต่อได้ตั้งแต่ปลายระยะฟักตัว แล้วระยะฟักตัวติดต่อได้มั้ย? ก็ต้องบอกว่าติดต่อได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถติดต่อได้ 1 – 2 วัน ก่อนที่จะมีอาการ การไปสัมผัสโรคระยะฟักตัวในระยะแรก เชื้อจะยังไม่เยอะพอ

3.ผู้ใดที่เข้าเกณฑ์ต้องตรวจโควิด-19?

คำตอบ : ณ วันนี้ ผู้ที่ต้องอยู่ในเกณฑ์คือ กลุ่มเสี่ยง เช่น มาจากประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 หรืออยู่ในประเทศไทย อยู่ในที่ระบาดหรือสัมผัสโรค แล้วมีอาการ เช่น อาการไข้ อาการทางเดินหายใจ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19

4. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?

คำตอบ : ในกรณีสัมผัสโรค หรือสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเก็บตัวเอง หรือแยกตัวเองออกจากสังคม แม้กระทั่งในบ้านอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดโอกาสที่เราจะแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น แล้วก็อยู่ในระหว่างสังเกตอาการ เราจะต้องปฎิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร ของใช้ส่วนตัว อาหารการกินก็ต้องแยก ถ้าบ้านไหนใหญ่หน่อย ก็ควรแยกห้องน้ำ แต่ถ้าแยกไม่ได้ ก็ควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ

5. ล้างมือบ่อย ๆ ต้องบ่อยแค่ไหน?

คำตอบ : เราควรล้างมือทันทีที่คิดว่ามือเราสกปรก หรือไปจับต้องอะไรมา ไปถึงที่ทำงานก็ควรล้างมือ ก่อนจับต้องใบหน้าเรา ก่อนรับประทานอาหาร กลับจากที่ทำงานไปถึงบ้าน ก็ต้องล้างมือ ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ เพราะ การล้างมือบ่อย ๆ จะเป็นการช่วยป้องกัน ส่วนในกรณีที่ล้างมือไม่ได้ ไม่สะดวกในการล้างมือ ให้ใช้แอลกอฮอล์เจล (70-75%) ทำความสะอาดให้หมด

การล้างมือที่ถูกต้อง ให้ใช้สบู่ หรือ สบู่เหลว เพราะว่าไวรัสตัวนี้มีเปลือกนอกของมันเป็นไขมัน โอกาสที่จะล้างมันด้วยน้ำชำระออกไป การล้างมือจึงต้องนานพอสมควร เวลาอย่างน้อย 20 วินาที

COVID-19

6. ชุดตรวจโควิด-19 ที่ขายออนไลน์อยู่ในขณะนี้เป็นอย่างไร?

คำตอบ : ไม่แนะนำ เราถือว่าชุดตรวจเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ที่จะบอกว่าคนเป็นโรคหรือไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะใช้ชุดตรวจควรจะเป็นแพทย์ ฉะนั้นผู้ที่จะใช้ชุดตรวจควรจะเป็นแพทย์ การที่มีการขายทางออนไลน์ แล้วให้คนทั่วไปซื้อไปใช้ คงจะไม่ง่ายแบบการตรวจว่า ท้องหรือ ไม่ท้อง

ที่จริงแล้วชุดตรวจก็ไม่ต่างกับชุดตรวจที่เราเห็นอยู่ทั่ว ๆ ไป ทางการแพทย์ก็มีการใช้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะตรวจภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อโรค เราจะมีภูมิตอบสนองต่อมัน ฉะนั้น ชุดตรวจเหล่านี้จะมีการใช้เลือด 1 – 2 หยด เพื่อตรวจหาภูมิต้านทาน ส่วนชุดตรวจที่ป้ายจากจมูกแล้วนำมาตรวจ จะเป็นการตรวจหาตัวไวรัส และผู้ที่จะใช้ควรเป็นบุคลากรทางแพทย์ใช้ มากกว่าชาวบ้านซื้อมาใช้กันเอง

7. กรุ๊ปเลือด มีผลต่อการติดเชื้อ หรือเป็นพาหะของโควิด-19 หรือไม่?

คำตอบ : ยังมีหลักฐานยืนยันไม่เพียงพอ คนที่แข็งแรงดีถ้าพร้อมที่จะไปบริจาคเลือด ต้องตอบคำถามก่อนไปบริจาคเลือดตามความเป็นจริง เพราะโดยทั่วไปแล้วกลุ่มเสี่ยงที่ไปสัมผัสโรคมา หรือกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังของโรคโควิด-19 เราจะให้เว้นการบริจาคเลือดไป 28 วัน

8. คนที่แข็งแรงอาจป่วยเพราะโควิด-19 หนักกว่าคนที่ไม่ค่อยแข็งแรง เพราะเชื้อทำให้แพ้ภูมิตัวเอง?

