น้ำมูกไหลต้องรู้! ยาลดน้ำมูก มีกี่ประเภท แบบไหนกินแล้วไม่ง่วง?

ยาลดน้ำมูก

อาการน้ำมูกไหล มักเกิดจากโรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ เป็นต้น โดยเฉพาะในหน้าฝน หรือช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้น้ำมูกไหลได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็ก และผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ส่วนยาที่ใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหล ก็คือ “ยาลดน้ำมูก” ที่มีให้เลือกแตกต่างกันออกไป มีทั้งกินแล้วง่วง และ กินแล้วไม่ง่วง แบบหยด แบบพ่น เป็นต้น แล้วแบบไหนจะเหมาะกับเรา? มาดูวิธีเลือกกันเลย

โรคภูมิแพ้ดูแลด้วย "อัลเลอร์นิค" ยาแก้แพ้ชนิดเม็ด กลุ่มไม่ทำให้ง่วง

ยาลดน้ำมูก คืออะไร และมีกี่ประเภท?

ยาลดน้ำมูก เป็นยากลุ่มยาแก้แพ้ที่ใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหล เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดการบวมขยายของเส้นเลือดในจมูก ลดการอักเสบ และลดการสร้างน้ำมูก ยาลดน้ำมูกมีทั้งชนิดซื้อใช้ได้เอง หรือต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ และมีรูปแบบของยาหลายประเภท ได้แก่ ยาพ่นจมูก ยารับประทานชนิดเม็ด ยาน้ำ ยาผงสำหรับละลายน้ำ ยาหยอดจมูก เป็นต้น

ยาที่ใช้ในการรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มี 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1. ยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) – มีฤทธิ์ทำให้น้ำมูกแห้ง แก้คันจมูก คันตา ลมพิษ และอาการทางผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ ปัจจุบันคนไทยเป็นภูมิแพ้มากขึ้น ยาแก้แพ้ จึงมีอัตราการใช้สูงมากในประเทศไทย โดยยาแก้แพ้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ยาแก้แพ้ชนิดดั้งเดิมรุ่นที่1 คือ กินแล้วจะทำให้ง่วงนอน กับ ยาแก้แพ้รุ่นที่2 คือ กินแล้วไม่ทำให้ง่วงนอน (หรือง่วงน้อย)

2. ยาแก้คัดจมูก (topical decongestant) – คือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในเยื่อจมูก/เยื่อเมือกบุโพรงจมูกหดตัว จึงช่วยลดอาการบวมของเยื่อจมูกที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการคัดแน่นจมูก เป็นยาที่ทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก มีทั้งแบบกิน หยด หรือพ่นจมูก (ยาชนิดหยดหรือพ่นจมูก มีข้อดีตรงที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่พ่นหรือหยด ไม่เข้าไปสู่ร่างกายส่วนอื่นแบบยากิน)

ถ้าไม่แน่ใจว่าควรใช้ยาอะไรดี แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกร แจ้งถึงอาการที่เป็นให้ละเอียด เพื่อให้เภสัชกรเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรใช้ยาอะไรดีระหว่างยาแก้แพ้กับยาแก้คัดจมูก

น้ำมูกไหล แต่ทำไมเภสัชกรจ่าย “ยาแก้แพ้” ให้เรา?

เคยไหม เดินเข้าไปร้านขายยาเพื่อซื้อยาลดน้ำมูก แต่เภสัชกรกลับจ่ายยาแก้แพ้มาให้แทน? สาเหตุก็เพราะว่า ยาแก้แพ้มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล เภสัชกรจึงเลือกจ่ายยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหล และยาแก้แพ้ยังสามารถยับยั้งอาการแพ้อื่น ๆ ที่มักมาพร้อมกับอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก

อย่างไรก็ตาม อาการน้ำมูกไหลก็ต้องพิจารณากับอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยก็ควรบอกอาการที่เป็นอยู่ให้กับเภสัชกรโดยละเอียด เพื่อจะได้รับยาให้ถูกต้องกับอาการของเรา

สีน้ำมูกแบบไหน ควรใช้ยาลดน้ำมูก และสีแบบไหนควรพบแพทย์?

ยาลดน้ำมูก ควรใช้กรณีที่มี “น้ำมูกใส” เท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่มีน้ำมูกสีเทา สีดำ และสีแดง ควรพบแพทย์ เพราะสีน้ำมูกที่ไม่ใช่สีใส กำลังบ่งบอกว่าเรามีปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ภูมิแพ้ หรือไข้หวัดธรรมดา อาจเป็น โรคริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ และโรคอื่น ๆ เป็นต้น

ส่วนใครที่มีน้ำมูกใส ๆ ไหลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาจลองใช้แค่น้ำเกลือล้างจมูกช่วยไล่น้ำมูกออกไปก็ช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้าล้างแล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้น หรือน้ำมูกยังไหลต่อเนื่อง สามารถใช้ยาแก้แพ้เพื่อลดน้ำมูกได้

อ่านเพิ่มเติม -> รู้หรือไม่? สีน้ำมูก สามารถบอกโรคได้นะ

ใช้ยาให้ถูกกับสาเหตุของน้ำมูกไหล ถึงจะได้ผลดี!

