รวมเคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบ้านคุณให้เป็น เขตปลอดภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างยิ่งในปัจจุบันทั่วโลก จากสถิติล่าสุดที่สำรวจประชากรในประเทศปี 2559 ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นถึง 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา โดยพบทั้งในเด็กซึ่งสูงถึงร้อยละ 38 และในผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 20 บทความนี้จึงขอแนะนำเคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบ้านคุณ ให้เป็น เขตปลอดภูมิแพ้ ไปตลอดกาลมาฝากกัน

โรคภูมิแพ้ คืออะไร?

เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น แมลง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ หรือสารเคมีต่าง ๆ จนทำให้เกิดการอักเสบของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือ ผิวหนัง เป็นต้น

ยิ่งในยุคนี้ คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงเวลาสำคัญอย่างการนอนหลับพักผ่อน

ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยลดโอกาสการเป็นภูมิแพ้แบบที่แก้ที่ต้นตอ

– ภูมิแพ้ คืออะไร มีสาเหตุ อาการอะไรบ้าง หายขาดได้หรือไม่? พร้อมวิธีรักษาภูมิแพ้

–  โรคภูมิแพ้อากาศ รวมปัจจัยกระตุ้น และ วิธีรักษาให้หายดี

– ฟัดด้วยทีไร ฮัดเช่ยทุกที! ภูมิแพ้ขนสัตว์ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา


9 วิธี เปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบ้านคุณให้เป็น เขตปลอดภูมิแพ้

1. เริ่มสำรวจบ้านอย่างจริงจัง

ฟังแล้วอย่าเพิ่งตกใจว่า ต้องรื้อบ้านทิ้งแล้วสร้างใหม่กันเลยหรือ ไม่ใช่เช่นนั้น แต่คือการสำรวจภายในบ้าน ว่าอาจมีสาร หรือตัวกระตุ้นใด ที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ ควรทำให้บ้านโล่ง โปร่ง โดยการกำจัดของที่ไม่ใช้งาน เฟอร์นิเจอร์หรือของแต่งบ้าน ที่เก็บฝุ่น และพยายามรักษาความสะอาดภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ

แต่หากไม่ต้องการจะทิ้งสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดโรคแล้ว ก็อาจย้ายไปอยู่ในห้องเก็บของเป็นการชั่วคราวในช่วงที่แพ้มาก และอาจนำกลับมาใช้ใหม่ ในช่วงที่อาการ และบรรยากาศภายใน และนอกบ้านดีขึ้นแล้ว

2. ลงทุนกับเครื่องฟอกอากาศดี ๆ สักเครื่อง

ในยุคปัจจุบัน เครื่องฟอกอากาศกลายเป็นไอเท็มที่ทุกบ้านต้องมีไว้ประจำ เหมือนพัดลม ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมือง หรืออยู่ต่างจังหวัด ต่างก็ประสบกับภาวะฝุ่น และควันด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้น อากาศที่สูดเข้าไปในร่างกาย จึงควรได้รับการทำให้บริสุทธิ์ให้มากที่สุดเสียก่อน เพื่อจะไม่มีฝุ่นตกค้างไปสะสมที่ปอด และตามผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการภูมิแพ้ได้

การเลือกเครื่องฟอกอากาศ ควรดูจากงบประมาณ และความต้องการใช้งาน ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ เช่น หากบ้านอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นควันมากกว่าปกติ ก็ควรเลือกเครื่องฟอกที่มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยอาจมีฟังก์ชันของการทำลายสารก่อภูมิแพ้ขนาดจิ๋วรวมอยู่ด้วย

หรืออาจเลือกรุ่นที่มีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อกับมือถือ เพื่อความสะดวกในการสั่งงาน ก่อนที่จะกลับถึงบ้าน บางรุ่น สามารถวัดค่าฝุ่นขนาดเล็กในอากาศ เช่น PM 2.5 ได้ จะทำให้สามารถทราบค่าฝุ่นภายในบ้านเพื่อการปฏิบัติตนที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญอย่าลืมเปลี่ยนไส้กรองตามอายุการใช้งานที่แนะนำเพราะไม่เช่นนั้นแล้วเครื่องฟอกอากาศของคุณอาจมีคุณค่าไม่ต่างอะไรกับเพียงพัดลมธรรมดาหนึ่งตัว