คำตอบ : โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ทุกคนจึงยังไม่รู้จักกับโรคนี้ จึงยังไม่มีภูมิ ทุกคนจึงมีโอกาสติดเชื้อเท่ากัน ส่วนอาการจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยส่วนบุคคล โดยปัจจัยแรกที่เห็นชัดคือ ยิ่งอายุมาก โอกาสที่จะรุนแรงก็มากกว่าเด็ก ปัจจัยที่สอง คือ คนที่มีโรคประจำตัวอยู่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด พวกนี้ถ้าเป็นแล้วจะรุนแรงขึ้น

ส่วนผู้ที่ปกติดี ก็สามารถมีอาการรุนแรงได้ แต่จะพบได้น้อยกว่าผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เราจะมีภูมิเกิดขึ้น เมื่อเราติดโรค เราก็จะหาย แต่ถ้าเป็นซ้ำเราก็จะมีอาการน้อยลง แต่ถ้าจะบอกว่าภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นมาเองนั้นไม่ได้ ภูมิคุ้มกันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเรามีวัคซีน วัคซีนก็เหมือนเป็นการสร้างจำลองเชื้อโรคขึ้นมา แล้วให้เราเข้าไป แต่เราไม่เกิดโรค แต่เปรียบเสมือนการเกิดโรคแบบไม่มีอาการ แล้วก็มีการสร้างภูมิต้านทานเกิดขึ้น

COVID-19

อ่านบทความ —> “ธรรมะสอนใจ” กับ “Social Distancing” สู้วิกฤตไวรัสร้าย COVID-19

9. ตระหนักอย่างมีสติ

เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นมา เชื่อว่าทุกคนกลัว แต่เราจะต้องตั้งสติ หาวิธีการในการป้องกัน สิ่งสำคัญอย่าได้ตระหนก ให้ตระหนักเอาไว้ ทำตัวให้แข็งแรง รู้เรื่องของโควิดให้ดีที่สุด แล้วขอให้เชื่อทางการโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข หรือ แพทย์ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง แล้วในที่สุดก็จะควบคุมโรคนี้ได้

10. ปัจจุบันมียารักษา โควิด-19 หรือยัง?

คำตอบ – ขณะนี้เริ่มมีข้อมูลออกมาแล้วว่าจะมียาที่ใช้ต้านไวรัส หรือลดการติดเชื้อของไวรัสได้ แต่การพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลามากกว่าการที่จะหายามารักษา

11. Covid-19 หายแล้วจะเป็นอีกได้ไหม?

คำตอบ : โดยหลักการไวรัสวิทยาแล้ว การเป็นแล้วควรจะมีภูมิต้านทานที่ใช้ในการป้องกัน ไม่ให้โรคนี้กลับมาเป็นใหม่ได้ ต้องมีการศึกษาในระยะต่อไปว่า ไวรัสโควิด-19 นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมหรือไม่ (คุณหมอขอยกตัวอย่างไข้หวัดใหญ่ โดยไข้หวัดใหญ่สามารถเป็นแล้วเป็นอีกได้ เนื่องจากสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี)

12. ไวรัสโควิด-19 ติดจากคนสู่สัตว์ และจากสัตว์สู่คนได้?

คำตอบ : ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์เลี้ยงติดโรคโควิด-19 หรือเป็นพาหะโรค หรือเป็นตัวแพร่กระจายโรค ถึงแม้จะมีรายงานพบเชื้อในสุนัขที่ฮ่องกง แต่ก็เป็นการพบแค่ตัวเดียว ซึ่งการพบนั้นปริมาณไวรัสค่อนข้างต่ำ และต้องหาหลักฐานต่อไปว่า สุนัขตัวนั้นติดเชื้อ หรือเป็นการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสเข้าสู่สุนัข

13. โควิด-19 ทนอากาศเมืองไทยไม่ได้?

คำตอบ : โดยทั่วไปแล้วไวรัสจะทนความร้อนไม่ดี หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไวรัสจะตายง่ายในสภาวะอากาศร้อน มากกว่าอากาศที่ชื้น หรือเย็น ก็เป็นที่โชคดีของเราอันนึง เพราะว่าโรคติดต่อทางเดินหายใจในไทยจะพบน้อยในฤดูร้อน และจะไปพบมากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

14. ติดต่อทางควันบุหรี่ได้ไหม?

คำตอบ : ยังไม่พบหลักฐานว่าติดต่อทางควันบุหรี่ได้

15. ติดต่อทางเหงื่อได้ไหม?

คำตอบ : ไวรัสอยู่ในระบบทางเดินหายใจ ไม่ติดต่อทางผิวหนัง หรือทางเหงื่อ

16. ยุงเป็นพาหะหรือไม่?

