มีสติก่อนโอน! วิธีรู้เท่าทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ป้องกันถูกหลอกโอนเงิน

วิธีรู้เท่าทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์

“สวัสดีค่ะ เราติดต่อมาจากศาลอาญา คุณมีหมายศาลเรียกนะคะ” “สวัสดีครับ พัสดุของคุณมียาเสพติดผิดกฎหมาย ขอให้มารายงานตัวที่…” ประโยคยอดฮิต ที่แก๊งคอลเซนเตอร์มักใช้หลอกเหยื่อเหล่านี้ เราฟังแล้วต้องมีสติให้ดี เพราะ ถ้าเผลอหลงเชื่อ อาจทำให้คุณหมดตัวได้! และเพื่อป้องกันการถูกหลอกเงิน วันนี้ Ged Good Life จึงขอแนะนำ “วิธีรู้เท่าทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์” ไม่ว่าจะเป็นมุขเด็ดที่เหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชอบใช้ และข้อควรรู้อื่น ๆ มาติดตามกันเลย!

decolgen ดีคอลเจน

วิธีรู้เท่าทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center Gang) คือ ขบวนการหลอกลวงเหยื่อทางโทรศัพท์ โดยสร้างสถานการณ์ปลอมขึ้นมาให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนก หรือเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะดำเนินการหลอกให้โอนเงินในลำดับถัดไป…

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ โทรมาหาเรา?

1. ส่วนใหญ่เป็นเบอร์จากต่างประเทศ ซึ่งมักจะขึ้นต้นด้วย +830, +870 หรือเป็นเบอร์มือถือ หรือเบอร์จากต่างจังหวัดที่ไม่คุ้นเคย

วิธีแก้สถานการณ์

  • ถ้าเจอเบอร์แปลก ๆ โทรมา ให้เราเอาเบอร์นั้นไปค้นหาใน Google ว่าตรงกับองค์กรที่แก๊งคอลเซนเตอร์อ้างอิงหรือไม่
  • ให้วางสายทิ้งไปเลย ไม่ต้องไปสนใจ

2. มักเป็นระบบอัตโนมัติที่แอบอ้างว่ามาจากบริษัทขนส่ง หรือธนาคารชื่อดังรายใหญ่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมด้วยข้ออ้างต่าง ๆ ที่ทำให้เราตื่นตกใจ เช่น ส่งพัสดุผิดกฎหมายไปยังต่างประเทศ และกำลังจะถูกดำเนินคดี, บัญชีธนาคารพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย, อ้างว่าเราเป็นหนี้กับหน่วยงานรัฐต้องชำระโดยด่วน เป็นต้น

3. มิจฉาชีพมักใช้ระบบตอบรับ และแนะนำตัวว่าติดต่อจาก “ศาลอาญาสูงสุด” และให้เหยื่อกด 9 เพื่อคุยกับโอเปอเรเตอร์ที่เป็นมนุษย์ ความจริงคือ ประเทศไทยไม่มี “ศาลอาญาสูงสุด” มีแต่ “ ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลปกครองสูงสุด”

4. มิจฉาชีพจะโน้มน้าวให้เหยื่อโอนเงิน ความจริงคือ ส่วนราชการไม่มีนโยบายให้ประชาชนโอนเงินแบบลอย ๆ เข้าบัญชีบุคคลธรรมดาคนใดทั้งสิ้น

รวม 14 มุกที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้หลอกลวง

จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ารูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน จำนวน 14 รูปแบบ ได้แก่

  1. หลอกขายของออนไลน์
  2. Call Center หลอกลวงข่มขู่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ให้เหยื่อโอนเงินให้
  3. เงินกู้ออนไลน์ดอกเบี้ยโหด
  4. เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์)
  5. หลอกให้ลงทุนต่างๆ โดยอ้างผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง
  6. หลอกให้เล่นพนันออนไลน์
  7. Romance scam หรือ Hybrid scam หลอกให้รักลวงเอาทรัพย์สิน ลวงให้ลงทุน
  8. ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์
  9. แชท Line/Facebook ปลอม Account ลวงยืมเงิน
  10. หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว – OTP
  11. ข่าวปลอม (Fake news) – ชัวร์ก่อนแชร์
  12. หลอกลวงเอาภาพโป๊เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์
  13. โฆษณาออนไลน์ลวงทำงาน หลอกบังคับทำงานในต่างประทศ
  14. ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หรือฟอกเงิน ซึ่งสำนักงานฯ และโอเปอเรเตอร์จะช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลอุบายของมิจฉาชีพ

ถ้าหลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคืออะไร?

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้

สำหรับประชาชนหลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว สามารถแจ้งความทางกับตำรวจไซเบอร์ ได้ที่ thaipoliceonline.com จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะประสานไปกับทางเครือข่าย ซึ่งในอดีตเราให้ทางผู้เสียหายไปที่ธนาคารอายัดบัญชีเอง แต่ปัจจุบันเรามีการทำเอ็มโอยูกับทุกธนาคาร เมื่อผู้เสียหายแจ้งมาก็จะทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ถึงธนาคารทันทีทำให้การอายัดบัญชีมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ทำให้คนร้ายไม่สามารถโอนเงินข้ามบัญชีได้ หากต้องการถอนอายัดต้องไปแสดงตัวตนกับทางธนาคาร แต่ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นบัญชีที่ซื้อมา

วิธีป้องกันตน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์

– ควรมีสติให้มาก อย่าตื่นกลัว นึกทบทวนว่าสิ่งที่มิจฉาชีพบอกนั้นมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

– อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงิน ไม่ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ

– ควรสอบถามข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง หรือใช้บริการ โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า

– ควรถามชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรติดต่อของผู้ที่โทรมา ถึงแม้จะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง แต่อย่างน้อยก็ทำให้พวกมิจฉาชีพรู้ตัวว่าเรารู้ทันเกม

– หากมั่นใจว่าเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์โทรมา ให้วางสายทิ้ง ไม่ต้องไปพูดคุยด้วย แล้วจัดการบล็อคเบอร์โทรนั้น (blacklist number)

– ติดตามข่าวสารเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์เป็นระยะ จากช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือทางทีวี ว่าแก๊งคอลเซนเตอร์มีมุกอะไรใหม่ ๆ มาอีกบ้าง

 

อ้างอิง : tnnthailand

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close