“ซิฟิลิส” ระบาดหนัก! อะไรคือสาเหตุ แล้วจะรักษา ป้องกันอย่างไรดี?

ซิฟิลิส

พี่เป็นซิฟิลิสนะ หนูไหวหรอ!? เด็กสมัยนี้โตเร็ว จนผู้ใหญ่ก็ตามไม่ทันแล้ว ยิ่งเรื่องเซ็กส์ กลายเป็นเรื่องอยากรู้อยากลองจนห้ามยาก แต่กลายเป็นว่าเด็กมีเพศสัมพันธ์กันแบบขาดความรู้ จนทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่าง ซิฟิลิส ที่ไม่ค่อยพบเจอ กลับมาแพร่ระบาดพุ่งกระฉูด

ใครที่กำลังคิดจะมีเพศสัมพันธ์ เปลี่ยนคู่นอนโดยไม่ป้องกันบอกเลยว่าถ้าได้รู้จักกับ “ซิฟิลิส” จะเปลี่ยนใจ เพราะซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อที่ไม่ได้มาเล่น ๆ แต่มาพร้อมความทุกข์ทรมานเกินรับไหวแน่นอน

สถิติจำนวนผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นสูงมาก

จากสถิติของกรมควบคุมโรค เปรียบเทียบผู้ป่วยกามโรค 5 โรคหลัก พบว่าโรคซิฟิลิส มีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก คือ เพิ่มจาก 2.29 ต่อประชากรแสนคนในปี 2552 เป็น 11.91 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 ซึ่งถือว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับโรคอื่น

กราฟสถิติสถิติผู้ป่วยกามโรค 5 โรคหลัก ปี 2552 – 2561

ซิฟิลิส

ที่มา : กรมควบคุมโรค , BBC Thai

รู้จักโรค ซิฟิลิส

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากเชื้อทรีโปนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย สามารถทําให้เกิดโรคที่มีอาการ และอาการแสดงคล้ายโรคอื่นหลายโรค

สาเหตุของการเกิดโรคซิฟิลิส

สาเหตุของซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโปนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) ในช่วงวัยเจริญพันธุ์

ซิฟิลิส ติดต่อทางไหนบ้าง?

  • ติดต่อขณะสัมผัสแผลซิฟิลิสในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ช่องคลอด ทวารหนัก ริมฝีปาก ช่องปาก เช่น ขณะมีเพศสัมพันธ์
  • แม่ที่มีเชื้อซิฟิลิสก็ถ่ายทอดเชื้อนี้ไปให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ได้
  • การรับเลือดจากผู้ติดเชื้อซิฟิลิส

เรื่องควรรู้!! เชื้อซิฟิลิสไม่สามารถติดต่อผ่านโดยการสัมผัสสิ่งของได้ เช่น นั่งโถส้วม ลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ เสื้อผ้า ช้อนส้อม ฯลฯ

ซิฟิลิส

อาการเมื่อติดเชื้อ ซิฟิลิส อาการของซิฟิลิสแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

อาการซิฟิลิสระยะแรก

มีแผลริมแข็งในตำแหน่งที่ติดเชื้อซิฟิลิส แผลริมแข็งคือ แผลไม่นิ่ม กลม ขนาดเล็ก ไม่เจ็บ ขอบยกนูนแข็ง

– มีตุ่มแดงแล้วแตกออกเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศชาย อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด หรือ ริมฝีปาก หลังจากได้รับเชื้อ 10-90 วัน

แผลอยู่นาน 3-6 สัปดาห์ และหายได้เองโดยไม่ได้รักษา แม้ได้รับการรักษา แต่รักษาไม่ถูกต้อง รักษาไม่ครบก็จะเข้าสู่ซิฟิลิสระยะที่สอง

อาการซิฟิลิสระยะที่สอง

– มีผื่นขึ้นตามลำตัว หลังจากแผลริมแข็งหาย

– ผื่นมีลักษณะสีแดง หรือจุดน้ำตาลแดง เกิดได้บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือทั่วร่างกาย บางครั้งอาจไม่สังเกตเห็น

– อาการอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ปวดหัว น้ำหนักลด ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง

– หลังจากนั้นอาการจะหายไปเอง แต่จะเริ่มเข้าสู่ระยะถัดไปถ้าไม่ทำการรักษา

อาการซิฟิลิสระยะแฝง หรือระยะสุดท้าย

– หากผ่านระยะแรก และระยะที่สองไปแล้ว โดยไม่ได้รักษา เชื้อจะแฝงตัวอยู่ในร่างกายได้หลายปี อาจจะถึง 2-30 ปี โดยไม่แสดงอาการ หรืออาจจะมีผื่นแบบระยะที่สองเกิดขึ้นบ้าง

– ช่วง 2-30 ปี หลังรับเชื้อ เข้าสู่ระยะท้ายที่โรคซิฟิลิสจะทำลายอวัยวะภายในร่างกาย ได้แก่ สมอง เส้นประสาท หัวใจ และหลอดเลือดสมอง ทำให้อ่อนแรง อัมพาต สมองเสื่อม หรือตาบอดได้ ร่างกายไม่สามารถกลับมาเป็นปกติ บางครั้งรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

ซิฟิลิส
ข้อมูลอ้างอิง – http://bit.ly/2WmrJw7

การรักษาโรคซิฟิลิส

การรักษาโรคซิฟิลิสนั้นรักษาได้ง่ายมากเมื่อตรวจพบโรคในระยะแรก การรักษาจะใช้ยาปฎิชีวนะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือรับประทานยาปฎิชีวนะ ขึ้นอยู่กับระยะที่ติดเชื้อ

– หากติดเชื้อมานานจนถึงระยะท้าย การรักษาจะป้องกันการทําลายอวัยวะในร่างกาย แต่ไม่สามารถรักษาอวัยวะที่ถูกทําลายไปแล้วได้ ดังนั้นถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบมาตรวจให้เร็วที่สุด

– ช่วงทำการรักษาควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายเป็นปกติ หรือต้องป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

– ให้คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์มาตรวจด้วย

การป้องกันโรคซิฟิลิส

– ตรวจโรคเป็นประจำ หากรู้ว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง คือ มีการมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน เปลี่ยนคู่นอน ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจจะ 3 เดือนหลังมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง และควรตรวจซ้ำเป็นประจำทุกปี

– ไม่เปลี่ยนคู่นอน หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอน และมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

– ใช้ถุงยางอนามัย “อย่างถูกวิธี” เพื่อป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์

– หากพบความผิดปกติที่อวัยวะเพศ เช่น เจ็บ มีแผล หรือ มีตกขาวผิดปกติ ควรรีบไปตรวจ

เมื่อรู้ข้อมูลของซิฟิลิสแล้วคงทำให้หลายคนกล้าที่จะไปตรวจซิฟิลิสมากขึ้น เพราะยิ่งตรวจเจอเร็ว การรักษายิ่งง่าย ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย ที่สำคัญคือหากรักษาหายแล้ว อย่าชะล่าใจไป เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีแค่ซิฟิลิส โอกาสติดยังอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้ามีเซ็กส์ไม่ป้องกัน!!

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close