คำตอบ : ยังไม่พบหลักฐานว่ายุงแพร่เชื้อได้

17. ติดต่อทางกระแสเลือดได้หรือไม่?

ตอบ : ไวรัสมีตรวจพบในเลือดได้ แต่ยังไม่มีรายงานการติดโดยการให้เลือด อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสโรคควรงดบริจาค เลือดอย่างน้อย 28 วัน หลังสัมผัสโรค

18. ติดเชื้อบนเส้นผมได้ไหม?

คำตอบ : จากกรณีสนามมวย อาจมีละอองฝอย น้ำลาย จากที่นั่งชั้นบนลงมาใส่ชั้นล่าง ซึ่งมีโอกาสติดต่อได้ถ้าไปสัมผัส แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้ออยู่ได้นานเท่าไร แนะนำให้อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีที่ถึงบ้าน

19. ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม?

คำตอบ : มีโอกาสติดได้ เพราะมีการอยู่ใกล้ชิดกัน แต่ยังไม่มีหลักฐานการติดทางเพศสัมพันธ์

20. เชื้อโรคล่องลอยในอากาศระบาดได้ไหม?

คำตอบ : มีโอกาสเป็นไปได้ในพื้นที่อับ ในสภาพการทําให้เกิดฝอยละออง แต่ในสภาพปกติเชื้อไปได้ไม่ไกล

21. น้ำยาล้างจาน ฆ่าเชื้อโรคในจานชามได้ไหม?

คำตอบ : ได้ น้ำยาล้างจานสามารถล้าง และทําลายเชื้อโรคได้

22. อาหารเสริมอะไรช่วยป้องกันโรคได้ไหม?

คำตอบ : ยังไม่มีหลักฐานว่าอาหารเสริมใด ๆ จะช่วยป้องกันไวรัสได้

23. เชื้อในประเทศไทยสายพันธุ์จากประเทศอิตาลีรุนแรงกว่าจากประเทศจีน จริงหรือไม่?

คำตอบ :ยังตอบไม่ได้ ซึ่งกําลังเร่งวิจัยเพิ่มเติม

24. หน้ากากคลุมหน้า face shield ป้องกัน โคโรนาไวรัส หรือโรค โควิด-19 ได้หรือไม่?

คำตอบ : ในคนปกติ ที่มีข่าวออกมาให้ใส่หน้ากากคลุมหน้า face shield แทนการใส่หน้ากากอนามัย ถือว่าไม่สมควร เพราะยังมีช่องให้เชื้อโรคเข้าสู่จมูก ปาก และ หน้าตาได้

สำหรับหน้ากากคลุมหน้า face shield เราจะให้บุคลากรทางการแพทย์ และจะต้องใส่ทั้งหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะ N95 แว่นตา goggle เพื่อป้องกันการติดโรคให้สมบูรณ์ แต่ถ้าใครจะใส่หน้ากากอนามัย และคลุมด้วยหน้ากากคลุมหน้า face shield ในคนปกติก็ไม่ว่ากัน

25. ข้อเท็จจริง พลาสมา หรือน้ำเหลือง มาใช้รักษาโควิด-19

คำตอบ :

– การใช้พลาสมารักษาโรค ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในผู้ที่หายจากโรคติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานมาต่อต้านเชื้อโรคนั้น

– ทางการแพทย์ใช้ภูมิต้านทาน (พลาสมา) มาให้ผู้ป่วยใช้ช่วยในการรักษา เช่น เอามาทำเป็น เซรุ่ม

  • เซรุ่ม ที่ใช้อยู่จะถูกสกัดมาอีกทีหนึ่งให้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสตับอักเสบบี
  • พลาสมาในผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ก็จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัส
    จึงสามารถนำภูมิต้านทานนี้ มาช่วยเสริมในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ได้

– การรักษาวิธีการนี้เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วโลก และได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจนถึงแนวทางการปฏิบัติ ทำให้มีความปลอดภัย

ลงทะเบียนออนไลน์บริจาคพลาสมาได้ที่—> https://bit.ly/3aKwQ18

26. กลุ่มอาชีพไหนที่ติดโควิด-19 ได้ง่าย?

