สายเที่ยวป่าปีนเขาช่วงหน้าหนาว ต้องระวัง! “โรคไข้รากสาดใหญ่” ทำป่วยมีไข้สูง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือน! นักท่องเที่ยวที่ชอบกางกางเต็นท์นอนในพื้นที่ป่าภูเขาให้ระมัดระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงติดเชื้อ และป่วยเป็น “โรคไข้รากสาดใหญ่” ได้ หากอาการรุนแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว! ไข้รากสาดใหญ่ จะมีอาการ และวิธีรักษาป้องกันอย่างไร… มาติดตามกันได้เลย

ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (Decolgen tablets) บรรเทาหวัด น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้

โรคไข้รากสาดใหญ่ อันตรายจากตัวไรอ่อนกัด!

ไข้รากสาดใหญ่ หรือ สครับไทฟัส เป็นโรคที่พบได้ทุกฤดูกาล แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเชีย (Rickettsia) ตามธรรมชาติ โดยมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะนำโรค (มีขนาดเล็กมาก ประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น) มักพบอยู่ตามพุ่มไม้ ป่าละเมาะ พงหญ้าใกล้กับพื้นดินที่มีความชื้นแต่ไม่เปียกแฉะ

ตัวไรอ่อนจะกัดคน เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร เมื่อคนถูกกัดจะได้รับเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้รากสาดใหญ่ หากมีการเกาบริเวณที่ถูกกัดจะทำให้ผิวหนังเปิด เป็นเหตุให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น

ระยะฟักตัวของโรค : 6-20 วัน โดยเฉลี่ย 10 วัน

สถานการณ์โรคไข้รากสาดใหญ่ในประเทศไทย

  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 พฤศจิกายน 2566 พบผู้ป่วย 6,903 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย
  • กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี รองลงมาคือ 55-64 ปี และ 65 ปีขึ้นไป ตามลำดับ
  • อาชีพส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ร้อยละ 41.7 รับจ้าง ร้อยละ 21.9 ไม่ทราบอาชีพ/ในปกครอง ร้อยละ 15.4
  • ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ

บริเวณใดในร่างกายที่มักถูกตัวไรอ่อนกัด?

ไรอ่อนมักจะเข้าไปกัดบริเวณร่มผ้า เช่น

  • อวัยวะสืบพันธุ์
  • ขาหนีบ
  • เอว
  • ลำตัวบริเวณใต้ราวนม
  • รักแร้
  • คอ

โรคไข้รากสาดใหญ่

โรคไข้รากสาดใหญ่ มีอาการอย่างไร?

หลังถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะที่ขมับ และหน้าผาก
  • มีไข้หนาวสั่น ไข้สูงตลอดเวลา 40-40.5 องศาเซลเซียส และอาจอยู่นาน 2-3 สัปดาห์
  • หน้าแดง ตาแดง กลัวแสง
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก
  • ไอแห้ง ๆ
  • ผื่นแดงตามตัว
  • ถ้าอาการรุนแรงอาจมีอาการซึม สับสน ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง

ตรงบริเวณที่โดนไรอ่อนกัด แรก ๆ จะเป็นตุ่มแดง อยู่ 2-3 วัน แล้วแตกเป็นแผล พอแผลแห้งก็เป็นสะเก็ดดำ ๆ คล้ายรอยถูกบุหรี่จี้ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองแถวที่ถูกกัดจะบวมเจ็บ และจากนั้นก็จะมีไข้ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 อาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้รากสาดใหญ่

ถ้าผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้ คือ

  • ตับอักเสบ
  • เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ
  • ไตวายฉับพลัน
  • ปอดอักเสบ
  • ภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ

วิธีรักษาโรคไข้รากสาดใหญ่

โรคไข้รากสาดใหญ่ต้อง รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งเท่านั้น ไม่สามารถรักษาด้วยยาจำพวกแก้ไข้ แก้ปวดได้ ดังนั้น หลังกลับออกจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ แล้วป่วยมีไข้ขึ้นสูง มีอาการปวดศีรษะ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว

เที่ยวป่าเดินเขาอย่างไรให้ปลอดภัยจาก “ตัวไร” ?

  • นักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวป่า ควรกางเต็นท์ในบริเวณค่ายพักที่โล่งเตียน
  • หลีกเลี่ยงการนั่ง และนอนบนพื้นหญ้า
  • ใช้สารไล่แมลงที่มีส่วนประกอบของสาร DEEF 20-30% (หรือสารที่ได้รับการรับรองว่าใช้สำหรับต่อต้านตัวไรอ่อน) หมั่นทาทุก 4-6 ชั่วโมง ทั้งแบบที่ใช้กับผิวหนัง และเสื้อผ้า
  • แต่งกายให้มิดชิด ให้เด็กสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังอย่างมิดชิดทั้งแขน และขา หรือคลุมรถเข็นเด็ก เตียงนอนด้วยมุ้ง
  • หลังอาบน้ำ หรือเปลี่ยนเสื้อผ้า ควรสำรวจร่างกายตัวเองว่ามีผื่น แผล หรือแมลงเกาะตามตัวหรือไม่
  • ควรสังเกตอาการของตนเอง หากกลับจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ พบว่ามีอาการตามที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

อ้างอิง : 1. กระทรวงสาธารณสุข 2. รพ. สินแพทย์ 3. thairath 4. รพ. บางปะกอก 5. สสส.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close