สาเหตุที่ 1 เกิดจากไข้หวัดมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส  ทำให้มีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อไวรัส รวมทั้งมีการทำงานของต่อมภายในโพรงจมูกให้มีการหลั่งน้ำมูก ผู้ป่วยจึงมีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมาจากจมูกตลอดทั้งวัน

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรใช้ยาลดน้ำมูกกลุ่มดั้งเดิม (ทำให้ง่วงซึม) คือ ยาคลอร์เฟนิรามีนมาลีเอต (chlorpheniramine – CPM) เป็นต้น

สาเหตุที่ 2 เกิดจากการแพ้เช่น แพ้ฝุ่นละออง แพ้อากาศ แพ้เกสรดอกไม้ เป็นต้น ร่างกายจึงตอบสนองต่อสารที่แพ้ด้วยการหลั่งสารฮีสตามีน (histamine) ทำให้เกิดอาการคันจมูก รวมทั้งน้ำมูกไหล ไอ จาม เป็นต้น อาการแพ้มักเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรใช้ยาลดน้ำมูกกลุ่มใหม่ (ไม่ทำให้ง่วงนอน) คือ ยาแก้แพ้ลอราทาดีน (Loratadine) เป็นต้น

ฉะนั้น การเลือกใช้ยาลดน้ำมูก ต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล ประกอบกับประสิทธิภาพของยา และความปลอดภัย ถ้าไม่แน่ใจว่าควรใช้แบบไหน ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา

ยาลดน้ำมูก ต้องใช้ตัวไหนถึงไม่ง่วง?

ยาลดน้ำมูกที่ไม่ทำให้ง่วงนอน คือ ยาแก้แพ้กลุ่มที่ 2 (non-sedating antihistamines) ยากลุ่มนี้จะปลอดภัยกว่ายาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม เพราะออกฤทธิ์เข้าสู่สมองน้อยกว่า มีผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก ง่วงนอนน้อยกว่า กินเพียงวันละ 1 เม็ด สามารถลดน้ำมูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยชื่อยาในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ ลอราทาดีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากกินยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงนอน แต่กลับรู้สึกง่วงนอนเล็กน้อยก็สามารถเป็นไปได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อรับประทานแล้วก็ต้องสังเกตตัวเอง หากพบว่ามีอาการง่วงนอน ก็ต้องหลีกเลี่ยงการขับรถ การใช้งานเครื่องจักร หรือการทำงานที่ต้องใช้สติสัมปชัญญะควบคุม เป็นต้น

ถ้าเป็นทั้งหวัด มีน้ำมูกไหล และมีไข้ร่วมด้วย ควรใช้ยาอะไรดี?

ผู้ป่วยที่เป็นทั้งหวัด และมีไข้พร้อมกัน สามารถเลือกใช้ “ยาแก้หวัดสูตรผสม” (หรือจะเรียก “ยาลดไข้ผสมยาลดน้ำมูก” ก็ได้) เนื่องจากยาสูตรนี้จะมีส่วนผสมของ “ยาพาราเซตามอล” ที่ช่วยบรรเทาไข้ และ “ยาคลอร์เฟนิรามีน” มีฤทธิ์ลดน้ำมูก อยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ดั้งเดิมที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม

อ่านเพิ่มเติม -> ยาลดไข้ บรรเทาหวัดสูตรผสม มีสรรพคุณ และวิธีใช้อย่างไร?

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ (Nasal Irrigation) สามารถช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล และทำให้หายใจโล่งขึ้น ทำได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีดังนี้

อุปกรณ์ที่ควรเตรียมพร้อม

  1. น้ำเกลือ 0.9% g/mL (normal saline solution)
  2. กระบอกฉีดยาที่ไม่มีเข็มขนาด 10-20 mL (ทั้งน้ำเกลือและกระบอกฉีดยานี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านยาทั่วไป)

วิธีล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

  1. ดูดน้ำเกลือด้วยกระบอกฉีดยา 10-15 mL
  2. ก้มหน้า กลั้นหายใจ สอดกระบอกฉีดยาเข้ารูจมูก แล้วฉีดน้ำเกลือ 5-10 mL เข้าในจมูก
  3. สั่งน้ำมูกออกเบา ๆ สามารถทำซ้ำได้จนกว่าจะรู้สึกโล่งในรูจมูก
  4. ทำกับรูจมูกอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน โดยทั่วไปนิยมล้างวันละ 2 ครั้ง

GED good life สรุปให้

  1. ยาลดน้ำมูกมี 2 ประเภท คือ 1.ยาแก้แพ้ กับ 2.ยาแก้คัดจมูก
  2. ควรใช้ยาลดน้ำมูก เมื่อมีน้ำมูกสีใสเท่านั้น ถ้าเป็นสีอื่น ๆ ควรเข้าพบแพทย์ หรือปรึกษาเภสัชกร
  3. ลอราทาดีน เป็นยาแก้แพ้กลุ่มที่ 2 ที่ช่วยลดน้ำมูกและไม่ทำให้ง่วงนอน (หรือง่วงน้อยในผู้ป่วยบางราย)
  4. หากมีไข้ร่วมกับอาการน้ำมูกไหล สามารถเลือกใช้ ยาแก้หวัดสูตรผสม เพื่อบรรเทาอาการได้
  5. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ช่วยลดน้ำมูกได้

อ้างอิง : 1. พบแพทย์ 1. คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล1/2 2. oknation 3. รพ. จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 4. webmd

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close