โคโรน่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 จะพบมีปริมาณมากในทางเดินหายใจของผู้ป่วย ที่มีอาการ  และจำนวนหนึ่งจะไม่มีอาการ จึงทำให้ในบางรายจึงหาผู้สัมผัสโรคไม่ได้ กลุ่มอาชีพบางกลุ่มจึงต้องมีการป้องกัน หรือระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องสัมผัสกับบุคคลจำนวนมาก

  1. กลุ่มแรกคงหนีไม่พ้นบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด เพราะจะใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง หรือโดยอ้อม ที่มีบางคนติดโรคและไม่มีอาการ แต่อาจจะแพร่เชื้อได้
  2. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดดูแลบริการบุคคล ผู้ป่วยหรือสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่บริการ เช่น หมอนวด ช่างตัดแต่งผม
  3. อาชีพที่ทำงานในสถานที่ปิด เช่นสถานบันเทิง สนามมวย สนามกีฬาที่เป็นที่ปิด
  4. อาชีพที่ต้องใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก ได้แก่ ประชาสัมพันธ์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน คนขับรถโดยสาร คนเก็บสตางค์ คนขับแท็กซี่ พนักงานที่ต้องติดต่อกับคนจำนวนมาก แม้กระทั่งตำรวจ สถานที่ตั้งด่าน
  5. แม่บ้านทำความสะอาด เช็ดถู สถานที่ต่างๆ คนเก็บขยะ
  6. ผู้ที่สัมผัสกับชาวต่างชาติ หรือต้องทำงานสัมผัสกับชาวต่างชาติ ที่เพิ่งจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

27. สายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก มีสายพันธุ์อะไรบ้าง?

ได้มีการศึกษาพันธุกรรมของ โคโรน่าไวรัส โควิด19 กันมากทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป และอเมริกา ในปัจจุบันมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว มากกว่า 5000 สายพันธุ์ และแบ่งสายพันธุ์ของไวรัส แล้วแต่ใครจะกำหนด เช่นเป็น A B C A เป็นสายพันธุ์เริ่มแรก โดยเปรียบเสมือน B วิวัฒนาการ มาจาก A และ C วิวัฒนาการมาจาก B หรืออาจกล่าวว่า C เป็นลูกของ B
แต่ไม่ได้บอกว่าใครรุนแรงกว่าใคร บอกว่าความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก บอกเส้นทางเดินของไวรัสว่ามาจากที่ใด

ในการวิเคราะห์แบบมีหลักเกณฑ์ ของ GISAID โดยดูตำแหน่งความหลากหลายทางพันธุกรรม polymorphism สายพันธุ์ของโควิด-19 ในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นเป็นสายพันธุ์ S (serine) แล้วมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเป็น L (Leucine) โดยสายพันธุ์ L แพร่ขยาย ได้รวดเร็วกว่า และแพร่กระจายเข้าสู่ ยุโรป และอเมริกา

ต่อมาจึงแยกสายพันธุ์ L ออกเป็นอีก 2 สายพันธุ์ G (glycine) และสายพันธุ์ V (Valine)
ดังนั้นสายพันธุ์ของโควิด-19 ในปัจจุบันจึงแบ่งเป็น 3 สายพันธุ์ คือ S, G และ V
และยังมีสายพันธุ์อื่น ๆ อีกที่ยังไม่ได้กำหนด

เราศึกษาในประเทศไทย พบว่าลักษณะของสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย มีลักษณะที่จำเพาะ เราอยากจะตั้งชื่อว่า สายพันธุ์ T ไม่ใช่มาจาก Thailand แต่ T มาจากการเปลี่ยนพันธุกรรม ไปเป็น Threonine ในส่วนของ spike gene ที่ยื่นออกมา ถ้าเรามีการศึกษาเยอะ และมากพอ

สายพันธุ์ G เข้าสู่อเมริกาทางด้านตะวันออก สายพันธุ์ S เข้าสู่อเมริกาทางด้านตะวันตก
ในอเมริกาเองจึงมีทั้ง G และ S สายพันธุ์ V และ G ระบาดในยุโรป

สำหรับ Australia ช่วงแรก จะเป็นสายพันธุ์ S ที่มาจากจีน และเอเชียตะวันออก และต่อมา V และ G เข้ามาทีหลัง ผ่านการเดินทางเข้ามาจากยุโรป

เมืองไทยที่พบมากยังเป็นสายพันธุ์ S ที่มาจากประเทศจีนในระยะแรก และระยะหลัง สายพันธุ์ทางตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป ที่จะเป็นสายพันธุ์ V และ G เข้ามาสู่บ้านเรา

โดยรวมแล้วสายพันธุ์ผสมกันไปมา เพราะการเดินทาง จากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง

 

อ้างอิง :

1. ประวัติ ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ – https://th.wikipedia.org/wiki/ยง_ภู่วรวรรณ
2. คำถามที่ 1 – 6 – https://www.youtube.com/watch?v=M6bgnOppsIY
3. คำถามที่ 7 – 9 – https://bit.ly/3a4iWG1
4. คำถามที่ 10 – 13 – https://www.youtube.com/watch?v=DXOWYpIOvlA&t=307s
5. คำถามที่ 14 – 23 – จากภาพอินโฟกราฟิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
6. คำถาม 24 – 27 –  รวมคำถามจากเพจคุณหมอ https://www.facebook.com/yong.poovorawan


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close