3. หลีกเลี่ยงวัสดุในการตกแต่งบ้านที่ทำมาจากเคมีภัณฑ์

สารเคมี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตอบสนองอย่างผิดปกติในร่างกายมนุษย์จนทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยมากมักพบอาการตามผิวหนัง บริเวณที่สัมผัสกับสารเคมีนั้น แต่บ่อยครั้งก็อาจจะพบได้ตาม ระบบทางเดินหายใจ ผ่านการสูดดมกลิ่น หรือสารระเหยจากสารเคมีเข้าไปในโพรงจมูก ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองได้

สารเคมีที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน นอกจากพบได้ตามน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาขัดห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว ยังสามารถพบได้จากสีทาบ้าน หรือน้ำยาพ่นกันเชื้อรา ปลวก สนิม อีกด้วย

ดังนั้น การหลีกเลี่ยงสารเคมี ควรจะคำนึงถึงตั้งแต่ในขั้นตอนการสร้างบ้าน หรือในทุกครั้งที่มีการปรับปรุงบ้านใหม่ด้วย โดยพยายามหลีกเลี่ยงการตกแต่งบ้านจากวัสดุที่ทำมาจากสารเคมี และเลือกใช้วัสดุที่ผ่านการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญว่าไม่เป็นอันตรายแทน บางครั้ง อาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงขั้นตอน กระบวนการ และวัตถุดิบ ที่นำมาทำเป็นวัสดุนั้น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า เป็นสารเคมีที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

4. เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ปลอดภัยไม่ก่อให้เกินอาการภูมิแพ้

แน่นอนว่าเฟอร์นิเจอร์ หรือของแต่งบ้าน เป็นสิ่งที่ต้องใช้ และสัมผัสกับร่างกายตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นมือ แขน ขา ศีรษะ ดังนั้น การเลือกเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น จึงควรพิถีพิถัน โดยเลือกดูที่วัสดุที่ใช้ ควรเป็นวัสดุที่ปลอดภัยสำหรับผู้เป็นภูมิแพ้ ไม่ระคายเคืองผิว หรือไม่ทำมาจากขนสัตว์ หากอาการแพ้เกิดจากขนสัตว์

อีกทั้งควรเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำความสะอาดง่าย ไม่เก็บฝุ่น ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการทำความสะอาด เคลื่อนย้ายง่าย ซึ่งจะสะดวกต่อการจัดบ้าน โยกย้าย หรือทำความสะอาด

5. เลือกผ้าม่านที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดอาการภูมิแพ้

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเครื่องตกแต่งภายในบ้าน ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม นั่นก็คือ ผ้าม่าน โดยมาก ผ้าม่านที่นิยมใช้โดยทั่วไปตามโครงการบ้านจัดสรร มักเป็นผ้าที่ค่อนข้างหนา และหนัก จึงมักจะเก็บฝุ่นไว้ในตัวผ้า เมื่อเปิดหรือปิดผ้าม่าน ก็จะทำให้ฝุ่นที่เกาะอยู่ที่ผ้าม่าน ฟุ้งกระจายออกมาอยู่เสมอ จึงทำให้ห้องเต็มไปด้วยฝุ่น และเมื่อสูดเข้าไป ก็จะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย

ดังนั้นหากคุณสามารถเลือกได้ ควรหลีกเลี่ยงผ้าม่านที่เก็บฝุ่น หรืออาจเลือกเป็นวัสดุม่านที่ทำมาจากไม้ หรือพีวีซีแทน ซึ่งก็จะง่ายต่อการทำความสะอาด อีกทั้งไม่เก็บฝุ่นอีกด้วย และหากเป็นวัสดุไม้ ก็จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายได้อย่างน่าอัศจรรย์เช่นกัน

เขตปลอดภูมิแพ้

6. งดการใช้พรม หรือขนสัตว์ในบ้าน

เรื่องนี้สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้อาจทราบกันดี เพราะพรมถูกกล่าวหามาช้านานว่าเป็นตัวการใหญ่ของการเกิดโรคภูมิแพ้เลยก็ว่าได้ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ จึงไม่ควรเลือกใช้พรมในบ้าน เพราะนอกจากจะดูแลยาก และเป็นที่เก็บฝุ่นเป็นอย่างดีแล้ว การจะนำมาทำความสะอาด ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ

