รู้จักกับ ฝุ่นPM2.5 ตัวการร้ายก่อภูมิแพ้ โดย นพ. ธัญ จันทรมังกร

ฝุ่นPM2.5 ตัวการร้ายก่อภูมิแพ้

เคยรู้สึกไหมทำไมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม เวลาเรามองออกไปรอบ ๆ ตัว วิสัยทัศน์ถึงไม่เหมือนเดิม การมองเห็นคล้ายมีอะไรขาว ๆ มาบัง หายใจเข้าไปแล้วรู้สึกร้อนตามลำคอ หายใจไม่สะดวก มีอาการคัดจมูก รู้สึกหิวน้ำคอแห้ง แต่ทานน้ำแล้วไม่ดีขึ้น สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นคือ ฝุ่นPM2.5 ตัวการร้ายก่อภูมิแพ้

บทความนี้ จะทำให้เรารู้จัก PM2.5 มากขึ้น รู้ว่าฝุ่นตัวนี้จะก่อให้เกิดอาการอะไร และเราจะสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างไร และถ้ามีอาการแล้วเราจะจัดการเบื้องต้นได้อย่างไร โดย นพ. ธัญ จันทรมังกร

อัลเลอร์นิค ชนิดเม็ด (Allernix™ tablet) ยาบรรเทาอาการแพ้

ทำความรู้จักกับฝุ่น PM2.5 ตัวการร้ายก่อภูมิแพ้

ฝุ่น PM2.5 ย่อมาจาก particulate matter with diameter less than 2.5 micron คือ ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ถ้าใครนึกไม่ออกว่าเล็กขนาดไหน ให้ลองเทียบกับเส้นผมของคนปกติซึ่งมีขนาด 50-70 ไมครอน โดยฝุ่นจิ๋วจะเล็กกว่าเส้นผม ประมาณ 20-28 เท่า ความสำคัญคือ ฝุ่นจิ๋วตัวนี้สามารถที่จะซึมผ่านจากจมูกเข้าสู่ในสมองได้เลย และสามารถเข้าถึงทางเดินหายใจในระดับลึกสุดได้

PM2.5 เกิดได้อย่างไร?

PM2.5 สามารถเกิดได้จากสามสาเหตุใหญ่ ๆ คือ

1. ไอเสียจากรถยนต์ หรือจากการจราจร โดยเฉพาะ การเผาไหม้น้ำมันดีเซลร่วมกับการจราจรที่ติดขัด

2. อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และโรงผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และถ่านหิน

3. การเผา โดยเฉพาะการเผาวัสดุเหลือใช้ของการเกษตร การเผาขยะจะเห็นได้ว่าในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมีสาเหตุ และความรุนแรงของ PM2.5 ที่แตกต่างกัน เช่น บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย สาเหตุเกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ส่วนในกรุงเทพมหานครสาเหตุเกิดจากการจราจร

PM2.5 กับดัชนีวัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Index; AQI)

ดัชนีคุณภาพอากาศของไทยได้มีการเพิ่มฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM2.5 เข้าไปในการคำนวณ AQI ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ทำให้ ดัชนีคุณภาพอากาศที่ใช้อยู่ในประเทศไทย คำนวณโดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาอากาศใน บรรยากาศโดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ 5 ประเภท ประกอบด้วย

  1. ก๊าซโอโซน (O3)
  2. ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
  3. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
  4. ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
  5. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)

สามารถติดตามดัชนีคุณภาพอากาศได้จากหลายช่องทาง ช่องทางที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายคือ

  1. แอปพลิเคชั่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็น หน่วยงานในกำกับของรัฐ
  2. แอปพลิเคชั่น Air visual เป็นของภาคเอกชน

และในปัจจุบันมีเครื่องวัด PM2.5 ออกมาจำหน่าย ทำให้ประชาชนมีการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังในการแปลผล เนื่องจากค่าที่วัดออกมาได้จะไม่ใช่ค่าเฉลี่ยใน 1 วัน และค่าที่ได้ไม่ใช่ AQI การแปลผลต้องนำค่า PM2.5 มาเปลี่ยนเป็นค่า AQIของไทย ดังนี้

PM2.5 มีอันตรายต่อใครบ้าง?

PM2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาวของทุกคน แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายสุขภาพอย่างมาก ได้แก่

– ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยจะทำให้โรคที่เป็นอยู่แล้วแย่ลงได้อย่างมาก

– เด็ก เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ หน้ากากส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับสรีระและกิจวัตรของเด็ก อีกทั้งเด็กจะหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ทำให้สูด PM2.5 ได้มากกว่าผู้ใหญ่ และเด็กยังมักวิ่งเล่น ถ้าเทียบกับผู้ใหญ่ก็เปรียบได้กับการออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งมีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายหนักจะเพิ่มปริมาณอากาศที่เข้าปอด 6 เท่า ทำให้ได้รับฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น 6 เท่าเช่นกัน ทำให้เด็กมี IQ ต่ำลง, พัฒนาการช้า และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

– ผู้สูงอายุเนื่องจากมักจะมีโรคประจำตัว และทำให้โรคประจำตัวแย่ลง เพิ่มโรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ เพิ่มโรคหลอดเลือดสมองตีบ/แตก โดยที่บางรายไม่ปรากฏอาการแสดง

– สตรีมีครรภ์ พบว่าการสูดดม PM2.5 จะสัมพันธ์กับทารกในครรภ์เจริญเติบโตได้ช้า มีน้ำหนักตัวน้อย และมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง

ผลของ PM2.5 ต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ผลระยะสั้น

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • ผิวหนังอักเสบ มีตุ่มแดงคันตามตัว
  • เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง คันตา น้ำตาไหล
  • ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เลือดกำเดาไหล หายใจลำบาก บางรายมีอาการรุนแรงสามารถไอเป็นเลือด
  • ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ

ผลระยะยาว

  • ปวดศีรษะ โรควิตกกังวล ซึมเศร้า อัลไซเมอร์
  • เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ และหลอดเลือด เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
  • โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งปอด

จะเห็นได้ว่า PM2.5 สามารถทำให้เกิดอาการอักเสบและภูมิแพ้ได้ในอวัยวะที่สัมผัส ดังนี้ ผิวหนัง, เยื่อบุตา, ทางเดินหายใจ ตั้งแต่ทางเดินหายใจส่วนต้นไปจนถึงถุงลมในปอด

ฝุ่นPM2.5 ตัวการร้ายก่อภูมิแพ้

การป้องกันฝุ่น PM2.5

การป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจาก PM2.5 ที่ดีที่สุดคือ “การหลีกเลี่ยงการสัมผัส” และสูดดมอากาศที่มี PM2.5 ปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตราย สามารถทำได้ดังนี้

1. ก่อนออกจากบ้านให้ตรวจสอบดัชนีคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำตามตารางด้านบน

2. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้…

2.1 สวมใส่หน้ากากอนามัยที่เหมาะสม และกระชับพอดีกับใบหน้า
2.2 สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อลดการให้ผิวหนังสัมผัสกับฝุ่น PM2.5
2.3 สวมใส่แว่นตาที่ปิดมิดชิด รอบด้าน (goggles)
2.4 พยายามอยู่กลางแจ้งให้น้อยที่สุด
2.5 หลังจากทำกิจกรรมกลางแจ้ง เมื่อกลับเข้าบ้านแล้วแนะนำล้างจมูกด้วยน้ำเกลือล้างจมูก

3. อยู่ในห้องที่มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสมกับขนาด และลักษณะของห้อง โดยคำนวนขนาดห้องออกมาเป็นปริมาตร โดยใช้ขนาด กว้างXยาวXสูง และเลือกเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศสมรรถนะสูง (HEPA)โดยดูค่าความสามารถในการผลิตอากาศสะอาด (Clean air delivery rate; CADR) ที่จะระบุไว้ที่เครื่องเป็นหลัก เช่น ห้องนั่งเล่น กว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2.5 เมตร คำนวนออกมาได้ 30 ลูกบาศก์เมตร ห้องนั่งเล่นต้องการการแลกเปลี่ยน 5 รอบต่อชั่วโมง

ดังนั้นต้องเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA ที่มีค่า CADR = 30×5 = 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และถ้าจะสามารถป้องกัน และลดขนาดฝุ่นในห้องให้น้อยมาก ๆ ทำได้โดยการดัดแปลงห้องให้เป็นห้องแรงดันบวก (positive pressure room) โดยการติดเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ที่ตอนนี้มีหลายบริษัทรับติดตั้ง ซึ่งจะได้ประโยชน์นอกจากจะลดปริมาณฝุ่นPM2.5 ในห้องโดยการกันไม่ให้ฝุ่นเข้ามาในห้อง ยังได้ประโยชน์ในด้านการลดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องอีกด้วย

การรักษา

การรักษาภาวะภูมิแพ้จมูกจากฝุ่น PM2.5 เน้นไปที่การป้องกัน แต่ถ้าป้องกันการสัมผัสแล้วยังมีอาการอยู่ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาหลักคือการให้ยาสเตียรอยด์ทั้งการสูดดมเข้าทางจมูก (Intranasal corticosteroids) และถ้ามีอาการมากอาจใช้สเตียรอยด์แบบฉีดเข้าเส้นเลือด หรือแบบรับประทาน (Systemic corticosteroids) แต่เนื่องจากยาสเตียรอยด์เป็นยาที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ถ้าใช้ผิดวิธี

ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์แบบฉีด หรือแบบรับประทานควรอยู่ภายใต้คำสั่งการรักษาโดยแพทย์ ยาลดอาการแพ้กลุ่มอื่นที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาคือ ยาต้านฮิสตามีน ซึ่งมีสองกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

– ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamines) เป็นกลุ่มที่สามารถออกฤทธิ์ลดอาการแพ้ได้ดี แต่มีข้อเสียคือ มีอาการง่วงซึมหลังจากรับประทาน ดังนั้นอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันถ้าต้องทานทุกวันในช่วงที่มีอาการภูมิแพ้จากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากในประเทศไทยจะมี 2-3 เดือนต่อปีที่มีค่าดัชนีอากาศเกินค่าปกติที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้

– ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง (Second generation antihistamines) เป็นยากลุ่มที่สามารถออกฤทธิ์ลดอาการแพ้ได้ดีเช่นกัน และสามารถออกฤืธิ์ได้มากกว่า 1 วัน ทำให้สามารถรับประทานวันละครั้ง และมีผลให้เกิดอาการง่วงซึมน้อยกว่ายาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม จึงเป็นที่นิยมใช้มากกว่า และ ยังมีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ในการรักษาภูมิแพ้ในเด็กด้วย

ยารับประทานอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถช่วยลดอาการแพ้โดยเฉพาะ การแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ คือยากลุ่ม มอนตีลูคัส (Oral montelukast) สามารถรับประทานร่วมกับยาต้านฮิสตามีนได้ ในผู้ที่มีอาการแพ้ทาง ระบบทางเดินหายใจ และสามารถรับประทานได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่

 

บทความโดย นพ. ธัญ จันทรมังกร
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต โรงพยาบาลราชเวชเชียงใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close