ดังนั้น แม้พรมจะถูกจริตรสนิยมคุณเพียงใด แต่คุณควรเลี่ยงหันไปใช้วัสดุปูพื้น ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ เช่นไม้ธรรมชาติ หรือไม้ก๊อก ซึ่งจะดีมากสำหรับผู้เป็นโรคภูมิแพ้ อีกทั้งสามารถทำความสะอาดได้ทุกวัน หรือบ่อยเท่าที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องติดตั้งพรมจริง ๆ ควรเลือกพรมที่ทำจากผ้าขนสัตว์ 100% ซึ่งจะไม่ค่อยเก็บฝุ่นเท่าใด และควรทำความสะอาดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อจะไม่มีฝุ่นตกค้าง หรือมีน้อยที่สุด

7. หาผู้ช่วยมืออาชีพอย่างเครื่องดูดฝุ่นดี ๆ สักเครื่อง

เครื่องดูดฝุ่นที่ดี เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าคุณจะมีพื้นหรือเฟอร์นิเจอร์แบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ้านที่ติดพรม เนื่องจากการทำความสะอาดด้วยการซักนั้น ไม่สามารถทำได้ทุกวัน ดังนั้น เครื่องดูดฝุ่นที่ดี จะเป็นตัวช่วยในการกำจัดฝุ่นละอองต่าง ๆ ให้หมดจด

โดยบางรุ่น สามารถดักจับอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กกว่า 99% ได้ อีกทั้งยังมีระบบอัตโนมัติ เพื่อการทำความสะอาดที่ล้ำลึกมากขึ้น โดยสามารถปรับโหมดการทำความสะอาดตามพื้นแต่ละประเภทได้ มีเครื่องมือหลากหลายในการทำความสะอาดพื้นผิวที่แตกต่างกัน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้คุณสามารถสูดอากาศที่บริสุทธิ์ และปราศจากฝุ่น ได้ดีขึ้น

8. ป้องกันเชื้อราก่อนปัญหาจะบานปลาย

เชื้อรา เป็นศัตรูตัวร้ายกาจของโรคภูมิแพ้ ซึ่งเชื้อรานั้น สามารถแพร่กระจาย และขยายพันธุ์ได้ง่าย และเป็นวงกว้าง ตลอดเวลาในที่อับชื้น เช่น ตามห้องน้ำ แอร์ ตู้เสื้อผ้า ชั้นเก็บของ หรือในที่ที่มีการระบายอากาศที่ต่ำ

ดังนั้น จึงควรดูแลบริเวณที่อาจเกิดเชื้อราได้โดยง่ายอยู่เป็นประจำ เช่นห้องน้ำ ควรเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และให้แสงสว่างจากภายนอก ส่องเข้ามาในห้องน้ำบ้าง เพื่อกำจัดเชื้อรา ผ้าเช็ดตัวเมื่อใช้เสร็จแล้ว ควรผึ่งแห้งให้สนิท และควรหมั่นซักเป็นประจำ โดยตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อ

อย่างไรก็ตาม หากบางคนไม่มีบริเวณตากผ้า เนื่องจากอยู่คอนโด ก็สามารถใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย โดยปัจจุบัน มีเครื่องอุ่นผ้าขนหนูไฟฟ้า ซึ่งไม่เพียงแค่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราแล้ว ยังเป็นของประดับห้องน้ำของคุณให้ดูเก๋ไก๋ มีสไตล์ได้อีกด้วย

9. เปลี่ยนผ้าปูที่นอนเป็นประจำ และใช้น้ำยาซักที่ปลอดสาร

หมั่นเปลี่ยนผ้าปูที่นอนเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยควรเลือกผ้าปูที่นอนที่ปราศจากสีย้อม และสารเคมีสังเคราะห์ อีกทั้งสามารถดูดซับความชื้นและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ เพราะเมื่อเวลานอน ร่างกายอาจขับเหงื่อออกมาซึ่งทำให้ผ้าปูที่นอนเกิดการอับชื้นได้

รวมถึงการเลือกใช้น้ำยาซักผ้าที่ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดการระคายเคืองต่อผิว อีกทั้งการเลือกลักษณะของน้ำยา ก็มีส่วนช่วยลดอาการแพ้ของคุณได้ เช่น ควรเลือกน้ำยาที่บรรจุอยู่ในลูกบอล เป็นลักษณะเจลบอล ซึ่งจะทำให้คุณไม่ต้องสัมผัสกับน้ำยาโดยตรงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการอยู่กับโรคภูมิแพ้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หากดูแล และใส่ใจในรายละเอียดของสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน ซึ่งการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการป้องกันที่สาเหตุ ให้บ้านของคุณเป็นเขตปลอดภูมิแพ้ไปตลอดกาล


ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close